คอลัมน์ : แกะสะเก็ด
โดย...ประเสริฐ เฟื่องฟู
เข้าไฮซีซันแล้ว ที่สนามบินภูเก็ตก็ยังไม่เป็นระเบียบ ทั้งรถในสังกัด “ลิมูซีน” และแท็กซี่สารพัดป้าย มีโลโก้ และชื่อแปะหราอยู่ข้างรถ แสดงว่าอยู่ระหว่างรอป้าย ก็ยังแย่งชิงผู้โดยสารเหมือนเดิม ทั้งรถเก๋ง รถตู้ และแม้กระทั่งรถที่สังกัดโรงแรมดังๆ เห็นกับตา ลากกันถูลู่ถูกังตรงประตูผู้โดยสารขาเข้า ทั้งๆ ที่มีการรณรงค์จัดระเบียบเพื่อรักษาภาพลักษณ์มาเป็นเดือน เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
“เฮ้ย... รายนี้ของกู.... ของกู... มึงทีหลัง ตามคิว”
ว่าแล้วก็แย่งรถเข็นกระเป๋า 4 ใบเขื่องเดินลิ่วไป สองแหม่มวัยกลางคนมองหน้ากันเองแบบงงๆ จำต้องเดินตามกระเป๋า ก็ไม่ได้ตามดูว่าเข็นพาไปขึ้นรถอะไร
การแก้ปัญหารถรับจ้างโดยสารบริเวณสนามบินในเขตอิทธิพลของการท่าอากาศยานฯ ที่จังหวัดภูเก็ต และอีกหลายสนามบินของหน่วยงานต่างๆ หรือแม้กระทั่งระดับกรรมาธิการวุฒิสภา ต่อให้แก้ไปอีกร้อยปีพันปี ก็ไม่มีทางแก้ได้สำเร็จ!!!
มาดูรถ “ลิมูซีน” ในสังกัดของการท่าอากาศยานฯ ประจำสนามบินภูเก็ต ที่ว่ายิ่งใหญ่อหังการเจ้าปัญหา เดิมมี 2 กลุ่มคือ กลุ่ม “บริษัท สหกรณ์บริการรถยนต์ บริการธุรกิจภูเก็ต จำกัด” ลิมูซีนเจ้าแรกดั้งเดิมที่ทำสัญญา สิ้นสุดสัมปทานเมื่อเดือนกันยายน 2555 ส่วนอีกกลุ่มคือ “บริษัท ภูเก็ตไม้ขาวสาคู จำกัด” นั้นหมดสัมปทานไปก่อนตั้งแต่เมื่อเดือนมกราคม 2554 ส่วนกลุ่มแท็กซี่มิเตอร์โดย “บริษัท ภูเก็ตแท็กซี่มิเตอร์เซอร์วิส จำกัด” เข้ามาแจมภายหลัง จะหมดสัญญาวันที่ 30 พฤศจิกายน 2556 ที่จะถึงในสุดสัปดาห์นี้
เป้าหมายของการท่าอากาศยานฯ ที่ต้องการในสนามบินภูเก็ต คือ ล้างไพ่ แล้วนับหนึ่งกันใหม่ ให้ลิมูซีนเข้ามาดำเนินการเพียงเจ้าเดียวเท่านั้น ส่วนแท็กซี่อื่นๆ เขี่ยทิ้งหมด ถ้าจะเข้ามาร่วมก็ต้องอยู่ภายใต้การคอนโทรลของการท่าอากาศยานฯ เช่นเดียวกับรถเช่าบริษัท เดวิด คาเร้นท์ จำกัด และแอร์พอร์ตบัสของบริษัท ภูเก็ตมหานคร จำกัด กติกาว่ากันใหม่
รถโดยสารรับจ้างขนส่งมวลชนจากสนามบินไปยังที่ต่างๆ ตามแหล่งท่องเที่ยว ทำสัญญาไม่พร้อมกัน ต่างกรรมต่างวาระ การท่าอากาศยานจึงต้องยืดสัญญาในส่วนที่หมดสัมปทานออกไปอีก เพื่อจะได้หมดวาระพร้อมกันหมด กับ “บริษัท ภูเก็ตแท็กซี่มิเตอร์เซอร์วิส” น้องนุชสุดท้องในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2556 ที่จะถึงนี้
เป็นอันว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2556 สามบริษัทคือ “บริษัท สหกรณ์บริการรถยนต์บริการธุรกิจภูเก็ต จำกัด” ที่สวมหมวก “ลิมูซีน” และอีก 2 บริษัท กับรถเช่า และแอร์พอร์ตบัสเครือข่าย ที่มีอิทธิพลอยู่ในสนามบินภูเก็ต
ถูกยัดใส่โลงปิดฝาตอกตะปูฝังกลบไปเรียบร้อย!!!
ต่อจากนี้ไป นักท่องเที่ยวคงเลือกใช้รถบริการได้ตามใจชอบ โดยไม่ถูกข่มขู่ หรือกลั่นแกล้งอีก และคงไม่ถูกลาก ถูกทึ้งกระเป๋าไปทางโน่นที มาทางนี้ที อย่างแต่ก่อนแล้วสินะ
ดูกันผิวเผินคงคิดว่าอย่างนั้น แต่ความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม นั่นเป็นแค่เล่ห์เหลี่ยมเพทุบายของการท่าอากาศยานฯ เท่านั้น ลองพิจารณาดู
การแก้ปัญหาขนส่งมวลชนจากสนามบินภูเก็ต ทั้งเข้าตัวเมือง ไปยังแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งโรงแรมที่พัก หรือย้อนกลับสนามบิน เพื่อเดินทางท่องเที่ยวต่อ และกลับภูมิลำนา ที่แย่งกันทำมาหากิน จนเป็นปัญหาสารพัดทำลายภาพลักษณ์ของเมืองภูเก็ต ตั้งแต่การท่องเที่ยวเริ่มบูม
เพราะเป็นวิธีการหาเงินที่ง่าย แค่มีรถเก๋ง ไม่ต่างจากไกด์ แค่พูดภาษาอังกฤษได้
เมื่อคราวที่ “น.ต.ศิธา ทิวารี” บอร์ด ทอท.เดินทางมาร่วมเปิดศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพลที่เป็นภัยต่อการท่องเที่ยว หรือ ศปอท. ที่สนามบินภูเก็ตเมื่อ 4-5 เดือนที่ผ่านมา ได้พูดเปรยๆ ไว้ว่า
“พร้อมที่จะดำเนินการจัดระเบียบใหม่ให้คล้ายกับสนามบินสุวรรณภูมิ ส่วนอัตราค่าโดยสารนั้นจะให้การท่าอากาศยานภูเก็ต และขนส่งจังหวัดภูเก็ต ร่วมกันกำหนดอัตราค่าบริการขึ้นมาใหม่”
พออ้าปาก ก็เห็นลิ้นไก่ เป็นธรรมดาของสัตว์มนุษย์!
สุวรรณภูมิ เริ่มต้นตั้งแต่ยังเวอร์จิน ถูกบังคับขืนใจเปิดบริสุทธิ์โดยรถลิมูซีนของท่าอากาศยานฯ ที่วางกฎเหล็กห้ามมิให้ใครเข้าใกล้ ย่องไปตีท้ายครัวรับเอาผู้โดยสารออกไป
ปักหลักยึดสถานที่บริการน่าจะอยู่ที่อยู่ชั้น 2 ของสุวรรณภูมิ ตลอด 24 ชั่วโมง
แต่หากจะใช้บริการแท็กซี่ก็ไม่ว่ากัน มีแท็กซี่ในคอนโทรลบริการที่ชั้น 1 ค่าโดยสารตามมิเตอร์ แต่ต้องเสียเพิ่มอีก 50 บาทต่อคัน เป็นค่าธรรมเนียมกินฟรีของการท่าอากาศยานฯ ค่าทางด่วนต้องจ่ายเอง
นอกจากนี้ เป็นขนส่งมวลชนอย่างรถเมล์ประจำทางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมี 7 สาย รวมรถตู้เสี่ยงตาย NGV อีกทั้งรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ รถไฟใต้ดิน กับรถบัสที่ให้บริการโดย ขสมก. หรือ BMTA เหมือนกัน รับและส่งถึงสถานีปลายทางระยะยาว ถึงพัทยา ตลาดโรงเกลือ และหนองคาย
ต่างจากที่ภูเก็ต และอีกหลายสนามบิน ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ กระบี่ หรือหาดใหญ่ ผู้โดยสาร นักท่องเที่ยวที่ไม่มีญาติ หรือไม่มีรถโรงแรมมารับ ล้วนมีปัญหาทั้งสิ้น เพราะไม่มีขนส่งมวลชนดังกล่าว
ที่ภูเก็ต ถ้ามีก็แอร์พอร์ตบัสโทรมๆ ค่าโดยสารไม่แพง แต่มีไม่กี่คัน ต้องคอยเป็นชั่วโมง นั่งหลับแล้วหลับอีก กว่าจะได้ขึ้นรถเข้าตัวเมือง ผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ หรือพนักงานในสนามบินระดับล่างที่ประหยัด ไม่อยากแบกภาระค่าผ่อนรถ และไม่อยากเดือดร้อนเรื่องที่จอดรถ
แต่ก่อนจะเป็นเมืองท่องเที่ยว คนภูเก็ตต่างเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน อยู่กันฉันพี่น้อง แต่ปัจจุบันต่างเห็นแก่ตัว แค่จะเปิดเดินรถประจำทางจากแหล่งท่องเที่ยว ป่าตอง กะตะ กะรน ไป-กลับสนามบิน ยังถูกตุ๊กตุ๊ก และแท็กซี่สารพัดป้ายประท้วงปิดถนนส่วนโครงการ “ลงเรือขึ้นเครื่อง” กับ “โครงการรถไฟฟ้า” ก็ยังปล้ำผีลุกปลุกผีนั่ง รอการศึกษา และฟังผลตอบแทนอยู่ ไม่รู้คืบคลานไปถึงไหนแล้ว แบ่งเค้กกันลงตัวหรือยัง?
ทุกสนามบินที่อยู่ภายใต้การบริหารของการท่าอากาศยานฯ จะต้องดึงเอารถลิมูซีนเป็นเงาตามตัวไปหากินทุกแห่ง ชนิดเกาะติดกันเป็นปาท่องโก๋ ไม่ยอมพรากจากกันเด็ดขาด ผอ.การท่าอากาศยานฯ แต่ละแห่งเป็นผู้บริหารจัดการ คอยรับผลประโยชน์ นำเสนอส่วนกลาง ตามที่กลุ่มผู้มีอิทธิพลที่นำรถเข้าไปทำสัญญาร่วมเครือข่ายบริการป้อนถึงปาก สืบทอดกันมาทุกรุ่น รับกันอย่างเป็นกอบเป็นกำ มีคนยืนยันครับ
แม้กระทั่ง น.ต.ศิธา ทิวารี บอร์ดการท่าอากาศยานฯ เองยังหลุดปากออกมาว่า ภูเก็ตที่ผ่านมาจากข้อมูลเชิงลึก ผู้ประกอบการรถแท็กซี่ที่ได้สัมปทานเรียกเก็บค่าหัวคิวเป็นเงินคันละ 300,000 บาทต่อเดือน
จำนวนรถที่เกินโควตาเข้ามา และเงินค่าหัวคิวที่เรียกเก็บคันละ 300,000 บาทต่อเดือน ในช่วงต่อสัญญานั้น จัดสรรปันส่วนให้ใครบ้าง น่าจะรู้กันดี นอกจากนั้นบางคันยังแปะโลโก้ผ่านเข้า-ออกสนามบินฟรีที่กระจกหน้ารถด้วย
ถ้าเป็นอย่างนี้ รัฐวิสาหกิจอย่าง ทอท. หรือการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ที่เป็น “เสือนอนกิน” ตัวเอ้ของกระทรวงคมนาคม มีหรือจะยอมให้ชิ้นปลามันอย่าง “ลิมูซีน” ที่กินกันอิ่มหมีพีมันมาหลายรุ่น หลุดมือไปได้ง่ายๆ โดยไม่มีเงื่อนไข
อดไม่ได้ ขอเล่าความหลังสักนิด เพื่อยืนยันความอัปรีย์ของการท่าอากาศยานฯ ที่ทำให้อดีตผู้ว่าฯ ภูเก็ต เจ็บแค้นมาแล้ว เมื่อท่องเที่ยวภูเก็ตบูมแบบก้าวกระโดด ปัญหารถรับจ้างสนามบินเฉพาะลิมูซีนไม่พอ รถแท็กซี่ป้ายดำ ทั้งรถตู้ รถเก๋งก็เกิด ชนิดไม่มีการคุมกำเนิด ด้วยเครือข่ายของรถลิมูซีนเองนั่นแหละชักจูงเข้ามา ประกอบกับทางขนส่งได้จำกัดโควตา จำกัดจำนวนรถป้ายเหลือง 30 และป้ายเขียว รถผิดประเภทจึงออกมาบริการมากมายในระยะแรกเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา
แล้วก็ตั้งด่านตรวจจับ ปรับศาลเตี้ย รับซอง และส่วยสติกเกอร์ จ่ายรายเดือน สบายไปเป็นปี
ที่มาเต้นแร้งเต้นกาแก้กันล้วนเป็นเรื่องตลก “เตะหมูเข้าปากหมา” อดีตผู้ว่าฯ ภูเก็ต อุดมศักด์ อัศวรางกูร นั่นแหละกลายเป็นตัวตลก หน้าแหกจนหมอไม่รับเย็บเจ็บปวดมาแล้ว
โดยข้อมูลจากปี 2548-2549 การแก้ปัญหารถแท็กซี่ป้ายดำ หรือรถผิดประเภท อดีตผู้ว่าฯ อุดมศักดิ์ อัศวรางกูร เป็นหัวหอกให้เกิดแท็กซี่มิเตอร์ขึ้นมาในภูเก็ต
แต่ปรากฏว่า แท็กซี่มิเตอร์ ไม่สามารถเข้าไปรับผู้โดยสารในสนามบิน เพราะถูกกลุ่มลิมูซีน และเจ้าหน้าที่การท่าอากาศยานฯ กีดกัน ไม่มีทางเลือก นอกจากต้องขอตั้งเคาน์เตอร์ในอาคารสนามบิน และต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่การท่าอากาศยานฯ กำหนด
ในการนี้มีผู้จดทะเบียน บริษัท ภูเก็ตแท็กซี่มิเตอร์เซอร์วิส จำกัด แต่งตัวคอยอยู่แล้ว ได้ยื่นขอดำเนินการทำสัญญากับการท่าอากาศยานฯ ทันที ชนิดสายฟ้าแลบเมื่อปี 2548 ทั้งๆ ที่บริษัทนี้ทราบภายหลังไม่มีรถแท็กซี่เป็นของตัวเอง แต่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากรถแท็กซี่บุคคลที่เข้าไปรับผู้โดยสารเที่ยวละ 40 บาท
เมื่ออดีตผู้ว่าฯ “อุดมศักดิ์ อัศวรางกูร” ทราบเป็นการ “เตะหมูเข้าปากหมา” และทักท้วง แต่การท่าอากาศยานฯ งับหมูเข้าเต็มปาก บอกหน้าตาเฉยแก้ไขอะไรไม่ได้ เพราะเซ็นสัญญาไปแล้ว สร้างความเจ็บปวดให้อดีตผู้ว่าฯ ไปจนวันตาย
ก็ใช่ว่าปัญหาจะหมดไป มายุคอดีตผู้ว่าฯ “วิชัย ไพรสงบ” มานั่งแก้กันอีกในปี 2553 โดย “เสรีรัตน์ ประสุตานนท์” บอร์ดใหญ่ท่าอากาศยานฯ ขณะนั้นได้เคาะโต๊ะหาทางออกในปัญหาที่เกิดขึ้น ให้ทั้ง 2 ฝ่ายเพิ่มรถฝ่ายละ 30 คัน บริษัท ภูเก็ตไม้ขาวสาคู จำกัด เพิ่มรถเก๋ง 30 คัน บริษัท สหกรณ์บริการรถยนต์ฯ เพิ่มรถตู้ 30 คัน
และจะไม่เก็บค่าสัมปทานในส่วนที่เพิ่มขึ้นใหม่ จนกว่าจะหมดสัญญา
ข้อมูลจาก “ชูเกียรติ ปัญญาไวย์” บิ๊กของสหกรณ์บริการรถยนต์ บริการธุรกิจภูเก็ต จำกัด หรือรถลิมูซีนสนามบินภูเก็ต เผยมีเก๋งบริการอยู่ 150 คัน จ่ายค่าสัมปทานให้การท่าอากาศยานฯ เดือนละประมาณ 1,100,000 บาท เพิ่มรถตู้เข้ามาอีก 30 คัน ส่วน “แสน เจริญจิตร์” บิ๊กบริษัท ภูเก็ตไม้ขาวสาคู จำกัด แจ้งว่า มีรถให้บริการอยู่ 80 คัน เป็นเก๋ง 20 คัน และรถตู้ 60 คัน จ่ายค่าสัมปทานให้แก่ทางการท่าอากาศยานฯ เดือนละ 1,004,000 บาท ได้เพิ่มรถเก๋งอีก 30 คัน
สรุปแล้วเสือ 2 ตัวนี้นอนกินสบายไปอีกช่วงหนึ่ง แล้วยังมีส่วนแบ่งจากส่วนเกิน 30 คันดังกล่าว ให้ตัวแม่ในการท่าอากาศยานภูเก็ตด้วย เป็นใครบ้าง ถ้าอยากรู้ลึกก็ไปง้างปากล้วงคอสอบถามกันเอง ผมถามมาแล้ว ต่างรูดซิปปากสนิท
การยกเลิกสัมปทานลิมูซีนอาจจะมีคนคิดว่า ปัญหาน่าจะน้อยลง และเป็นทางออกที่ดี เพราะรถลิมูซีนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา
แต่ก็รู้ๆ กันอยู่ “ลิมูซีน” กับการท่าอากาศยานฯ ติดกันเหมือนปาท่องโก๋ ผู้มีอิทธิพลเคยใช้เป็นที่หากินสืบทอดกันมาหลายรุ่น น่าจะไม่ปล่อยให้ผลประโยชน์ก้อนโตหลุดมือไปง่ายๆ เรื่องนี้เป็นเล่ห์เหลี่ยมของการท่าอากาศยานฯ เท่านั้น
จากการประชุมเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา ตามข่าวบอกว่า ประชุมเรื่องการให้บริการรถรับจ้างสาธารณะที่ท่าอากาศยานภูเก็ต มีรองผู้ว่าฯ “จำเริญ ทิพญพงษ์ธาดา” เป็นประธาน ผู้เข้าร่วมที่เกี่ยวข้องโดยตรงก็มีกลุ่มการท่าอากาศยานฯ ยกโขยงเข้าเป็นกองทัพ มี “น.อ.วิสูธ จันทนา” และ “น.อ.กันต์พัฒน์ มังคละศิริ” รอง ผอ.การท่าอากาศยานภูเก็ต รวมทั้งรอง ผอ.ฝ่ายต่างๆ และ “จาตุรงค์ แก้วกสิ” นักวิชาการขนส่ง นอกนั้นก็เป็นพระอันดับ
น.อ.กันต์พัฒน์ มังคละศิริ รอง ผอ.การท่าอากาศยานฯ แจงต่อที่ประชุมว่า สัญญาสัมปทานบริษัท สหกรณ์บริการรถยนต์บริการธุรกิจ ภูเก็ต จำกัด บริษัท ภูเก็ต ไม้ขาว สาคู จำกัด บริษัท ภูเก็ต แท็กซี่มิเตอร์ เซอร์วิส จำกัด บริษัท เดวิด คาร์ เรนท์ จำกัด และ บริษัท ภูเก็ตมหานคร จำกัด สิ้นสุดในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2556 นี้ และไม่ให้สัมปทานใครอีก
เป็นการล้างไพ่เริ่มต้นใหม่ สนองนโยบายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมทั้งจังหวัดภูเก็ต ในการจัดระเบียบรถรับจ้างที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่นักท่องเที่ยว และแก้ปัญหารถแท็กซี่ป้ายดำ โดยปรับเปลี่ยนการให้บริการรถรับจ้างในท่าอากาศยานภูเก็ตใหม่
กำหนดจำนวนรถยนต์บริการไว้ที่ 420 คัน และสำรองคิว 80 คัน รถยนต์ที่จะนำมาให้บริการรับผู้โดยสารในจำนวน 420 คันนั้น เป็นรถลิมูซีน 340 คัน แท็กซี่มิเตอร์ 80 คัน ทางท่าอากาศยานฯ จะให้สิทธิผู้รับสัมปทานเดิมก่อน คือ สหกรณ์บริการรถยนต์บริการธุรกิจ ภูเก็ต จำกัด และบริษัท ภูเก็ต ไม้ขาว สาคู จำกัด บริษัท ภูเก็ต แท็กซี่มิเตอร์ เซอร์วิส เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้รับสัมปทานรายเดิม
ทั้งหมดให้มาแจ้งขึ้นทะเบียนกับท่าอากาศยานฯ ภายใน 30 ตุลาคม 2556 นี้ รถยนต์ที่จะนำมาขึ้นทะเบียนได้จะต้องมีเครื่องยนต์ตั้งแต่ 1950 ซีซีขึ้นไป รถทุกคนจะต้องติดตั้ง GPS และวิทยุสื่อสาร เครื่องแบบผู้ขับขี่รถยนต์จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล
ส่วนค่าโดยสารเป็นไปตามประกาศของขนส่งจังหวัดภูเก็ต กำหนดโดยมติคณะกรรมการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารฯ สำหรับรถยนต์สาธารณะ และรถยนต์บริการ จังหวัดภูเก็ต ครั้งที่ 2/2552 เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2555 (ป้ายเขียว) ส่วนแท็กซี่มิเตอร์นั้นเป็นไปตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร และค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจากค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร สำหรับรถรับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน (TAXI METER) ในจังหวัดภูเก็ต คือ ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก 50 บาท เกิน 2 กิโลเมตร ถึง 15 กิโลเมตร กิโลเมตรละ 12 บาท เกิน 15 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 10 บาท
ให้มาขึ้นทะเบียนกับท่าอากาศยานฯ โดยตรง โดยเรียกเก็บค่าตอบแทน 15% ของค่าโดยสารต่อเที่ยว พร้อมกันนั้นก็จะจ้างบริษัท Outsouce เป็นผู้บริหารจัดการ ภายใต้การกำกับดูแลของท่าอากาศยานฯ โดยกำหนด TOR ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บริการ และการดำเนินงานของท่าอากาศยานฯ
“จาตุรงค์ แก้วกสิ” นักวิชาการขนส่งก็สวนทันควันว่า ตามโพยดังกล่าว ไม่ได้ตอบโจทย์ครอบคลุมการแก้ปัญหาแท็กซี่ป้ายดำของทางจังหวัดเลย
ต่อมา ล่าสุดจากการประชุมคณะทำงาน ศปอท.ครั้งที่ 7/2556 ติดตามการปฏิบัติงาน และแก้ปัญหาการร้องเรียน เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 ที่กองบังคับการตำรวจภูธรภูเก็ต รองผู้ว่าฯ จำเริญ ทิพญพงษ์ธาดา เป็นประธานเช่นเดียวกัน
นัดนี้ “สมถวิล แย้มสวน” รอง ผอ.ฝ่าย รปภ.ชี้แจงว่า รูปแบบการบริหารจัดการได้ยึดรูปแบบเดียวกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เดิมจะดำเนินการทันทีในวันที่ 1 ธันวาคม 2556 หลังหมดสัญญาลิมูซีนทั้งหมดในวันรุ่งขึ้น
แต่ปรากฏว่าไม่มีรถมาขึ้นทะเบียน เลยต้องขยายสัมปทานออกไปอีก 2 เดือนคือ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2556-31 มกราคม 2557 เริ่มใช้ระบบใหม่วันที่ 1 กุมภาพันธุ์ 2557 และประกาศให้มีการลงทะเบียนใหม่ในส่วนของ 3 บริษัทเดิมเป็นบริษัทที่เคยได้รับสัมปทาน
ขณะนี้มีรถมาทยอยขึ้นทะเบียนแล้ว 2 บริษัท คือ บริษัท ภูเก็ต ไม้ขาว สาคู จำกัด และ บริษัท ภูเก็ต แท็กซี่มิเตอร์ เซอร์วิส จำกัด ส่วนกรณีรถอื่นที่เกินจาก 420 คันต้องคิดกันอีกที
ประธานที่ประชุม รองผู้ว่าฯ “จำเริญ ทิพญพงษ์ธาดา” ได้ทักท้วงว่า รูปแบบการบริหารจัดการรถแท็กซี่โดยการยกเลิกสัมปทาน เพื่อบริหารจัดการเองโดยการเรียกเก็บค่าคิว และผู้ที่จะมาเข้าคิวได้ต้องเป็นรถที่เคยอยู่ในบริษัทที่เคยได้รับสัมปทาน “เป็นการยกเลิกสัมปทานเพื่อกลุ่มสัมปทานเดิม” ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหารถแท็กซี่ป้ายดำที่กำลังเกิดขึ้นได้ เพราะรถจากที่อื่นแม้ว่าจะปรับเป็นรถแท็กซี่ หรือรถป้ายเขียวแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะเข้าไปรับนักท่องเที่ยวได้อยู่ดี
“ทางการท่าอากาศยานฯ จะต้องคิดให้รอบคอบ เพราะการแก้ไขปัญหารถแท็กซี่ป้ายดำตามนโยบายของจังหวัด ต้องการแก้ทั้งระบบ เพื่อให้รถสามารถรับส่งผู้โดยสารทั้งขาไป และขากลับ เพื่อให้การแก้ไขเป็นรูปธรรมมากขึ้น”
ประวัติศาสตร์น่าจะซ้ำรอย หรือไม่ก็คล้ายคลึงกับที่อดีตผู้ว่าฯ อุดมศักดิ์ อัศวรางกูร เคยเจอนั่นแหละครับ ท่านรองฯ จำเริญ ทิพญพงษ์ธาดา
เท่านี้ก็ได้เห็นสันดาน และสายพันธุ์ของพวกบริหารการท่าอากาศยานฯ ที่สืบทอดมาจากสารพัดสัตว์เขี้ยวลากดินชัดเจน เกินความคาดหมายด้วยซ้ำ
เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า บริเวณท่าอากาศยานฯ ทุกแห่งล้วนเป็นขุมเงินขุมทองที่ถูกผูกขาดโดยอิทธิพลของผู้บริหารการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยเท่านั้น
การแก้ปัญหาที่ผ่านๆ มาเกี่ยวกับการท่าอากาศยานภูเก็ต ไม่ว่าเรื่องอะไร ของคณะกรรมการ หรือคณะทำงาน ทั้งในส่วนกลาง หรือระดับจังหวัด ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย ล้วนเป็นเรื่องตลก “ปาหี่ขยำขี้กันเอง” ให้ไอ้พวกสารพัดสัตว์เขี้ยวลากดินมันนั่งดูเป็นเรื่องขบขัน
นี่แหละครับ “มาเฟีย” ตัวจริงที่ “รวบกินหัวกินหางกินกลางตลอดตัว” ไม่เหลือแบ่งปันให้ใคร ทั้งไม่เปิดช่องให้ใครเข้าไปตีท้ายครัวได้อีกด้วย
เวทีนี้เปิดมาก็นานนับปี การประลองกำลังล่าสุด สำรวจกันดูหน่อย ใครหน้าแหกจนหมอไม่รับเย็บบ้าง เริ่มตั้งแต่ “สมศักด์ ภูรีศรีศักย์”รัฐมนตรีการท่องเที่ยวและกีฬา “ธาริต เพ็งดิษฐ์” เจ้าพ่อ DSI อีกทั้งสารพัดคณะกรรมการ คณะทำงาน ที่ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาแก้ปัญหาแท็กซี่ป้ายดำ รวมทั้งระดับจังหวัด เจ้าของท้องที่ ผู้ว่าฯ หลายต่อหลายคนต้องมารับช่วงแก้ปัญหา แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จ เพราะ “มาเฟีย” ตัวนี้เอง
ผู้ว่าฯ “ไมตรี อินทุสุต” ที่ทำลับๆ ล่อๆ ผลุบๆ โผล่ๆ เหมือนกับรู้เชิงท่าอากาศยานฯ หรือเป็นนกรู้นี่เอง
จึงทำให้รองผู้ว่าฯ ทั้งหลายแหล่ต้องเป็นไม้กันหมา หรือเป็นหนังหน้าไฟ โดยเฉพาะรองผู้ว่าฯ จำเริญ ทิพญพงษ์ธาดา รับหน้าเล่นบทตลกแทน ให้พวกการท่าอากาศยานฯ หัวเราะกันครื้นเครง
นี่แหละ,...สุดยอดผู้ว่าฯ ขอคาราวะ.... ขอคาราวะ....