xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” นำทีมค้านขึ้น LPG ชี้ มีทางแก้ไม่กระทบครัวเรือน-ยานยนต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เครือข่ายภาค ปชช.รณรงค์ตอกย้ำภาครัฐให้ข้อมูลบิดเบือนการขึ้นราคาก๊าช LPG พร้อมเรียกร้องให้ทบทวนบทบาท “รสนา” ซัดเอาเงินจากกองทุนน้ำมันไปชดเชยให้ปิโตรเคมีทำราคาแพงยับ ชี้ถ้าขายก๊าซแอลพีจีให้ปิโตรเคมีในราคาเดียวกับที่กลุ่มอุตสาหกรรมรับอยู่ หนี้กองทุนน้ำมันจะหมดทันที โดยไม่ต้องมาขึ้นราคากับกลุ่มครัวเรือนและยานยนต์เลย

วันนี้ (20 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.พร้อมแนวร่วม เดินขบวนชุมนุมรณรงค์คัดค้านการขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี ที่บริเวณด้านหน้าอาคารซีพีทาวเวอร์ ถนนสีลม แขวงสีลม เขตบางรัก เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ได้รวมตัวกันอีกครั้ง ที่บริเวณหน้าอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยนำรถกระบะติดเครื่องขยายเสียง ชูแผ่นป้ายคัดค้าน ตอกย้ำภาครัฐให้ข้อมูลบิดเบือนการขึ้นราคาก๊าช LPG พร้อมเรียกร้องให้ทบทวนบทบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า วันเดียวกันนี้ น.ส.รสนา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว น.ส.รสนา โตสิตระกูล ชี้ให้เห็นถึงปริมาณการใช้ก๊าซในประเทศไทย ดังนี้


ภาพที่นำมาแสดง เป็นปริมาณการใช้ก๊าซแอลพีจีใน 4 กลุ่ม และปริมาณด้านการจัดหาจาก 3 แหล่งดังนี้

กลุ่มที่ใช้ 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) ครัวเรือนใช้ 2.6ล้านตัน 2) กลุ่มยานยนต์ใช้ 9 แสนตัน 3) กลุ่มอุตสาหรรรม ปิโตรเคมีใช้ 2.4 ล้านตัน 4) กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วไปใช้ 7 แสนตัน

การจัดหามาจาก 3 แหล่ง ได้แก่ 1) โรงแยกก๊าซ จากก๊าซในประเทศ 3.5 ล้านตัน 2) โรงกลั่นน้ำมัน 1.9 ล้านตัน 3) นำเข้า 1.4 ล้านตัน

ปริมาณที่ครัวเรือน และ ยานยนต์ ใช้รวมกัน 3.5 ล้านตัน ที่เป็นปริมาณที่ผลิตได้จากโรงแยกก๊าซ 3.5 ล้านตันพอดี

ถ้ารัฐจะกำหนดนโยบายให้ประชาชนในกลุ่มครัวเรือน และยานยนต์ได้ใช้ก๊าซที่ผลิตได้จากทรัพยากรในประเทศในราคาในประเทศ และให้อุตสาหกรรมทั้งอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมทั่งไป ใช้จากโรงกลั่น และถ้าไม่พอก็นำเข้าและรับราคาตลาดโลกไปเอง

ถ้ารัฐบาลกำหนดนโยบายเช่นนี้ จะไม่เดือดร้อนประชาชนในกลุ่มครัวเรือน และยานยนต์

ปิโตรเคมีใช้ก๊าซแอลพีจีในปี 2554 จำนวน 2.4 ล้านตัน ในราคา 16.20 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนอุตสาหกรรมทั่วไป ใช้เพียง 7 แสนตัน แต่ต้องรับในราคา 24.86 บาทต่อกิโลกรัม และในปี2555 ราคาขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 30 บาท

การที่มีดินพอกหางหมูก็มาจากการเอาเงินจากกองทุนน้ำมันไปชดเชยให้ปิโตรเคมี และเป็นกลุ่มที่ไม่เคยมีการเอ่ยถึงว่ามีส่วนในการทำให้เกิดดินพอกหางหมูเลย

ปัจจุบันกองทุนน้ำมันมีหนี้อยู่ 15,000-16,000 ล้านบาท ถ้าขายก๊าซแอลพีจีให้ปิโตรเคมีในราคาเดียวกับที่กลุ่มอุตสาหกรรมรับอยู่ ก็ต้องขึ้นมาอีกกิโลละ 8.65 บาท คูณกับ 2,400 ล้านกิโลกรัม ก็จะได้เงินเพิ่มมา 20,760 ล้านบาท หนี้กองทุนน้ำมันจะหมดไปทันที โดยไม่ต้องมาขึ้นราคากับกลุ่มครัวเรือนและยานยนต์เลย

เมื่อเวลาประมาณ 22.00 น.น.ส.รสนา โพสต์ข้อความต่อว่า เพิ่งได้ข้อมูลของสำนักนโยบายและแผน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ที่ลงวันที่ 19/12/'55 เมื่อวานนี้เอง



ราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนปี'56 กำหนดไว้ที่ราคา 24.82 บาท ปี'57 กำหนดไว้ที่ราคา 36.35 บาทต่อกิโลกรัม

ส่วนปิโตรเคมีเอกสารระบุว่า ให้ผู้ซื้อผู้ขายไปตกลงกันเอง โดยใช้ราคา Netback ของราคาเม็ดพลาสติคในตลาดโลก ซึ่งคือราคากิโลกรัมละ 16.20 บาท การใช้ราคาแอลพีจีแบบ Netback จะใช้ได้ต่อเมื่อมีแอลพีจีล้นเกิน ในเมื่อต้องนำเข้าแอลพีจีในราคาตลาดโลก จะไปคิดราคา 16.20 บาทต่อกิโลกรัม ได้อย่างไร ส่วนต่างที่ขาดหายไป ใครเป็นคนจ่าย?

ตารางอีกรูปที่แสดงปริมาณการใช้แอลพีจีของ สนพ.ในปี'55 อุตสาหกรรมทั่วไปใช้ลดลงเหลือ 8% จากเดิม 11% (เพราะหลายโรงงานคงต้องปิดกิจการเพราะสู้ต้นทุนไม่ไหว) แต่ต้องรับราคาก๊าซแอลพีจี ที่ 30.13บาทต่อกิโลกรัม แต่ปิโตรเคมีใช้ 35% (ตามตัวเลขของ สนพ.) ได้ราคา 16.20 บาทต่อกิโลกรัม

ถ้าประชาชนไม่ตื่นตัว ไม่ส่งเสียง ไม่คัดค้าน ก็เตรียมรับราคา “ตลาดโลภ” เพราะ ปตท.มีจุดมุ่งหมายเพิ่มกำไรอย่างน้อยปีละ 20,000 ล้านบาท เมื่อปริมาณการใช้ของประชาชนไม่เพิ่มขึ้น กำไรจะเพิ่มได้ด้วยการขึ้นราคาจากผู้ใช้เท่านั้น














กำลังโหลดความคิดเห็น