xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เลี้ยงกุ้งสงขลาหวั่นโรค EMS ระบาดหนัก เสียหายแล้วกว่า 80%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งใน จ.สงขลา กว่า 500 ราย ประสบปัญหาโรคกุ้งตายด่วน หรือโรค EMS ทำให้ชะลอการเลี้ยงกุ้ง ส่งผลให้ผลผลิตกุ้งใน จ.สงขลา ที่เคยมีปีละ 5 หมื่นตัน เสียหายแล้วกว่า 80%

นายกาจบัณฑิต รามมาก ประธานชมรมเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ปัจจุบัน เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งใน จ.สงขลา กำลังประสบปัญหาเรื่องโรคกุ้งตายด่วน หรือโรค EMS ซึ่งภาคใต้เริ่มประสบปัญหาตั้งแต่เดือนกันยายน 2555 เป็นต้นมา เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งใน จ.สงขลา กว่า 500 ราย ประสบปัญหา และแจ้งความเสียหายต่อทางภาครัฐ ซึ่งอยากเรียกร้องให้ทางภาครัฐเข้ามาดูแลช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งที่ได้รับผลกระทบจากโรคกุ้งตายด่วน หรือโรค EMS

จากสถานการณ์กุ้งตายด่วน หรือโรค EMS ทำให้เกษตรกรไม่มีความมั่นใจในการลงกุ้ง ผลผลิตกุ้งใน จ.สงขลา ที่เคยมีปีละ 5 หมื่นตัน ณ วันนี้ เกษตรกรที่ลงกุ้งไปแล้วเสียหายไปกว่า 80% ผลผลิตเหลืออยู่เพียง 20% เท่านั้น และหากยังอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ ธุรกิจต้นน้ำไม่สามารถเลี้ยงกุ้งได้ อุตสาหกรรมกลางน้ำ และปลายน้ำก็จะมีปัญหา กระทบต่ออุตสาหกรรมกุ้ง เนื่องจากเกษตรกรไม่มีความมั่นใจ

ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เกษตรผู้เลี้ยงกุ้งในภาคใต้จะลงกุ้งกันเยอะมาก แต่ในขณะนี้มีเกษตรกรลงกุ้งไปเพียง 20% เท่านั้น เนื่องจากไม่มีความมั่นใจในการดูแลรักษาว่าสาเหตุจากโรคตายด่วน EMS เกิดจากอะไรกันแน่ เพราะทางภาครัฐเองก็ยังไม่สามารถระบุได้ นักวิจัย และนักศึกษาค้นคว้าก็ไม่ฟันธงว่ามาจากปัจจัยใด นี่คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อุตสาหกรรมกุ้งล้มเหลว

ในส่วนของกรมประมง จากสถานการณ์การเกิดปัญหาเนื่องจากกลุ่มอาการตายด่วน Early Mortality Syndrome : EMS ของกุ้งทะเลในประเทศไทย ปี พ.ศ.2555 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยได้ส่งผลกระทบต่อวงการอุตสาหกรรมกุ้งของไทยอย่างมาก แม้จะยังไม่สามารถชี้ชัดถึงสาเหตุที่แท้จริงได้ว่าเกิดจากปัจจัยใด แต่เพื่อเป็นการป้องกันและลดโอกาสในการแพร่กระจายในวงกว้าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง จึงได้ให้ความสำคัญในการควบคุมความเสียหายที่เกิดจากกลุ่มอาการดังกล่าว เพื่อช่วยลดผลกระทบให้แก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเล รวมถึงปกป้องภาพรวมของผลผลิตอุตสาหกรรมกุ้งไทยด้วย

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้มีการบูรณาการความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อติดตามสถานการณ์เฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องทั้งระบบ โดยกรมประมงเดินสายจัดสัมมนาเชิงวิชาการในหัวข้อ “รวมพลังยับยั้ง EMS” หนุนสร้างภูมิคุ้มกันให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเล ทั้งฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน ลุยวางแนวทางร่วมกันเพื่อช่วยปกป้องอุตสาหกรรมกุ้งของไทยให้สามารถยืนหยัดในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืนต่อไป

จากการสำรวจของกรมประมงพบว่า ในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งทะเลอ่าวไทยมีการเลี้ยงกุ้งทะเล จำนวน 6 จังหวัด และในส่วนของฝั่งอันดามันมีการเลี้ยงกุ้งทะเล จำนวน 6 จังหวัด รวมผลผลิตการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลในเขตพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมดประมาณ 376,000 ตัน คิดเป็น 79% ซึ่งเป็นแหล่งผลิตกุ้งแหล่งใหญ่ของไทย
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น