ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - รอง ผอ.ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องรัฐบาลเวียดนามต้องไม่นำการยิงเป้ามาใช้ในการประหารชีวิตนักโทษอีก หลังจากที่สหภาพยุโรปห้ามส่งออกสารเคมีที่ใช้เพื่อฉีดนักโทษประหาร เป็นเหตุให้เวียดนามประสบปัญหาในการฉีดยาเพื่อประหารชีวิต เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา สื่อระดับชาติของเวียดนามรายงานข่าวว่า รัฐบาลกำลังขออนุญาตจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อใช้วิธียิงเป้าประหารชีวิตจนถึงปี 2558
วันนี้ (12 พ.ย.) อิสเบล อาร์ราดอน (Isabelle Arradon) รองผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าเสียใจอย่างยิ่งที่เวียดนามได้พยายามอีกครั้งที่จะหาทางประหารชีวิตประชาชน ทั้งโดยการใช้ยาที่ผลิตได้ในประเทศ หรือหวนกลับไปใช้วิธีการประหารชีวิตที่รัฐบาลเวียดนามเองเคยปฏิเสธเนื่องจากไร้มนุษยธรรม
“การขาดแคลนยาเพื่อประหารชีวิตน่าจะเป็นโอกาสให้ทางการเวียดนามแสดงพันธกิจให้โลกเห็นถึงการปฏิบัติต่อนักโทษด้วยมนุษยธรรม และการปฏิเสธโทษประหารโทษประหารไม่เพียงไม่มีผลในเชิงป้องปรามอาชญากรรม หากยังเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีมากสุด และเป็นการละเมิดอย่างชัดเจนต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน รวมทั้งสิทธิที่จะมีชีวิตรอด เวียดนามควรส่งเสริมให้มีการถกเถียงเกี่ยวกับโทษประหารต่อไป ทั้งนี้ โดยมีจุดมุ่งหมายให้มีการยกเลิกโทษประหารอย่างสิ้นเชิง สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของรัฐอื่นๆ ในอาเซียนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา” อิสเบล อาร์ราดอน กล่าว
ในระดับโลก ประเทศต่างๆ ค่อยๆ เลิกใช้โทษประหารไปอย่างชัดเจน โดยรัฐบาลประเทศส่วนใหญ่ในโลกตระหนักว่า วิธีการเช่นนี้ไม่มีผลในเชิงป้องปราม 97 ประเทศได้ยกเลิกโทษประหารอย่างสิ้นเชิงในทางกฎหมาย และมี 140 ประเทศทั่วโลก ที่ยกเลิกโทษประหารทั้งในทางนิตินัยหรือพฤตินัย ในปี 2555 มีเพียง 21 ประเทศ ที่ยังคงประหารชีวิตบุคคล ลดลงจาก 28 ประเทศเมื่อทศวรรษที่แล้ว
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ต่อต้านโทษประหารทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด