xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ชี้เศรษฐกิจใต้ไตรมาส 3/2556 รายได้เกษตรกรหดตัวแต่ดีขึ้นกว่าไตรมาสก่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ธปท.ชี้เศรษฐกิจใต้ไตรมาส 3/2556 ชะลอตัวลงต่อเนื่อง เผยปัญหาขาดแคลนกุ้งขาวยังกระทบอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและส่งออก ยาง และปาล์มน้ำมันยังราคาต่ำ รายได้เกษตรกรหดตัวแต่ปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ การท่องเที่ยวยังขยายตัวดี

 
นายพฤทธิพงศ์ ศรีมาจันทร์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ปี 2556 ชะลอลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน จากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบกุ้งขาว ส่งผลต่อการผลิตทั้งภาคเกษตร และอุตสาหกรรม ประกอบกับอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ยังคงชะลอตัวลง ทำให้การส่งออกและการลงทุนหดตัว อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวยังขยายตัวสูง ขณะที่รายได้เกษตรกรแม้จะยังหดตัวแต่ปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน สนับสนุนให้การบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัว ส่วนอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง เงินฝากและเงินใช้สินเชื่อชะลอตัวตามสภาวะเศรษฐกิจ

 
สำหรับสถานการณ์การขาดแคลนวัตถุดิบกุ้งขาวจากปัญหาโรคระบาด ยังคงส่งผลกระทบต่อการผลิตภาคเกษตร โดยดัชนีผลผลิตภาคเกษตรลดลงร้อยละ 6.5 โดยผลผลิตกุ้งที่ลดลงร้อยละ 53.8 ขณะที่ผลผลิตยาง และปาล์มน้ำมัน เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผลผลิตกุ้งที่ลดลงเป็นปัจจัยหนุนให้ราคากุ้งเร่งสูงขึ้นถึงร้อยละ 67.4

 
นอกจากนี้ ราคายาง และปาล์มน้ำมัน ลดลงร้อยละ 12.2 และ 26.2 ตามลำดับ จากแรงกดดันด้านอุปทาน และสต็อกโลกอยู่ในระดับสูง ประกอบกับอุปสงค์ชะลอลง ส่งผลให้ดัชนีราคาสินค้าเกษตร และดัชนีรายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 3.4 และ 9.7 ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปรับตัวดีขึ้น

ส่วนดัชนีผลผลิตอุสาหกรรมลดลงร้อยละ 3.5 ตามการผลิตอาหารทะเลแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป ที่ลดลงจากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบกุ้งขาว ขณะเดียวกันการผลิตถุงมือยาง และอาหารทะเลบรรจุกระป๋อง ลดลงตามคำสั่งซื้อที่ชะลอลงของประเทศคู่ค้าหลัก ประกอบกับสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง ส่งผลให้การส่งซื้อ และการมอบสินค้าสินค้าชะลอลง อย่างไรก็ดี การผลิตยางยังคงเพิ่มขึ้นตามความต้องการจากตลาดมาเลเซีย และอินเดีย ชดเชยกับตลาดหลักจีนที่ชะลอการสั่งซื้อ เนื่องจากสต็อกในประเทศยังอยู่ในระดับสูง ส่วนการผลิตไม้ยางพาราแปรรูปยังคงเพิ่มขึ้นตามความต้องการของจีน เพื่อรองรับภาคสังหาริมทรัพย์

แม้ด้านราคาสินค้าเกษตรแปรรูปจะปรับตัวสูงขึ้น แต่จากปริมาณการผลิตที่ลดลงในภาคอุตสาหกรรมส่งผลให้มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 2.4 โดยเฉพาะการส่งอออกอาหารทะเลแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป และอาหารทะเลบรรจุกระป๋อง นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อการลงทุนของผู้ประกอบการที่กังวลต่อกำลังซื้อที่ลดลงของครัวเรือน ส่งผลให้ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 4.6 สะท้อนจากการขออนุญาตพื้นที่ก่อสร้าง การจดทะเบียนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคล และการนำเข้าสินค้าลดลงมาก ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์มีความระมัดระวังในการให้สินเชื่อมากขึ้น

สำหรับดัชนีการอุปโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.9 แม้ว่าชะลอลงจากร้อยละ 3.3 ในไตรมาสก่อนตามการใช้จ่ายในหมวดยานยนต์ที่ลดลงทุกประเภท แต่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในหมวด ค้าปลีก ค้าส่ง และหมวดโรงแรมยังคงขยายตัว สอดคล้องกับการท่องเที่ยวที่อยู่ในเกณฑ์ดี โดยจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.1 จากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมทั้งการเพิ่มเที่ยวบิน และการขยายเส้นทางบินจากต่างประเทศมาภาคใต้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราการเข้าพักอยู่ที่ร้อยละ 59.6 สูงกว่าร้อยละ 58.7 ในไตรมาสเดียวกันปีก่อน

 
ส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณลดลงร้อยละ 11.6 ทั้งจากรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุน ขณะที่รายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 ตามการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นทั้งภาษีสรรพากร สรรพสามิต และศุลกากร อย่าไรก็ตาม การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลลดลงเล็กน้อย เป็นผลจากการปรับลดอัตราภาษีจากร้อยละ 23 เหลือร้อยละ 20 ของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2556

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวม อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 1.76 ชะลอจากร้อยละ 2.22 ในไตรมาสก่อน ตามการชะลอลงทั้งกลุ่มอาหารสด และพลังงาน โดยเฉพาะราคาผัก และผลไม้ ที่ลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ส่วนอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.2 เพิ่มจากร้อยละ 1.0 ในไตรมาสก่อน สอดคล้องกับจำนวนผู้เข้าประกันตนที่ชะลอลง

 
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจภาคใต้ ไตรมาส 4 ปี 2556 ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ กล่าวว่า เศรษฐกิจจะชะลอตัว การผลิตภาคเกษตร อุตสาหกรรม และการลงทุนคาดว่าลดน้อยลง การท่องเที่ยวและการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดีขึ้น ส่วนการส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นด้วย

ส่วนปัจจัยเสี่ยง มาจากภาวะเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยง โดยเฉพาะ ความไม่แน่นอนภาคการคลังของสหรัฐฯ ที่เสถียรภาพภาวะเศรษฐกิจการเงินโลก อีกทั้งความผันผวนของราคาน้ำมันดิบ และค่าเงินส่งผลต่อต้นทุนการผลิต รวมทั้งเสถียรภาพทางการเมือง และผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ก็ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจอีกด้วย
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น