ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ธปท.ระบุเศรษฐกิจภาคใต้ไตรมาสแรกของปีนี้ เศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวในอัตราชะลอลง เนื่องจากผลผลิตภาคการเกษตรที่ลดลง โดยเฉพาะยางพารา และกุ้งขาว ส่งผลให้รายได้เกษตรกร และมูลค่าการส่งออกลดลง แต่ภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวดี การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านอสังหาริมทรัพย์
นายพฤทธิพงศ์ ศรีมาจันทร์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจและการเงินของภาคใต้ ในไตรมาสแรกของปี 2556 พบว่า เศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวในอัตราชะลอลง สืบเนื่องจากผลผลิตภาคการเกษตรลดลง โดยเฉพาะยางพารา และกุ้งขาว ขณะเดียวกัน ราคาสินค้าเกษตรก็ลดลงตามราคายางพารา และปาล์มน้ำมันด้วย ส่งผลให้รายได้เกษตรกร และมูลค่าการส่งออกลดลง แต่อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมการผลิต การท่องเที่ยว การอุปโภคบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวอยู่ในระดับที่ดี โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ผลผลิตด้านการเกษตร : ลดลงร้อยละ 1.1 เนื่องจากผลผลิตยางพาราลดลงจากสภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย และกุ้งขาวประสบปัญหาโรคระบาด EMS (Early Mortality Syndrome) หรือโรคตายด่วน ทำให้มีปริมาณกุ้งขาวในตลาดน้อย ขณะเดียวกัน ราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญลดลงร้อยละ 18.8 ตามราคายางพารา และปาล์มน้ำมันที่ลดลง เนื่องจากปริมาณสต๊อกอยู่ในระดับสูง และราคาตลาดโลกที่ลดลงตามราคาซื้อขายล่วงหน้า ส่งผลให้รายได้เกษตรกรโดยรวมลดลงร้อยละ 19.7 แม้ว่าราคากุ้งขาวจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 19.6 ก็ตาม
การผลิตภาคอุตสาหกรรม : ขยายตัวต่อเนื่อง ดัชนีผลผลิตด้านอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 โดยอุตสาหกรรมอาหารทะเลกระป๋องเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 26.2 จากไตรมาสก่อน ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.2 ทั้งนี้ เนื่องมาจากความต้องการของตลาดตะวันออกกลาง ประกอบกับสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป เริ่มมีคำสั่งซื้อมากขึ้น รวมทั้งอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นจากปริมาณวัตถุดิบที่เข้าสู่โรงงานมากขึ้น นอกจากนี้ การผลิตยางแปรรูปลดลงจากการขาดแคลนกุ้งขาว ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการแปรรูป
ด้านการท่องเที่ยว : ยังขยายตัวสูงถึงร้อยละ 16.7 ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว การเพิ่มเที่ยวบิน และการเปิดเส้นทางบินจากต่างประเทศมายังแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทั้งฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน ส่งผลให้อัตราการเข้าพักอยู่ที่ร้อยละ 71.2 โดยนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นเป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน รัสเซีย และมาเลเซีย
ด้านการบริโภคและการลงทุน : ขยายตัวดี จากรายได้การท่องเที่ยว และการผลิตที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนีอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 5.3 ตามการขยายตัวของเครื่องชี้ในเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเร่งตัวสูงขึ้นร้อยละ 11.6 จากที่ลดลง 3.3 ในไตรมาสก่อน ยกเว้นการจำหน่วยรถจักรยานยนต์ที่ลดลงตามรายได้เกษตรกร ส่วนการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 15.0 โดยเฉพาะยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ ซึ่งเพิ่มขึ้นตามภาคก่อสร้างที่ยังขยายตัวได้ดี มีพื้นที่ก่อสร้าง และการสร้างที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น
การส่งออกและนำเข้า : มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 3.6 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนซึ่งลดลงร้อยละ 12.7 เนื่องจากการส่งออกอาหารทะเลกระป๋อง และไม้ยางพาราแปรรูปเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การส่งออกยางพารา สัตว์น้ำ และถุงมือยาง ยังคงลดลง
สำหรับการนำเข้า มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.5 ชะลอลงตามการนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์ ซึ่งได้มีการนำเข้ามามากในไตรมาสก่อน ขณะเดียวกัน มูลค่าการนำเข้าสัตว์น้ำเร่งตัวสูงขึ้น
ด้านสินเชื่อ : เงินให้สินเชื่อขยายตัวร้อยละ 25.0 ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น รถยนต์คันแรก และบ้านหลังแรก ที่สิ้นสุดโครงการเมื่อเดือนธันวาคม 2555 ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะสินเชื่ออุปโภคบริโภค สำหรับเงินฝากขยายตัวร้อยละ 7.1 ชะลอลงจากร้อยละ 13.1 ในไตรมาสก่อน เนื่องจากมีการนำเงินฝากไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และสินทรัพย์อื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า
ด้านการจัดเก็บภาษี : มีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 ตามการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้นิติบุคคลของสรรพากรเป็นสำคัญ ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณของส่วนราชการลดลงร้อยละ 6.1 ตามการลดลงของเงินอุดหนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
อัตราเงินเฟ้อ : อยู่ที่ร้อยละ 3.05 ซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบ 29 เดือน โดยชะลอลงจากร้อยละ 3.49 ในไตรมาสก่อน ตามราคาสินค้าในหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ที่ชะลอลงเนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น
สำหรับการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 นี้ นายพฤทธิพงศ์ ศรีมาจันทร์ กล่าวว่า เศรษฐกิจจะชะลอตัว ผลผลิตภาคการเกษตรและราคาสินค้าเกษตรจะชะลอลง แต่การท่องเที่ยวยังปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนการใช้จ่ายภาคเอกชนก็ชะลอลงเช่นกัน ทั้งนี้ มีปัจจัยเสี่ยงมาจากเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน ประกอบกับความผันผวนของค่าเงินบาท และการอ่อนค่าเงินในประเทศคู่ค้า รวมทั้งปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และโรคระบาด เช่น ไข้หวัดนก เป็นต้น