xs
xsm
sm
md
lg

ธปท. เผย ศก.ไทย เดือน มี.ค. ชะลอตัว “บริโภค-ลงทุน” แผ่ว “ส่งออก” ดีขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธปท. เผย ศก.ไทย เดือน มี.ค. ชะลอตัว “การบริโภค-ลงทุน” เริ่มแผ่ว “ส่งออก” ดีขึ้นขยายตัว 4.9%

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานว่า ภาวะเศรษฐกิจเดือนมีนาคม 2556 ชะลอลงจากเดือนก่อนตามการใช้จ่ายภาคเอกชน ทั้งการอุปโภคบริโภคและการลงทุน อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าปรับตัวดีขึ้น สอดคล้องกับการผลิต ภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่อง

ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมมีเสถียรภาพ อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อชะลอลง ส่วนดุลการชำระเงินขาดดุลเล็กน้อย

การวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจในเดือนนี้ยังใช้การเปรียบเทียบกับข้อมูลในเดือนก่อนหน้า (ปรับฤดูกาล) เพื่อให้สามารถสะท้อนแรงส่งของเศรษฐกิจที่ชัดเจนกว่าการเปรียบเทียบกับข้อมูลของเดือนเดียวกันปีก่อนที่ยังผิดปกติจากผลของอุทกภัย รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคมมีดังนี้

การใช้จ่ายภาคเอกชนชะลอลงจากเดือนก่อน หลังจากที่เร่งขึ้นมากในช่วงก่อนหน้า โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 1.1 จากเดือนก่อน ตามการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่ลดลง โดยเฉพาะในหมวดสินค้าคงทน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า และเฟอร์นิเจอร์

อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายในหมวดยานยนต์ขยายตัวดีตามการส่งมอบรถยนต์ตามคำสั่งซื้อค้างจอง และการเร่งทำการตลาดของผู้ประกอบการ สำหรับดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 0.7 จากเดือนก่อน ตามการลงทุนในเครื่องจักร และอุปกรณ์ หลังจากที่มีการลงทุนไปมากในช่วงก่อนหน้า ขณะที่การลงทุนในรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวดี เช่นเดียวกับการลงทุนในหมวดก่อสร้างที่ขยายตัวตามพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างทั้งเพื่อพาณิชยกรรม และที่อยู่อาศัย

การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 20,491 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 4.9 จากเดือนก่อน ตามความต้องการจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์โดยเฉพาะรถยนต์เชิงพาณิชย์ ส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรขยายตัวตามการส่งออกข้าวที่ดีขึ้น อย่างไรก็ดี การส่งออกยางพารายังทรงตัว เนื่องจากสต๊อกยางพาราของจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ของไทยอยู่ในระดับสูง

ขณะที่การส่งออกสินค้าประมงหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 จากการขาดแคลนกุ้งเนื่องจากประสบปัญหาโรคระบาด ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่อง

นักท่องเที่ยวต่างประเทศมีจำนวน 2.3 ล้านคน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากเกือบทุกภูมิภาค โดยเฉพาะจีน และรัสเซีย อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวมาเลเซียลดลงจากปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

การส่งออกสินค้าที่ปรับดีขึ้น และการเร่งผลิตในบางอุตสาหกรรมเพื่อลดความต้องการใช้ไฟฟ้าในเดือนเมษายน ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวจากเดือนก่อน ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 4.1 จากเดือนก่อน ตามการผลิตยานยนต์เพื่อส่งมอบตามคำสั่งซื้อค้างจองที่ยังมีอยู่ การผลิตอาหาร และเครื่องดื่มเพื่อชดเชยสต๊อกที่อยู่ในระดับต่ำ และการเร่งผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงปลายไตรมาสตามแผนบริหารการผลิตของผู้ประกอบการ ส่งผลให้มีการนำเข้าวัตถุดิบ และสินค้าขั้นกลางเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค และหมวดยานยนต์ปรับลดลงหลังจากที่เร่งไปในช่วงก่อนหน้าสุทธิแล้ว ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าโดยรวมลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.4 จากเดือนก่อน โดยมีมูลค่าการนำเข้าสินค้า 18,466 ล้านดอลลาร์ สรอ. การใช้จ่ายในประเทศที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดีแม้จะชะลอลงบ้าง มีปัจจัยสนับสนุนจากรายได้ และการจ้างงานที่ดีต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี ในเดือนนี้รายได้เกษตรกรหดตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามราคาสินค้าเกษตรที่หดตัวจากราคายางพาราที่อุปสงค์ต่างประเทศยังซบเซา และราคาข้าวเปลือกลดลงชั่วคราวก่อนที่รัฐบาลจะอนุมัติโครงการรับจำนำข้าวนาปรังรอบใหม่ในช่วงปลายเดือน ขณะที่ปริมาณผลผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะยางพารา ตามการขยายพื้นที่เพาะปลูกเมื่อหลายปีก่อน และผลผลิตมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นตามความต้องการเพื่อใช้ผลิตเอทานอล

ภาครัฐ รายจ่ายของรัฐบาลเพิ่มขึ้นจากการเร่งเบิกจ่ายเงินโอนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หลังจากที่เพิ่งประกาศใช้ ประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปีงบประมาณ 2556

ขณะที่รายได้ขยายตัวตามการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับรายได้ของครัวเรือนที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ดี รายจ่ายที่มากกว่ารายได้ส่งผลให้รัฐบาลขาดดุลเงินสด 57.3 พันล้านบาท ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมมีเสถียรภาพ อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 2.69 จากการชะลอลงของราคาพลังงาน และราคาอาหารสำเร็จรูป

สำหรับดุลการชำระเงินขาดดุลเล็กน้อย ตามการออกไปลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนไทยเป็นสำคัญ ภาวะเศรษฐกิจไตรมาสที่ 1 ปี 2556 ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยการใช้จ่ายภาคเอกชน ทั้งการอุปโภคบริโภค และการลงทุนเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ประกอบกับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดี

ขณะที่การส่งออกสินค้าค่อยๆ ฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีเสถียรภาพขึ้น สำหรับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมมีเสถียรภาพ อัตราการว่างงานทรงตัวในระดับต่ำ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อชะลอลงจากไตรมาสก่อน

ส่วนค่าเงินบาทปรับแข็งขึ้นจากไตรมาสก่อน เป็นผลจากดุลการชำระเงินที่เกินดุลตามการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และการเข้ามาลงทุนโดยตรง และลงทุนในตลาดพันธบัตรของนักลงทุนต่างประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น