xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออกเดี้ยง! ธปท. ส่งสัญญาณหั่นเป้า “จีดีพี” ปี 56 ตัวเลข ศก. เดือน ก.ค.-ส.ค. ขยายตัวน้อยกว่าที่คาดไว้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ส่งออกเดี้ยง! ธปท.เตรียมหั่นเป้า “จีดีพี” ปี 56 ใหม่ 25 ต.ค.นี้ ต่ำกว่าเดิมที่คาด 4.2% พร้อมยอมรับตัวเลข ศก. เดือน ก.ค.-ส.ค. ขยายตัวน้อยกว่าที่คาดไว้ แถมยังมีปัจจัยเสี่ยงรุมทั้งในประเทศ-ต่างประเทศ แต่ยังลุ้นโค้งสุดท้าย “ส่งออก” อาจพลิกโงหัวขึ้นได้

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงินสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.เตรียมปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2556 ใหม่ในวันที่ 25 ตุลาคม 2556 นี้ โดยจะโตต่ำกว่าประมาณการเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.2 เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจเดือนกรกฎาคม และสิงหาคมขยายตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์ รวมทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายด้านทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เช่น ความชัดเจนของมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือคิวอีของสหรัฐฯ รวมทั้งเศรษฐกิจยุโรปที่แม้ว่าภาพรวมจะดีขึ้น แต่ประเทศสมาชิกหลายประเทศยังไม่มีทิศทางดีขึ้น และการใช้จ่ายของภาครัฐที่ต้องเร่งกระตุ้นเนื่องจากการเบิกจ่ายงบประมาณร่ายจ่ายประจำปี 2556 ต่ำกว่าเป้าที่วางไว้

ส่วนการที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2557 ยังไม่สามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ มองว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจมาก เพราะรัฐบาลยังสามารถใช้งบประจำได้ตามปกติ และที่ผ่านมา งบประมาณรายจ่ายประจำก็เคยมีผลบังคับใช้ล่าช้า และรัฐบาลยังสามารถเร่งเบิกจ่ายงบในช่วงที่เหลือได้เมื่องบประมาณรายจ่ายมีผลบังคับใช้

สำหรับภาวะเศรษฐกิจเดือนสิงหาคม เริ่มทรงตัวจากเดือนก่อน โดยระดับการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 0.6 จากระยะเดียวกันของปีก่อน ตามการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัว ส่วนการลงทุนภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 4 ตามการหดตัวของการนำเข้าเครื่องจักร และอุปกรณ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในปัจจุบันปรับตัวลดลงเหลือ 47.5 จาก 48.3 ในเดือนกรกฎาคม ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 51.7 จาก 53.3 เนื่องจากผู้ผลิตชะลอการลงทุนเพื่อรอประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจ

ส่วนการส่งออกมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากความต้องการของต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 19,991 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 2.5 จากเดือนก่อนที่ติดลบร้อยละ 1.3 ซึ่งการส่งออกที่มีสัญญาณดีขึ้นทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 3.1 จากเดือนก่อนที่หดตัวถึงร้อยละ 4.9

ขณะที่เงินทุนเคลื่อนย้ายในเดือนสิงหาคม มีเงินต่างชาติไหลออก 4,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการขายพันธบัตร ธปท. 2,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และขายพันธบัตรรัฐบาล 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนที่เหลือ 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขายทำกำไรในตลาดหุ้น ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงอยู่ที่ 32.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น