ทูตพาณิชย์สหรัฐฯ เผย ส.ว.ลุยเซียนาผลักดันร่างกฎหมายห้ามนำเข้ากุ้งจากประเทศที่มีโรค EMS ระบาดเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมกุ้งในประเทศ คาดกฎหมายผ่านส่งออกกุ้งไทยอ่วมแน่ เหตุสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกหลัก แนะผู้เกี่ยวข้องเร่งรับมือ
นางพิไล ศิริพานิช ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครลอสแองเจลิส สหรัฐฯ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้สมาชิกวุฒิสภารัฐลุยเซียนา พยายามผลักดันร่างกฎหมายห้ามนำเข้ากุ้งจากประเทศที่มีการปนเปื้อนของโรคตายด่วน หรือ Early Mortality Syndrome-EMS ซึ่งระบาดในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งไทย แต่ที่ประชุมสมาชิกวุฒิสภามีมติให้นำร่างกฎหมายดังกล่าวกลับไปศึกษาเพิ่มเติม และทำประชาพิจารณ์กับผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างน้อยหนึ่งครั้งก่อน จากนั้นจึงเสนอให้ที่ประชุมสมาชิกวุฒิสภาพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ การเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากรัฐลุยเซียนา วิตกกังวลต่อกุ้งนำเข้าเป็นอย่างมาก เพราะส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศที่เกิดการระบาดของโรค EMS และมีหลายประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ เม็กซิโก ได้ห้ามนำเข้ากุ้งจากหลายประเทศในเอเชียที่มีโรคนี้ระบาดแล้ว และยังต้องการปกป้องไม่ให้อุตสาหกรรมกุ้งในรัฐลุยเซียนาได้รับผลกระทบจากการนำเข้ากุ้งที่เพิ่มขึ้นในทุกปี หากกฎหมายดังกล่าวผ่านความเห็นชอบ และมีผลบังคับใช้ อุตสาหกรรมกุ้งและผู้ผลิตกุ้งในรัฐลุยเซียนาจะได้รับประโยชน์ในทันที
อย่างไรก็ตาม สมาคมผู้ประกอบการร้านอาหารในรัฐลุยเซียนามีความเห็นแย้งว่ากฎหมายฉบับนี้รุนแรงเกินไป เพราะในปี 2555 สหรัฐฯ มียอดนำเข้ากุ้งประเภทต่างๆ รวมเป็นมูลค่าถึง 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ่นำเข้าจากผู้ผลิตรายใหญ่ ทั้งไทย จีน มาเลเซีย เวียดนาม อินเดีย เอกวาดอร์ ซึ่งการห้ามนำเข้าจากประเทศที่มีการระบาดของโรค EMS ทั้งไทย จีน มาเลเซีย และเวียดนาม อาจทำให้มีปริมาณกุ้งไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค และจะทำให้ราคากุ้ง รวมถึงอาหารอื่นๆ ที่มีกุ้งเป็นส่วนประกอบเพิ่มสูงขึ้นมาก
“ไทยถือเป็นผู้ส่งออกกุ้งรายใหญ่อันดับ 1 ในตลาดสหรัฐฯ หากกฎหมายห้ามนำเข้ากุ้งจากประเทศที่มีการระบาดของโรคตายด่วนมีผลบังคับใช้จะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกไทยโดยตรง เพราะในปัจจุบันบางพื้นที่ของไทยและผลผลิตบางส่วนยังไม่สามารถหยุดยั้งการระบาดของโรคนี้ได้ อีกทั้งกฎหมายนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้เลี้ยงกุ้ง และผู้ผลิตรายอื่นของไทยที่ผลผลิตไม่มีปัญหาด้วย ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องหาทางแก้ปัญหานี้โดยเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบ” นางพิไลกล่าว
ทั้งนี้ ในปี 2555 สหรัฐฯ นำเข้ากุ้งแช่แข็งจากไทย 77.37 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 665 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 20% ของการนำเข้าทั้งหมดของสหรัฐฯ และยังนำเข้าผลิตภัณฑ์กุ้งมูลค่าเพิ่ม 55.44 ล้านกิโลกรัม มูลค่า 506 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 50% ของการนำเข้าทั้งหมดของสหรัฐฯ แต่ในช่วง 4 เดือนของปี 2556 (ม.ค.-เม.ย.) การนำเข้ากุ้งทั้ง 2 รายการจากไทยลดลงมาก โดยกุ้งแช่แข็งนำเข้าจากไทยเหลือ 153 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 21% มีส่วนแบ่งเหลือเพียง 15% โดยอินเดียขึ้นเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 แทน ส่วนผลิตภัณฑ์กุ้งนำเข้า 112 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 28% ส่วนแบ่งเหลือ 48% แต่ไทยยังเป็นเบอร์ 1 อยู่