xs
xsm
sm
md
lg

“อังคาร จันทาทิพย์” จากกวีลูกชาวนา ไขว่คว้าจนได้ “กวีซีไรต์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กลายเป็นชื่อที่ถูกพูดถึงอย่างมากเพียงชั่วข้ามคืน เมื่อ “อังคาร จันทาทิพย์” หอบผลงาน “หัวใจห้องที่ห้า” ชนะใจคณะกรรมการคว้ารางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2556 ไปครองแบบไร้คู่แข่ง

หนุ่มมาดเข้ม เงียบขรึม อังคาร จันทาทิพย์ เป็นลูกคนสุดท้องของครอบครัวชาวนา เกิดที่ อ. มัญจาคีรี จ. ขอนแก่น มีพี่สาวและพี่ชายหลายคน เจ้าตัวบอกว่า” พูดง่ายๆ ก็คือ ผมเป็นส่วนหนึ่งของผลผลิตจาก “วาทกรรม - เกษตรกร เกษตรกรรม ความยากไร้ ผลักเราสู่ที่ทางใหม่ ไกลออกมา” ซึ่งเขียนไว้ในบทกวี “ด้านทั้งสองของโลกเสมือน” ใน “หัวใจห้องที่ห้า”

ความหมายเดียวกับ “อาชีพชาวนา ชาวไร่ลำบากยากจน ต้องเรียนหนังสือสูงๆ เป็นเจ้าคนนายคน ชีวิตจะได้สุขสบาย”

อังคาร เล่าว่า ทุกวันนี้การใช้ชีวิตของชาวนา พ่อแม่ต้องเหนื่อยขึ้นเพื่อให้ลูกทุกๆ คนได้เข้าไปเรียนหนังสือในเมือง เป็นมนุษย์ที่เท้าสองข้างเหยียบยืนอยู่ระหว่างเส้นแบ่งของโลกใบเก่า ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราว เรื่องเล่าของอดีต รากเหง้า ความเป็นพื้นถิ่นกับโลกใบใหม่ที่เราต้องเริ่มทำความรู้จักคุ้นเคยกับมัน ใช้เวลาอีกครึ่งหนึ่งของชีวิตโลดแล่นอยู่ในลู่ลานของมัน เร็วบ้าง ช้าบ้าง เพื่อหาที่ทางของตัวเอง และในที่สุดเราก็พบว่าการเป็นมนุษย์ที่เหยียบยืนอยู่ระหว่างพรมแดนของโลกทั้งสองใบ ระหว่างใหม่และเก่าที่เหลื่อมซ้อนกันอยู่นี่แหละคือที่ทางของเรา และคงเป็นที่ทางของคนอีกหลายล้านคนในโลกและประเทศนี้

ด้วยความที่ตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของผลผลิตจาก “วาทกรรม - เกษตรกร เกษตรกรรม ความยากไร้ ผลักเราสู่ที่ทางใหม่ ไกลออกมา” จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดหูเปิดตาเห็นหลายๆ อย่าง เช่น เปิดโลกทางการอ่านวรรณกรรมจากร้านเช่าหนังสือ ห้องสมุดโรงเรียน ได้เข้าค่ายวรรณกรรมเยาวชนของโรงเรียน ได้รู้จัก “พระไม้” หรือ “อาจารย์ประยูร ลาแสง” ครูทางกวีนิพนธ์คนแรก ได้รู้จักเพื่อนๆ “กลุ่มศิลปวรรณกรรม” ที่รามคำแหง ได้ทำกิจกรรมเกี่ยวกับการเขียน การอ่าน ซึ่งช่วงเวลานั้นที่รามคำแหงยังมีกลุ่มนักเขียน กวีรุ่นพี่หลายๆ คนแวะเวียนไปมาอยู่ตลอด ทำให้มีบรรยากาศของการพูดคุยถกเถียงเรื่องวรรณกรรม เรื่องการเขียนบทกวีเข้มข้นและจริงจังพอสมควร

ต่อมากลุ่มก้อนคนเขียนหนังสือกลุ่มนี้ถูกเรียกขานว่า “กลุ่มกวีหนุ่มหน้ารามฯ” โดยเฉพาะในช่วงปี 2536-2540 ถือเป็นช่วงเวลาที่นิตยสารทั้งรายสัปดาห์ รายปักษ์ รายเดือนยังมีพื้นที่ให้เผยแพร่ผลงานเยอะและเปิดกว้าง มาก บรรยากาศโดยรวมของแวดวงกวีช่วงนั้นก็ถือว่าค่อนข้างคึกคักพอสมควร

สิ่งที่เพิ่มเสน่ห์ให้กับ “บทกวี” นั้น “อังคาร” บอกว่า เพราะบทกวีนั้นสามารถส่งความรู้สึกถึงเรื่องราวที่อยากบอกเล่า อยากสื่อสารกับคนอื่นๆ รวมถึงความน่าหลงใหล และความสั้นกระชับ แต่สามารถหลอมรวม หรือบรรจุเอาทุกสิ่งทุกอย่างทั้งอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด สีสัน บรรยากาศ จินตภาพที่ต้องการสื่อสารออกไปไว้อย่างครบถ้วน หมดจดงดงาม สั่นสะเทือนความรู้สึกตัวเองตอนเขียน และสั่นสะเทือนความรู้สึกผู้ที่ได้อ่าน ซึ่งวรรณกรรมประเภทอื่นๆ อาจจะต้องใช้ความยาวหลายหน้าหนังสือในการบอกเล่า แต่อาจปรากฏในกวีเพียงบทเดียว ถ้าเปรียบเปรยก็คงประมาณว่า “บทกวีเป็นเหมือนหญิงสาวที่ทำให้ตกหลุมรักตั้งแต่แรกพบ รักแล้วถอนตัวไม่ขึ้น”

หลายคนมักจะมองว่า “บทกวี” เป็นสิ่งยากแก่การเสพ เป็นของสูง ต้องขึ้นหิ้งเขียน ปีนบันไดอ่านนั้น “อังคาร” บอกเลย หมดยุคสมัยนั้นไปแล้ว ช่วงหลายปีที่ผ่านมามีกวีอยู่จำนวนไม่น้อยได้เปลี่ยนแปลงลักษณะการนำเสนอบทกวีไปมาก บ้างก็มีการนำรูปแบบของพล็อตเรื่องเล่าเข้ามารองรับประเด็น เนื้อหา ซึ่งพล็อต เรื่องเล่าก็เป็นภาพและเรื่องราวของผู้คนธรรมดาสามัญที่เห็นกันอยู่ทั่วไปในสังคมเมือง ชนบท ความขัดแย้ง ความเปลี่ยนแปลง ความไม่ลงตัวของวิถีชีวิต เพื่อง่ายแก่การสื่อสารถึงผู้อ่าน

แต่อย่างไรก็ตาม การที่ไม่ต้องขึ้นหิ้งเขียนปีนบันไดอ่าน ก็ไม่ได้หมายความว่าคนเขียนจะปล่อยปละละเลย มักง่าย หรือสะเปะสะปะ เพราะเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นงานศิลปะชนิดหนึ่ง ก็ยังมีความจำเป็นที่ต้องสมดุลย์ทั้งรูปแบบ วิธีการนำเสนอ มุมมอง กับประเด็น เนื้อหาอย่างไรให้ลงตัว น่าสนใจไว้ให้ได้มากที่สุด

เมื่อพูดถึงผลงานรวมเล่ม “หัวใจห้องที่ห้า” กวีซีไรต์ป้ายแดง อธิบายถึงคอนเซ็ปต์ของเล่มนี้ว่า ถูกวางโครงสร้างของเล่มไว้อย่างชัดเจน จะเห็นความต่อเนื่องของการเชื่อมโยงประเด็นผ่านเรื่องราวในบทกวีแต่ละสำนวน เขาอรรถาธิบายขยายความว่าประเด็น เรื่องราวแต่ละเรื่องในบทกวีแต่ละสำนวนเป็นเหมือนจิ๊กซอว์ ที่ถูกประกอบสร้างขึ้นให้เห็นภาพรวมใหญ่ของปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น เป็นอยู่ เป็นไปในยุคสมัยปัจจุบัน ทั้งประเด็นปัญหาเรื่องสงคราม ความเชื่อ ความขัดแย้ง ความรุนแรง วิถีชีวิต ชาติพันธุ์ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมใหม่และเก่า

ซึ่งประเด็นเรื่องราวเหล่านี้ทั้งหมด จะพูดถึงประเทศไทยโดดๆ อย่างเดียวไม่ได้แล้ว เพราะโลกยุคสมัยปัจจุบันประเด็นเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ข้ามพรมแดน เชื่อมโยง และส่งผลกระทบกระเทือนถึงกันหมด ฉะนั้นกวีในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ปฏิสัมพันธ์กับผู้คน เรื่องราว ประเด็นปัญหาเหล่านี้ ย่อมเป็นธรรมดาที่อยากบอกเล่าสื่อสารความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อสิ่งที่พบเห็น แต่จะบอกเล่า จะนำเสนออย่างไรให้ผู้อ่านได้เห็นความหลากหลายของเรื่องราว ความหลากหลายของประเด็นได้มากที่สุด

เพราะคนแต่ละคนมีเรื่องเล่าของตัวเอง แตกต่าง หลากหลายตามภูมิหลังและที่มา เหมือนคนในแต่ละวิถีชีวิต แต่ละวัฒนธรรมต่างก็มีเรื่องราว เรื่องเล่าของตัวเอง แตกต่างหลากหลายไปตามสภาพพื้นที่ สภาพแวดล้อม ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วสิ่งเหล่านี้สะท้อนโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม สะท้อนความหมาย สะท้อนนัยความสัมพันธ์ผ่านระบบสัญลักษณ์ต่างๆ เกิดเป็นเรื่องเล่า ปรัมปรานิทาน ตำนานแต่ละท้องถิ่น เป็นระบบสัญลักษณ์ที่ได้จากการดำเนินชีวิต ผสมผสานกับความนึกคิด จินตนาการ เลือกที่จะเชื่อมโยงอดีตกับปัจจุบัน ก็เพื่อจะให้เห็นภาพเปรียบเทียบ ให้เห็นถึงที่มาและที่ไปของผู้คนที่หลากหลายและสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับสังคมที่ผู้คนเหล่านั้นปฏิสัมพันธ์อยู่ มัน

เป็นเหมือนเส้นแบ่งของโลกใบเก่ากับโลกใบใหม่ ที่ถูกลบ สลาย และถูกขีดแบ่งขึ้นมาใหม่เสมอๆ และคนในยุคปัจจุบันก็ต่างข้ามไปข้ามมาอยู่ตลอด และเราต่างก็เห็นการดิ้นรน ปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ด้วยเงื่อนไข ปัจจัยที่แตกต่าง เช่น การอพยพ เคลื่อนย้ายของผู้คน แรงงาน มีทั้งที่หนีภัยสงคราม ความรุนแรงจากคนกับคนด้วยกัน และภัยพิบัติธรรมชาติ ส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเกิดขึ้นเพราะโครงสร้างความสัมพันธ์แบบเดิมมันขาดหายและเปลี่ยนแปลงไป

นอกจากนี้ผลงานเล่มใหม่ที่ อังคาร จันทาทิพย์ กำลังซุ่มเก็บรวบรวมข้อมูลและเริ่มเขียนไปบ้างแล้วนั้นเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ “บ้าน” ที่ต้องการสื่อสารถึง คนพลัดถิ่น คนไม่มีที่อยู่อาศัย ชาวโรฮิงญากับโลกที่ 3 หรือ ความเงียบของคนในบ้าน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงเดือนรอมฎอน เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้เจ้าตัวบอกว่าคงต้องใช้เวลาเก็บข้อมูลนานพอสมควรกว่าเล่มนี้จะเสร็จสมบูรณ์

ใครที่อยากรู้ว่าฝีมือการเขียนกวีของซีไรต์ป้ายแดง “อังคาร จันทาทิพย์” เป็นอย่างไรถึงชนะใจคณะกรรมการมาได้ ก็ต้องไปหา “หัวใจห้องที่ห้า” มาอ่านกันได้เลย


         หัวใจห้องที่ห้า               

รวมบทกวีร่วมสมัยของ อังคาร จันทาทิพย์ (ฉบับปรับปรุง) เป็นกวีนิพนธ์แนวฉันทลักษณ์ ใช้คำประพันธ์ประเภทกลอนสุภาพเป็นหลักในการนำเสนอ นอกจากนี้ยังมีโคลงสี่สุภาพ กาพย์ฉบัง 16 เป็นฉันทลักษณ์ที่เขียนได้ถูกต้องตามกฏเกณฑ์เป็นระเบียบ แบ่งเนื้อหาสาระเป็นภาคแรกหัวใจห้องที่ห้า ภาคหลัง นิทานเดินทาง และภาคผนวก ภาคแรกผู้ประพันธ์นำเสนอมุมมองของสังคมในมิติต่างๆ ของอดีต เชื่อมโยงสู่ความเปลี่ยนแปลงในสังคมปัจจุบัน

ทั้งจากการสั่งสมประสบการณ์และความความรู้สึกนึกคิด ในท่ามกลางวิกฤติการณ์หลายด้าน แต่ผู้ประพันธ์มีหัวใจใฝ่หาความสุขสงบ เสมือนหัวใจห้องที่ห้า “ดวงใจใฝ่ฝันสันติสุข ท่ามกลางทุกข์กระพือไฟไม่สุดสิ้น ชีวิตหยัดอยู่และรู้ยิน รัก และหวังดั่งฝนรินลงดับร้อน” 

องค์ประกอบที่เป็นจุดเด่นของผู้ประพันธ์คือ ความสามารถในการใช้กลวิธีนำเสนอแนวคิด ปัญหาสังคมชนบท สังคมเมืองในเชิงวิภากษ์วิจารณ์ เพื่อให้ผู้อ่านนำไปคิดเอง โดยเล่าเรื่องในอดีตเชื่อมโยงกับปัญหาสังคมในยุคปัจจุบันได้อย่างมีสัมพันธภาพ เนื้อหาสาระและรูปแบบสอดคล้องต้องกันอย่างเหมาะสมกลมกลืน มองเห็นอัตลักษณ์ของตัวผู้ประพันธ์ แม้ว่าจะมีภาษาถิ่นปรากฏอยู่บ้าง แต่ผู้เขียนก็ได้อธิบายเป็นเชิงอรรถไว้เพื่อช่วยเสริมสร้างให้เกิดความเข้าใจเนื้อหาสาระของกวี 

เรื่องโดย ทีมข่าว Celeb Online

กำลังโหลดความคิดเห็น