xs
xsm
sm
md
lg

ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ฉุดเศรษฐกิจใต้ไตรมาส 2/2556 ชะลอตัวต่อเนื่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพฤทธิพงศ์ ศรีมาจันทร์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้
 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ธปท.ระบุเศรษฐกิจใต้ไตรมาส 2/2556 ชะลอตัวลง ปริมาณผลผลิตภาคเกษตรสูงแต่ราคาต่ำ ส่งผลให้รายได้เกษตรกรลด ฉุดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจลดตามไปด้วย แต่การท่องเที่ยวกลับสวนทางขยายตัวดี ส่วนปัญหาโรค EMS ในกุ้งขาวยังกระทบภาคส่งออกต่อเนื่อง คาดไตรมาสต่อไปเศรษฐกิจภาคใต้จะชะลอตัวลงอีก

นายพฤทธิพงศ์ ศรีมาจันทร์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ เปิดเผยว่า ภาคเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาคใต้ คือ ภาคการเกษตร รองลงมาเป็นภาคอุตสาหกรรม และการค้า สำหรับภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ ไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 พบว่า ภาพรวมเศรษฐกิจชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อน เนื่องจากภาคเอกชน อุปโภคบริโภค และลงทุนลดลง รวมทั้งการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวลงจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก อุปสงค์จากต่างประเทศลดลง โดยเฉพาะประเทศจีน

นอกจากนี้ ปัญหาโรคระบาด EMS (Early Mortality Syndrome) หรือโรคตายด่วนในกุ้งขาว ก็ส่งผลทำให้อัตราการส่งออกลดลงด้วย แต่ขณะเดียวกัน พบว่าการท่องเที่ยวยังขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง และอัตราเงินเฟ้อชะลอลง โดยมีรายละเอียด ดังนี้

การอุปโภคบริโภค ภาคเอกชน : ไตรมาสที่ 2/2556 ขยายตัวชะลอลงอยู่ที่ 3.5 จากเดิม 5.2 ในไตรมาสก่อน เนื่องมาจากการใช้จ่ายในหมวดยานยนต์ และภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บได้ชะลอลง โดยเฉพาะการเก็บภาษีในหมวดค้าปลีก-ค้าส่ง ที่ลดลงมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการที่โครงการรถยนต์คันแรกสิ้นสุดลง และภาคครัวเรือนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น เนื่องจากรายได้จากสินค้าเกษตร และการส่งออกลดลง

 
ภาคการเกษตร : ภาพรวมผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 แต่รายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 12.0 ซึ่งเป็นผลมาจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เนื่องจากความต้องการของตลาดชะลอตัว ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากปัญหาเศรษฐกิจโลก รวมทั้งยางพารา และปาล์มน้ำมันที่ยังมีอยู่ในสต๊อก เนื่องจากระบายออกสู่ตลาดในปริมาณมาก ทำให้ราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญลดลงร้อยละ 16.2 ส่วนผลผลิตกุ้งขาวก็ยังคงลดลงต่อเนื่องถึงร้อยละ 53.6 ซึ่งส่งผลให้ราคากุ้งขาวในตลาดเร่งตัวสูงขึ้นร้อยละ 68.3

ภาคการส่งออก และนำเข้า : มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 10.3 ตามปริมาณการส่งออกสัตว์น้ำที่ลดลง เนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบสำคัญคือ กุ้งขาว ที่ประสบปัญหาโรคตายด่วน (EMS) ส่วนการส่งออกถุงมือยางก็ลดลงตามความต้องการของตลาดในสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ขณะเดียวกัน ปริมาณการส่งออกยางพารายังขยายตัวสูง เนื่องจากตลาดจีนนำเข้ามากขึ้น แต่ราคายังต่ำ ส่วนการส่งออกไม้ยางพาราแปรรูปก็เพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของจีนเช่นกัน

ด้านการส่งออกอาหารทะเลกระป๋อง ก็ชะลอลงเช่นเดียวกัน เนื่องจากตลาดตะวันออกกลางซึ่งเป็นตลาดหลักชะลอซื้อ ประกอบกับตลาดบางส่วนชะลอชะลอการซื้อทูน่า ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญ

สำหรับมูลการนำเข้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 ชะลอลงจากการนำเข้าสัตว์น้ำ และน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลง

 
การผลิตภาคอุตสาหกรรม : สินค้าในหมวดนี้ ได้แก่ ยางพารา อาหารกระป๋อง อาหารทะเลแช่แข็ง ถุงมือยาง น้ำมันปาล์ม ไม้ยางพารา และดีบุก พบว่า ดัชนีการผลิตขยายตัวร้อยละ 3.6 ชะลอจากร้อยละ 9.5 ในไตรมาสก่อน เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตอาหารทะเลแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป หดตัวร้อยละ 35.8 รวมทั้งการผลิตถุงมือยาง หดตัวร้อยละ 7.6 แต่ไม้ยางพารา ยาง อาหารทะเลบรรจุกระป๋อง และน้ำมันปาล์มดิบ มีการผลิตเพิ่มขึ้นตามวัตถุดิบที่เข้าสู่โรงงานมากขึ้น

การลงทุน : จากการชะลอตัวของการบริโภค การส่งออก และการผลิต ส่งผลกระทบต่อการลงทุน โดยดัชนีการลงทุนหดตัว ร้อยละ 0.4

อสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ทั้งด้านอุปสงค์ และอุปทาน เนื่องจากผู้ซื้อมีรายได้ลดลง และมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการก็ต้องเร่งสร้างที่อยู่อาศัยโครงการที่ลูกค้าจองไว้แล้วให้แล้วเสร็จ จึงไม่ได้ผุดโครงการใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งสอดคล้องกับพื้นที่ก่อสร้างที่ลดลง และยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ที่ลดลงเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ แนวโน้มอสังหาริมทรัพย์ในอีก 6 เดือนข้างหน้า คาดว่าจะชะลอลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้ประกอบการขาดแคลนแรงงาน บวกกับต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งราคาที่ดิน ค่าแรง และวัสดุก่อสร้าง

ขณะเดียวกัน การลงทุนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลก็ลดลง อยู่ที่ร้อยละ 14.2 จากที่เพิ่มขึ้นติดต่อกันมา 2 ไตรมาส ตามโครงการรถคันแรก นอกจากนี้ มูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนประเภทเครื่องจักร และอุปกรณ์ก็ชะลอลงเช่นกัน

ด้านการท่องเที่ยว : ยังคงขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 26.5 จากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย จีน และรัสเซีย นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งยังเป็นผลมาจากกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งการเพิ่มเที่ยวบิน และการขยายเส้นทางบินจากต่างประเทศมาภาคใต้เพิ่มขึ้น ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้มากถึง 1,587,551 คน ส่งผลให้อัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 59.2 สูงกว่าไตรมาสเดียวกันในปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 55.6

ด้านการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐ : ขยายตัวร้อยละ 8.6 ทั้งจากรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุน ขณะที่รายได้จากการจัดเก็บภาษีลดลงอยู่ที่ร้อยละ 1.2 ตามการจัดเก็บภาษีสรรพากรที่ลดลง เนื่องจากการปรับลดอัตราภาษีนิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2555 จากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 23

เงินฝากและการให้สินเชื่อ : เงินฝากขยายตัวร้อยละ 6.3 สินเชื่อขยายตัวร้อยละ 21.5 ซึ่งชะลอจากไตรมาสก่อน เป็นผลมาจากรายได้เกษตรกรลดลง เนื่องจากราคายางพารา และปาล์มน้ำมันที่ลดลง ประกอบกับประชาชนมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการผ่อนชำระหนี้ในโครงการรถยนต์คันแรก รวมทั้งธนาคารพาณิชย์มีความเข้มงวดในการพิจารณาให้สินเชื่อมากขึ้น

เสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวม : อัตราเงินเฟ้อ อยู่ที่ร้อยละ 2.22 ชะลอจากร้อยละ 3.05 ในไตรมาสก่อน เนื่องมาจากราคาอาหารสดในหมวดผัก และผลไม้ที่ชะลอลง เพราะผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ สัตว์น้ำ ไข่ และผลิตภัณฑ์จากนม มีราคาเพิ่มขึ้นตามต้นทุน ประกอบกับสภาพอากาศร้อนทำให้ผลผลิตลดลง

ส่วนราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.25 ชะลอลงจากร้อยละ 6.87 ในไตรมาสก่อน ตามราคาน้ำมันโลกที่ลดลง

การจ้างานก็ชะลอลง สะท้อนจากจำนวนผู้เข้าระบบประกันตนในระบบประกันสังคมซึ่งชะลอลงจากไตรมาสก่อน

 
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจภาคใต้ ไตรมาส 3 ปี 2556 ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ กล่าวว่า เศรษฐกิจจะชะลอตัว ราคาสินค้าเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ การใช้จ่ายภาคเอกชน ทั้งการอุปโภคบริโภค และการลงทุน รวมทั้งการส่งออกชะลอตัว สวนทางกับการท่องเที่ยวที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ส่วนปัจจัยเสี่ยง มาจากภาวะเศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบาง โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน แนวโน้มการส่งออกจึงมีแนวโน้มที่จะชะลอลง ราคาน้ำมันดิบ และค่าเงิน มีความผันผวน ประกอบกับการทยอยปรับเพิ่มราคาก๊าซแอลพีจีตั้งแต่เดือนกันยายน อาจส่งผลต่อต้นทุนสินค้า รวมทั้งเสถียรภาพทางการเมือง และผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ก็ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจด้วย
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น