ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือไตรมาสแรก ปี 56 “บริโภค-ลงทุน-ใช้จ่ายภาครัฐ” ชะลอตัว ท่องเที่ยวไปได้สวย ได้อานิสงส์นักท่องเที่ยวจีน จับตาตลาดอสังหาฯ เหตุสินเชื่อพุ่ง หวั่นเกิดฟองสบู่ ด้านอีสานขยายตัวขึ้น แต่ชะลอตัวจากไตรมาสก่อน เหตุนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนการใช้จ่ายสิ้นสุดแล้ว แต่ก่อสร้างในเขตเทศบาลยังขยายตัว ส่วนภาคใต้ ชะลอตัวลง เหตุผลผลิตภาคเกษตร และราคาลดลง รายได้เกษตรกรหด แต่ภาคอุตสาหกรรม-ท่องเที่ยวขยายตัว
“ภาคเหนือ” ได้อานิสงส์ทัวร์จีนท่องเที่ยวขยายตัว
วันนี้ (2 พ.ค.) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ นางสุภาวดี ปุณศรี ผู้อำนวยการอาวุโส แถลงภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือ และแนวโน้มช่วงเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี 2556 ว่า การบริโภค การลงทุน และการใช้จ่ายภาครัฐชะลอตัว โดยการบริโภคลดเหลือร้อยละ 5.4 ในเดือนนาคม และหมวดยานยนต์ชะลอตัวชัดเจนที่สุด เป็นผลจากมาตรการรถคันแรกสิ้นสุดลง ขณะที่การเบิกจ่ายของภาครัฐชะลอตัวลงร้อยละ 21.1 เป็นผลจากการที่ระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมา มีการเร่งเบิกจ่ายสูง ส่วนด้านการลงทุน แม้จะขยายตัวร้อยละ 6.2 แต่การจำหน่ายวัสดุก่อสร้างชะลอลงมากเช่นกัน
ด้านการส่งออกมีมูลค่า 405.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 1.4 โดยเฉพาะการค้าชายแดน แต่การส่งออกช่องทางอื่น และนำเข้ายังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง ภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับทรงตัว โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 3.1 มีเพียงอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าเกษตรที่ยังขยายตัวได้
นอกจากนี้ ผลผลิตสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 6.9 เพราะได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำน้อย และอากาศร้อน แม้ว่าราคาจะยังไม่ปรับลดลงก็ตาม ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวเติบโตดีอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากการที่นักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามาจำนวนมาก
สำหรับอัตราเงินเฟ้อพบว่าชะลอตัวลง โดยเดือนนาคม ลดลงเหลือร้อยละ 2.28 ส่วนอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.2 ขณะที่สินเชื่อขยายตัวร้อยละ 19.1 เงินฝากขยายตัวร้อยละ 19.4 ซึ่งในภาพรวมถือว่าเสถียรภาพของภาคเหนือยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี
จับตา “อสังหาริมทรัพย์” หวั่นเกิดภาวะ “ฟองสบู่”
นางสุภาวดี กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มของเศรษฐกิจภาคเหนือ คาดว่าการลงทุนจะยังขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่เงินที่ได้รับคืนจากมาตรการรถคันแรก จะช่วยกระตุ้นการบริโภคได้อีกทางหนึ่ง เช่นเดียวกับภาวะทางการเงินที่ผ่อนคลาย ซึ่งช่วยสนับสนุนการใช้จ่าย นอกจากนี้ รายได้จากภาคเกษตรกรจะยังอยู่ในเกณฑ์ดีจากการที่ภาครัฐมีมาตรการสนับสนุน เช่นเดียวกับการท่องเที่ยว จะยังเติบโตทั้งจากปริมาณนักท่องเที่ยวจีน และโอกาสจากการเปิดศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ ส่วนปัจจัยที่อาจมีผลกระทบ คือ ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นักลงทุน และการปรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
นางสุภาวดี ยังกล่าวถึงการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ และสินเชื่อที่อยู่อาศัยของ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วว่า เป็นผลมาจากการเติบโตของเมือง และการลงทุนที่เปิดโครงการเป็นจำนวนมาก ซึ่ง ธปท.ได้ติดตามดูอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีความเสียงที่อาจจะเกิดภาวะฟองสบู่ได้ อย่างไรก็ตามจากทิศทางการลงทุนที่เริ่มชะลอตัวลง คาดว่าอัตราสินเชื่อจะปรับตัวลดลง แต่ต้องจับตาดูด้วยว่าการลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นการซื้อเพื่ออยู่อาศัยอย่างแท้จริง หรือเป็นการเก็งกำไร
“อีสาน” ได้ “ก่อสร้าง” ในเขตเทศบาลช่วยแต่ไม่มาก
ดร.พิชิต ภัทรวิมลพร ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท. สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาส 1 ปี 2556 ขยายตัว เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอตัวจากไตรมาสก่อน เป็นผลจากนโยบายภาครัฐที่มีส่วนช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายของภาคเอกชน สิ้นสุดลงเมื่อเดือนธันวาคม 2555 ทำให้การบริโภคของประชาชนชะลอลง เห็นได้จากภาคการค้าที่ชะลอตัวลงในหมวดรถยนต์เป็นสำคัญ ขณะที่หมวดอื่นยังขยายตัวดี ทั้งหมวดอาหารและเครื่องดื่ม วัสดุก่อสร้าง และน้ำมันเชื้อเพลิง
การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนแรงงาน แต่พื้นที่ขอรับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลยังขยายตัว โดยเฉพาะการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ โรงแรม และห้องประชุมใน จ.นครราชสีมา จ.หนองคาย และ จ.ขอนแก่น
การใช้จ่ายของภาครัฐลดลงจากงบประจำ เนื่องจากมีการเร่งใช้จ่ายในช่วงก่อนหน้า แต่งบลงทุนยังขยายตัวสูง อย่างไรก็ตาม รายได้ของภาคเกษตรกรทรงตัว โดยราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ และมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น แต่ราคาอ้อยโรงงาน และยางพาราลดลง
สำหรับสินเชื่อของสถาบันการเงิน ยังขยายตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อบริโภคส่วนบุคคล ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 1 ปี 2556 เท่ากับร้อยละ 3.23 ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน
“ภาคใต้” ผลผลิตเกษตร-ราคาลดลงส่งผล ศก.หดตัว
นายพฤทธิพงศ์ ศรีมาจันทร์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท. สำนักงานภาคใต้ จ.สงขลา กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ ไตรมาสที่ 1 ปี 2556 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง จากผลผลิตภาคเกษตรลดลงร้อยละ 1.1 เนื่องจากผลผลิตยางลดลงจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย และกุ้งขาวประสบปัญหาโรคระบาด ขณะเดียวกัน ราคาสินค้าเกษตรสำคัญลดลงร้อยละ 18.8 ตามราคายาง และปาล์มน้ำมันที่ลดลงจากปริมาณสต๊อกระดับสูง และราคาตลาดโลกที่ลดลงตามราคาในตลาดซื้อขายล่วงหน้า แม้ว่าราคากุ้งขาวจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 19.6 ก็ตาม ส่งผลให้รายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 19.7
ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่อง ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 อุตสาหกรรมอาหารทะเลกระป๋องเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.2 จากไตรมาสก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.2 ตามความต้องการของตลาดตะวันออกกลาง ประกอบกับสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป เริ่มมีคำสั่งซื้อมากขึ้น รวมทั้งอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม เพิ่มขึ้นจากปริมาณวัตถุดิบเข้าสู่โรงงานมากขึ้น นอกจากนี้ การผลิตยางแปรรูป และถุงมือยางปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม อาหารทะเลแช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป ลดลงจากการขาดแคลนวัตถุดิบกุ้งขาวที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด
ขณะเดียวกัน การท่องเที่ยวยังขยายตัวสูงร้อยละ 16.7 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมท่องเที่ยว การเพิ่มเที่ยวบิน และเปิดเส้นทางบินจากต่างประเทศมายังแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ส่งผลให้อัตราการเข้าพักอยู่ที่ร้อยละ 71.2 โดยนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นเป็นนักท่องเที่ยวจากจีน รัสเซีย และมาเลเซีย สำหรับการบริโภคและการลงทุนขยายตัวดี จากรายได้การท่องเที่ยว และการผลิตเพิ่มขึ้น ประกอบกับความเชื่อมั่นเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนีอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 5.3 การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 จากที่ลดลงร้อยละ 3.3 ในไตรมาสก่อน ยกเว้นการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ลดลงตามรายได้เกษตรกร
ส่วนการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 15.0 โดยเฉพาะยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ เพิ่มขึ้นตามภาคก่อสร้างที่ยังขยายตัวดี
มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 3.6 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ลดลงร้อยละ 12.7เนื่องจากส่งออกอาหารทะเลกระป๋อง และไม้ยางแปรรูปเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การส่งออกยางพารา สัตว์น้ำ และถุงมือยางยังคงลดลง สำหรับการนำเข้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.5 ชะลอลงตามการนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์ ซึ่งได้มีการนำเข้ามากในไตรมาสก่อน
สำหรับสินเชื่อขยายตัวร้อยละ 25.0 เป็นผลต่อเนื่องจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ รถยนต์คันแรก บ้านหลังแรก ที่สิ้นสุดโครงการเมื่อธันวาคม 2555 ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะสินเชื่ออุปโภคบริโภค สำหรับเงินฝากขยายตัวร้อยละ 7.1 ชะลอลงจากร้อยละ 13.1 ในไตรมาสก่อน เนื่องจากมีการนำเงินฝากไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และสินทรัพย์อื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า
ยังหวังท่องเที่ยวช่วยดันเศรษฐกิจขยายตัว ไตรมาส 2
รายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 ตามการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้นิติบุคคลของสรรพากร ขณะที่การเบิกจ่ายเงินงบประมาณภาครัฐลดลงร้อยละ 6.1 ตามการลดลงของเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้านอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 3.05 ชะลอลงจากร้อยละ 3.49 ในไตรมาสก่อน ตามราคาสินค้าในหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ที่ชะลอลงจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 4.12 ชะลอลงจากไตรมาสก่อน ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.79
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจภาคใต้ ไตรมาส 2 ปี 2556 เศรษฐกิจยังชะลอตัว เช่นเดียวกับการผลิต และราคาชะลอลง ส่วนการท่องเที่ยวขยายตัว การใช้จ่ายภาคเอกชนชะลอตัว โดยมีปัจจัยเสี่ยง คือ ภาวะเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอน ความผันผวนของค่าเงินบาท และการอ่อนค่าเงินในประเทศคู่ค้า ปัญหาความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ และโรคระบาด เช่น ไข้หวัดนก