xs
xsm
sm
md
lg

ส่งผ่านเรื่องเล่าปลายปากกา “คนคุก” แม้กายถูกจองจำ แต่หัวใจเปี่ยมอิสรภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ชีวิตของมนุษย์เราไม่มีใครขาวจัด ดำจัด ไปเสียทุกเรื่อง แม้กระทั่งคนคุกเอง เมื่อได้เข้าไปสัมผัสตัวตนจริงของพวกเขาเหล่านี้ภายใต้รั้วกำแพงสูงใหญ่ภายในเรือนจำกลางบางขวาง จังหวัดนนทบุรีแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าบางส่วนภายในหัวใจของคนคุกก็มีเสี้ยวของความสว่างปรากฏอยู่ไม่ต่างจากคนธรรมดาทั่วไป

“ตอนเราอยู่นอกกำแพงเราก็มักจะตัดสินคนในคุกว่าเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ เป็นคนชั่ว แต่พอผมเข้ามาอยู่ข้างในก็เปลี่ยนมุมมอง เพราะฉะนั้นผมอยากใช้เรื่องเล่าในหนังสือเล่มนี้สื่อออกไปให้คนภายนอกรับรู้ว่าเราก็เป็นเพียงแค่มนุษย์ธรรมดาคนนึง” ถ้อยคำจากรัตน์ หนึ่งในนักโทษที่ถูกจองจำในเรือนจำแห่งนี้

หนังสือเล่มที่ถูกอ้างถึงนั้นคือ “เฟซคุก เรื่องเล่าจากเรือนจำบางขวาง” หนังสือรวบรวมเรื่องสั้นจากนักโทษชายภายในเรือนจำกลางบางขวาง ส่วนอีกเล่มหนึ่ง “เฟซคุก เรื่องเล่าจากแดนหญิง” ด้วยฝีมือการเขียนจากนักโทษหญิง ณ เรือนจำกลาง จังหวัดราชบุรี หนังสือทั้งสองเล่มถูกปลุกปั้นด้วยความร่วมมือของโครงการกำลังใจ ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และเครือข่ายพุทธิกา โดยพระไพศาล วิศาโล

เรื่องเล่าที่ปรากฏภายในหนังสือสองเล่มนี้เกิดจากการบ่มเพาะ ขัดเกลาจาก อรสม สุทธิสาคร นักเขียนสารคดี นักโทษหลายคนที่นี่เรียกเธอว่าแม่ได้อย่างไม่อาย เพราะครูอรสมคนนี้ เปรียบเสมือนผู้ยื่นมือเข้ามาช่วยบรรเทาความทุกข์ เยียวยารอยแผลลึกในจิตใจของนักโทษด้วยการกลั่นออกมาเป็นตัวหนังสือ รวมถึงวิทยากรพิเศษที่เข้าร่วมด้วยอย่าง 3 กวีซีไรต์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, ศักดิ์สิริ มีสมสืบ, ไพวรินทร์ ขาวงาม รวมถึงศิลปินแห่งชาติ สุรชัย จันทิมาธร, นักเดินทาง ประมวล เพ็งจันทร์ และบรรณาธิการมืออาชีพ ภัทระ คำพิทักษ์

“ไม่เคยรู้สึกว่าคำว่าครู ยิ่งใหญ่มาก เท่ามาสอนที่บางขวางมา 3 ปี จำได้ว่าวันแรกที่เข้ามาสอนคือวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 ซึ่งโอกาสนี้จะเกิดขึ้นมาไม่ได้ หากไม่มีความเมตตาจากพระองค์เจ้าฯ โชคดีที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าและกราบทูลฯ ความใฝ่ฝันครั้งนี้ เรามีความเชื่อว่า คนที่อยู่ในเรือนจำคือคนด้อยโอกาสอย่างแท้จริง และด้วยความรู้สึกอยากเปลี่ยนให้เขารู้สึกมีคุณค่า ไม่ใช่แค่นักโทษ แต่เป็นคนที่มีตัวตนอยู่ในสังคม

การเขียนถือเป็นการเยียวยาจิตใจ การบอกเล่าเรื่องราวความผิดพลาดในอดีตจะทำให้รู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่า และสิ่งนี้เป็นประโยชน์อย่างมาก เป็นครูที่ยิ่งใหญ่ของสังคม ซึ่งเราก็อยากขอโอกาสให้กับลูกศิษย์ทุกคน” อรสม กล่าว

จากบทเรียนที่ผิดพลาด จากก้าวย่างที่ผิดพลั้ง ถ่ายทอดสู่งานเขียนที่ถูกฝึกฝนเคี่ยวกรำกว่า 16 สัปดาห์ เพื่อให้ผลงานออกมาประจักษ์สู่สายตาโลกภายนอกรั้วกำแพงคุก นอกไปจากคุณค่าของเรื่องเล่าต่างๆ นี้ สิ่งหนึ่งคืองานเขียนได้ช่วยบรรเทาความทุกข์ของเหล่านักโทษด้วยเช่นกัน

“ผมได้กำลังใจเพิ่มขึ้นนะครับ คือผมเขียนเรื่องราวของคนอื่น ผมต้องสัมภาษณ์ คุยกับแหล่งข้อมูล ทุกคนที่ผมไปหา จากที่ผมเคยคิดว่าเราแย่ ทรมาน ตกต่ำที่สุดในชีวิตแล้ว พอได้มาเปิดใจก็พบคนที่เค้าแย่กว่าเราเยอะ ถ้าเราเปรียบเทียบกับคนอื่น คนที่แย่กว่า ก็ทำให้ผมเกิดกำลังใจ เกิดความเอื้อเฟื้อต่อคนอื่นมากขึ้น” รัตน์ นักโทษคนเดิมกล่าว

ก่อนที่จะปรากฏออกมาเป็นเล่มหนังสือนั้น นักโทษจะต้องสมัครเข้ามาโดยการส่งความเรียงจำนวน 1-2 หน้า มาพิจารณาก่อน จากนั้นก็จะคัดเลือกมาเป็นนักเรียน 30 คน ทั้งนี้ งานเขียนทั้งสองเล่มเกิดจากลูกศิษย์นักโทษในรุ่นที่ 2 ก่อนหน้านี้ในรุ่นที่ 1 ได้รับการตอบรับที่ดีมากจากสังคม โดยหนังสือเรื่อง “อิสรภาพบนเส้นบรรทัด 13 นักโทษประหาร” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 รางวัลเซเว่นส์บุ๊คอวอร์ดครั้งที่ 9 ประจำปี 2555 ประเภทสารคดีทั่วไป และในปี 2556 ผลงาน “คำสารภาพสุดท้ายก่อนเข้าห้องประหาร” โดย ภุมรินทร์ ภมรตราชูกุล นักเขียนจากเรือนจำกลางบางขวาง ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 รางวัลเซเว่นส์บุ๊คอวอร์ดครั้งที่ 10

การเรียนการสอนทั้งหมดเกิดขึ้นในระยะเวลา 4 เดือน โดยจะต้องฝึกทักษะการเขียน การเล่าเรื่อง ให้กับเหล่านักโทษทั้งหมด จนมาถึงโค้งสุดท้าย ที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าอบรม เขียนงานส่งเข้ารับการพิจารณาพิมพ์รวมเล่มโดยสำนักพิมพ์สารคดี ผลงานรวมเล่มที่ถูกตีพิมพ์บนหนังสือจึงเป็นงานเขียนน้ำดีที่เข้มข้นและเปี่ยมด้วยสีสัน ซึ่งหนึ่งในนักโทษผู้เข้าร่วมโครงการอย่าง ชัย ถึงกับกล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับงานเขียน

“ยากมากครับ งานเขียนเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก กว่าจะเขียนออกมาได้แต่ละคำ ถ้าผมไม่ได้คนคอยขัดเกลา คงเขียนไม่ได้แน่นอน สำหรับงานที่ผมเขียนก็หวังจะให้คนอื่นๆ เข้าใจและให้โอกาส แล้วก็ให้คนที่เค้ากำลังคิดทำไปในทางเดียวกับผมให้เค้าหยุดเถอะครับ
ผมก็ฝากหนังสือสองเล่มนี้ด้วย อย่างน้อยคนอ่านก็จะได้เรียนรู้สิ่งที่ผมกำลังบอกเล่ากับสังคม ให้เป็นครูสอน ก็ขอโอกาสให้กับนักเรียนตาดำๆ ทุกคนด้วยครับ”

หนังสือทั้งสองเล่ม “เฟซคุก เรื่องเล่าจากเรือนจำบางขวาง” และ “เฟซคุก เรื่องเล่าจากแดนหญิง” คงเป็นสื่อเตือนใจสังคม และเป็นสื่อถ่ายทอดความคิดอันอิสรเสรีของเหล่านักโทษที่ต้องถูกคุมขังอยู่ภายใต้กำแพงสูงใหญ่ทะมึนให้คนภายนอกสัมผัสกับตัวตนคนคุกได้ดียิ่งขึ้น

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live






กำลังโหลดความคิดเห็น