ธปท. เกาะติดเม็ดเงินไหลเข้า 2 เดือนแรกปี 56 ลงทุนตลาดบอนด์ 2.7 พันล้านดอลลาร์ และตลาดหุ้นแค่ 400 ล้านดอลลาร์ โดยพบสัญญาณเงินทุนไหลออกช่วงปลายเดือน ก.พ. พร้อมห่วงสินเชื่อภาคครัวเรือนขยายตัวสูงถึง 16.6 แซงที่สินเชื่อภาคธุรกิจขยายตัวเพียง 12.8% แต่ยังไม่เร่งตัวเพิ่มจนน่าห่วง พร้อมเกาะติดคุณภาพสินเชื่อและเอ็นพีแอล จับตากลุ่มรายได้น้อยความสามารถชำระหนี้ต่ำ
นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเดือนมกราคม 2556 โดยยอมรับว่า แข็งค่าขึ้น โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 29.82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เป็นผลมาจากเงินทุนไหลเข้า
แต่หากเทียบปริมาณเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในพันธบัตร และตลาดหุ้นช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ปีนี้ กับช่วงเดียวกันของปี 2555 พบว่า มีเงินทุนไหลเข้าน้อยกว่า โดยมีเงินทุนไหลเข้าทั้งสิ้น 3,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นการลงทุนในตลาดพันธบัตร 2,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการลงทุนในตลาดหุ้นเพียงกว่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับปีก่อนที่มีเงินทุนไหลเข้าทั้ง 2 ตลาด 3,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเริ่มเห็นสัญญาณการไหลออกบางส่วนในปลายเดือน ก.พ.
สำหรับปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ธปท.ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากสินเชื่อรถยนต์ และภาคครัวเรือนยังขยายตัวสูง โดยสินเชื่อภาคครัวเรือนขยายตัวถึงร้อยละ 16.6 ขณะที่สินเชื่อภาคธุรกิจขยายตัวเพียงร้อยละ 12.8 แต่โดยรวมยังไม่เร่งตัวเพิ่มขึ้นจนน่าห่วง ส่วนคุณภาพสินเชื่อ และปัญหาหนี้เสีย (NPL) ยังต้องจับตากลุ่มสินเชื่อภาคครัวเรือนของผู้ที่มีรายได้น้อย เนื่องจากมีความสามารถในการชำระหนี้ต่ำ
สำหรับภาวะเศรษฐกิจ และการเงินเดือนมกราคม 2556 พบว่า การใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งการบริโภค และการลงทุนยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2 จากเดือนก่อนหน้า ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 0.6 จากการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขยายกำลังการผลิต รวมทั้งการลงทุนในภาคก่อสร้างที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจอยู่ที่ 51.1 ดีขึ้นทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะคำสั่งซื้อในประเทศที่กลับมาเพิ่มขึ้นเหนือระดับ 50 เป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน
การส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีเสถียรภาพมากขึ้น โดยการส่งออกสินค้ามีมูลค่าเกือบ 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่าสูงถึง 20,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.4 เพิ่มขึ้นตามการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ยานยนต์ และทองคำ
ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 3.39 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าตามราคาพลังงาน และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.59 ตามราคาอาหารสำเร็จรูป