xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นโอเวอร์ฮีท!รอยาคลายร้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน - **เม็ดเงินต่างประเทศทะลักเข้าภูมิภาค ดันหุ้นไทยอยู่ในระดับ “โอเวอร์ฮีท” เทรดกันอยู่ที่ระดับ P/E 17 เท่า สูงสุดในรอบ 16 ปี วอลุ่มเทรดเฉลี่ยกว่า 50,000 ล้านบาท/วัน โบรกเกอร์ระบุ ราคาสูงเกินปัจจัยพื้นฐานที่คาดผลดำเนินงานบริษัทจดทะเบียนปีนี้เติบโต 16% กดดันให้ราคาหุ้นเริ่มแพงกว่า สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลยเซีย พร้อมคาดหวังภาครัฐออกมาตรการใหม่รับมือเม็ดเงินไหลเข้า ที่เชื่อว่าไม่ใช่มาตรการกันสำรอง30% แต่ท้ายสุดอาจได้เห็น 1,700 จุด**
**ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นมาแล้ว 129 จุด หรือ 9.31% จากวันสุดท้าย(28ธ.ค.)ของปี 2555 ที่ระดับ 1,391.93 จุด มาอยู่ที่ 1,521.52 จุด เมื่อวันศุกร์ที่ 15ก.พ. ภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 เดือน จากความร้อนแรงของกระแสเงินต่างประเทศที่ไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นแหล่งให้ผลตอบแทนระดับสูงทั้งในตลาดพันธบัตร และตลาดหุ้น**
และเมื่อวันที่ 14 ก.พ.ดัชนีหุ้นไทยขึ้นไปแตะจุดสูงสุดที่ 1,526.74 จุด สูงสุดในรอบ18ปี จาก1,753.73 จุด เมื่อวันที่ 4ม.ค.2537 ขณะที่วอลุ่มการซื้อขายเมื่อวันที่10ม.ค. อยู่ที่ระดับ 81,270.08 ล้านบาท ขยับเข้าใกล้วอลุ่มซื้อขายสูงสุด 94,062.05 ล้านบาท เมื่อวันที่ 23ม.ค.2549 เช่นกัน
ความร้อนแรงของเม็ดเงินที่ไหลเข้า ส่งผลต่อค่าเงินบาทของประเทศแข็งค่าขึ้น จนมีผลต่อผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ และนำไปสู่ความเห็นที่สวนทางของธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) และกระทรวงการคลัง ในเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อชะลอการไหลเข้าของเม็ดเงิน และช่วยผ่อนคลายการแข็งค่าของเงินบาท
อีกทั้ง การปรับตัวขึ้นเหนือคาดการณ์เป้าหมายทั้งปีของโบรกเกอร์สำนักต่างๆ เป็นผลให้หลายบริษัทปรับเพิ่มเป้าหมายหุ้นไทยปี2556 ใหม่ เช่น บล.ภัทร และ บล.โกลเบล็ก ปรับเพิ่มเป้าหมายมาอยู่1,700 จุด ใกล้เคียงสถิติสูงสุดที่ดัชนีเคยทำไว้เมื่อปี 2537 อย่างไรก็ตามหลายฝ่ายยังกังวลว่า นี่คือการเติบโตที่ไม่ได้มาจากปัจจัยพื้นฐานแท้จริง โดยพบว่าหุ้นกลุ่มหลักอย่างพลังงานราคาหุ้นยังปรับตัวต่ำกว่าตลาด
ขณะที่หุ้นกลุ่มในกลุ่มอื่นๆปรับสูงกว่าตลาดมาก โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มนอก SET 100 หลายหลักทรัพย์ที่ราคาปรับตัวสูงเกินพื้นฐาน จน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ต้องออกมาเตือนนักลงทุน ในการลงทุนหุ้นเหล่านั้น พร้อมปรับเกณฑ์แคชบาลานซ์ ขยายเวลาซื้อขายหุ้นที่ติดเกณฑ์ ด้วย บัญชีเงินสดเป็น 6 เพื่อสกัดความร้อนแรง หลังคนในวงการหลายรายออกมาเรียกร้องให้เพิ่มเกณฑ์ควบคุมหุ้นขนาดเล็ก เพราะมองว่ากำลังเข้าสู่ภาวะฟองสบู่ โดยเฉพาะกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง
ด้านภาครัฐ นาย กิติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ออกมาแสดงความเชื่อมั่นว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีสามารถควบคุมเรื่องดังกล่าวได้จากเครื่องมือที่มีอยู่ เช่นเดียวกับ นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. ที่มองว่าการซื้อขายยังอยู่ในภาวะปกติที่สามารถควบคุมได้ โดยไม่จำเป็นต้องออกมาตรการใดๆเพิ่ม เพียงแต่อยากเตือนนักลงทุนให้ระมัดระวัง รวมทั้งขอความร่วมมือกับโบรกเกอร์จัดทำบทวิเคราะห์หุ้นที่มีความร้อนแรงอย่างมีคุณภาพ ไม่ให้ราคาเป้าหมายสูงจนเกินไป และไม่ควรมีการเข้ามาแทรกแซงตลาด
ปัจจุบัน ยังไม่มีความชัดเจนว่าดัชนีหุ้นไทยจะปรับตัวเพิ่มขึ้นไปถึงไหน หรือจะมีการปรับฐานอย่างรุนแรงหรือไม่ จากแรงผลักดันทั้งภายในประเทศและนอกประเทศที่เกิดขึ้น ทำให้นักลงทุนเกิดคำถามว่า ควรที่จะหยุดลงทุน หรือเข้าลงทุนเพื่อทำกำไรต่อไป และสถานการณ์ในขณะนี้ ดัชนีหุ้นไทยเป็นอย่างไร
**นายกษมพนธ์ เหมนิลรัตน์ ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสและผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรี ** กล่าวว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นอื่นๆในภูมิภาค เพราะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากกระแสเงินไหลเข้า ซึ่งนักลงทุนต่างประเทศยังซื้ออย่างต่อเนื่อง ทำให้วอลุ่มเทรดต่อวันเกิน 50,000 ล้านบาท
“ภาพรวมตั้งแต่การปรับตัวเมื่อวันที่ 22พ.ย.55 จนถึงปัจจุบันพบว่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 19% โดยในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมปรับตัวสูงกว่าตลาด เช่น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวเพิ่ม 45% อิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้น 24% กลุ่มมีเดีย 28% กลุ่มธนาคาร 18% แต่หุ้นกลุ่มหลักอย่างกลุ่มพลังงาน กลับยังปรับขึ้นแค่13% จึงแนะนำทยอยสะสมหุ้นพลังงาน เพื่อรอราคาปรับตัวขึ้น และรอปันผล”
ทั้งนี้ สังเกตว่าการเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นไทยในปัจจุบัน เติบโตเกินเป้าหมายทั้งปีที่เคยคาดไว้ประมาณ 1,450 จุด และเป็นไปในลักษณะแรงเก็งกำไร จึงแนะนำนักลงทุนที่ต้องทำกำไรให้ขายออกเมื่อราคาปรับตัวขึ้น เพราะประเมินว่าในไตรมาส 2 และไตรมาส3 ดัชนีจะอยู่ลักษณะอ่อนตัว หลังปรับตัวขึ้นแรงมากในไตรมาส1
**“หุ้นไทยมีโอกาสขึ้นไปได้ถึง 1,700 จุด หรือจะเกิน 2,000 จุดก็ได้ แต่เป็นการปรับตัวที่เกินปัจจัยพื้นฐาน ทำให้มีความเสี่ยงสูงมาก มันแพงเกินไป โอเวอร์ฮีท หากประเมินจากการคาดการณ์ผลดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในปีนี้ที่คาดว่าจะเติบโต16% ตอนนี้เราเทรดกันที่P/E ประมาณ 17 เท่าสูงสุดในรอบ 16-17ปี และเริ่มที่จะแพงกว่าตลาดสิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลยเซีย ทำให้เชื่อว่าดัชนีน่าจะแตะเบรกลงมาบ้าง เพื่อรอเงินใหม่เข้ามา โดยอาจมีการหาจุดขายทำกำไร เพราะเมื่อP/E ลง1เท่า นั่นหมายถึงดัชนีอาจปรับลงถึง 100 จุด”
ส่วนประเด็นกระแสเงินไหลเข้าภูมิภาค ประเมินว่ายังมีอย่างต่อเนื่อง เพราะสหรัฐฯยังอัดฉีดเม็ดเงินเข้ามาในระบบประมาณ 85,000 ล้านเหรียญ/เดือน เพื่อเข้ามาซื้อบอนด์ และตราสารหนี้ จนกว่าอัตราการว่างงานของประเทศจะลดลงต่ำกว่า7% แต่เมื่ออัตราการว่างงานลดลงไปอยู่ระดับที่น่าพอใจก็มีความเป็นได้ที่จะเกิดแรงเทขายเพื่อดึงเงินกลับ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง**
ขณะที่ ความเห็นที่สวนทางระหว่าง ธปท. และกระทรวงการคลังต่อการรับมือเม็ดเงินต่างประเทศที่ไหลเข้ามา ก็ถือเป็นปัจจัยด้านจิตวิทยาต่อนักลงทุนในเรื่องความเชื่อมั่น หลังจากฝั่งหนึ่งไม่ต้องการลดดอกเบี้ยเพราะกังวลอาจเกิดฟองสบู่ กับอีกฝ่ายต้องการอัตราดอกเบี้ย จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับสูง เพื่อลดความร้อนแรง
อย่างไรก็ตามเชื่อว่า ภาครัฐจะมีมาตรการใหม่ออกมารับมือเรื่องดังกล่าว ซึ่งมั่นใจว่าจะไม่ใช่มาตรการกันสำรอง30% เหมือนในอดีต เพราะหากเกิดขึ้นจริงจะมีผลให้ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงอย่างรุนแรง นอกจากนี้ ในการควบคุมความร้อนแรงของหุ้นขนาดเล็ก ตลาดหลักทรัพย์ก็ดำเนินมาตรการอย่างต่อเนื่อง ทั้งการขยายเวลาแคลชบาลานซ์ การเตือนนักลงทุนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะหุ้นเฟ้อ
**โดยสรุป ความร้อนแรงของเม็ดเงินต่างประเทศที่ไหลเข้า และการปรับขึ้นของราคาหุ้นขนาดเล็กที่เกินปัจจัยพื้นฐาน ถือปัจจัยบวกที่ผลักดันดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสปรับต่อขึ้นต่อไปอย่างมีความเสี่ยงที่อาจถูกปรับฐานลงอย่างรุนแรงเมื่อเกิดการดึงเม็ดเงินกลับ หรือภาวะฟองสบู่แตกในหุ้นขนาดเล็ก สิ่งที่จะบรรเทาหรือควบคุมร้อนแรงเหล่านี้ได้หนีไม่พ้นมาตรการภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ต้องไม่ใช่ยาแรง จนเกิดอาการช็อค! เพราะจะเข้าทางเจ้ามือทั้งหัวดำหัวเผือก**
กำลังโหลดความคิดเห็น