xs
xsm
sm
md
lg

“รอมฎอน” นี้พิสูจน์ “พูดคุยสันติภาพ” จะเดินหน้าสู่การ “เจรจา” ดับไฟใต้ได้หรือไม่ / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
 
สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากการก่อความไม่สงบภายใต้การนำของขบวนการ “บีอาร์เอ็นโคออดิเนต” หรือ “บีอาร์เอ็น-ซี” ยังเป็นปัญหาหลักของประเทศไทย ที่สร้างความสูญเสียทั้งงบประมาณแผ่นดิน สูญเสียทั้งชีวิตของเจ้าหน้าที่และประชาชน สูญเสียทรัพย์ทั้งสินของของประชาชนและของรัฐไปเป็นจำนวนมหาศาล โดยเฉพะในรอบ 9 ปีที่เหตุความรุนแรงปะทุขึ้นมาใหม่และยืดเยื้ออย่างต่อเนื่อง
 
ดังนั้น การเปิดพื้นที่ “พูดคุยเพื่อสันติภาพ” ที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็น-ซี จึงเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจและความคาดหวังจากประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก
 

 
เนื่องจาก 9 ปีที่ผ่านมารัฐไทยมีนโยบายของการใช้กำลังทหารเป็นหลักในการแก้ปัญหา ซึ่งถูกมองว่าไม่ได้ผล และนับวันยิ่งสร้าง “แนวร่วม” ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนให้เติบใหญ่ยิ่งขึ้น ในขณะที่หลายประเทศในโลกกลมๆ ใบนี้ที่มีปัญหาการก่อการร้ายเพื่อแบ่งแยกดินแดนสามารถจบลงได้ และกำลังจะจบลงบนวิถีการ “พูดคุย” ก่อนที่จะมีการพัฒนาไปสู่การ “เจรจา” ในท้ายที่สุด
 
ในส่วนของรัฐไทยนั้น เริ่มใช้นโยบายการพูดคุยสันติภาพกับตัวแทนของบีอาร์เอ็น-ซีอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 และมีการพบปะพูดคุยของสองฝ่ายเป็นครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2556 หรือผ่านมาไม่กี่วันนี้เอง ซึ่งการพูดคุยที่ผ่านไปแล้ว 3 ครั้งส่วนใหญ่ตัวแทนบีอาร์เอ็น-ซีเป็นผู้ตำหนิรัฐไทยเกี่ยวกับเรื่องในอดีต ซึ่งแน่นอนว่าเป็นความผิดพลาดในอดีตจากผู้ปกครองที่เป็นเผด็จการทหาร รวมทั้งมีการยื่นข้อเสนอ 5 ข้อให้รัฐไทยยอมรับในสิ่งที่บีอาร์เอ็น-ซีต้องการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้อเสนอที่รัฐไทยรับปฏิบัติไม่ได้
 

 
ส่วนสิ่งที่รัฐไทยนำไปพูดคุยกับบีอาร์เอ็น-ซีคือ ขอให้หยุดปฏิบัติการกับเป้าหมายพลเรือนคือ ประชาชนและข้าราชการฝ่ายพลเรือน เช่น ครูและอื่นๆ โดยเฉพาะในการประชุมเมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา สิ่งที่รัฐไทยโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้บอกกับ นายฮาซัน ตอยิบ ตัวแทนของบีอาร์เอ็น-ซีว่า ในช่วงเดือน “รอมฏอน” หรือในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ ขอให้บีอาร์เอ็น-ซีสื่อสารกับ “กองกำลังติดอาวุธในพื้นที่” หยุดปฏิบัติการกับเป้าหมายที่อ่อนแอ และเป้าหมายที่เป็นประชาชน เพื่อแสงถึงความจริงใจในการที่จะร่วมกันสร้างสันติภาพด้วยการใช้เวทีของการพูดคุย
 
ซึ่งถือเป็นการ “ทิ้งไพ่” ใบสำคัญของรัฐไทยที่จะเป็นข้อพิสูจน์ว่า บีอาร์เอ็น-ซีที่มีนายฮาซัน ตอยิบ เป็น ตัวแทนนั้น มี “ศักยภาพ” ในการ “สั่งการ” กองกำลังติดอาวุธในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้จริงหรือไม่
 

 
เนื่องจากในรอบหลายๆ ปีที่ผ่านมาในช่วงเดือนรอมฎอนจะมีการก่อเหตุร้ายมากกว่าเดือนปกติ สาเหตุมาจากการที่กลุ่ม “แกนนำ” ที่เป็นผู้ “บ่มเพาะ” ทางความคิดให้กับ “แนวร่วม” ได้ใช้หลักการศาสนามาบิดเบือนให้แนวร่วมเข้าใจผิดว่า การฆ่าผู้ที่ “ขัดขวาง” หรือ “เห็นต่าง” จากอุดมการณ์ของบีอาร์เอ็น-ซี ผู้ลงมือฆ่าจะได้บุญเป็นสิบเท่า นั่นจึงอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ใช่ช่วงของเดือนรอมฏอนที่ผ่านมา จึงมีเหตุให้เกิดความสูญเสียชีวิตของประชาชนและเป้าหมายที่อ่อนแอเพิ่มขึ้น
 
ดังนั้น การยื่นของเสนอของรัฐไทยในครั้งนี้ จึงมี “นัยยะ” ที่สำคัญที่จะส่งผลในการพูดคุยสันติภาพครั้งต่อๆ ไป เพราะหากในเดือนรอมฏอนที่จะมาถึงนี้ เหตุการณ์ร้ายในพื้นที่ที่มีต่อเป้าหมายอ่อนแอ โดยเฉพาะต่อประชาชนและข้าราชการพลเรือนไม่ตกเป็นเป้าเหมือนที่ผ่านมา แสดงว่าการ “สื่อสาร” ของนายฮาซัน ตอยิบ ตัวแทนของบีอาร์เอ็น-ซีกับกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ผล
 
แสดงว่ากองกำลังติดอาวุธ หรือ “นักรบฟาตอนี” เชื่อฟังคำสั่งของนายฮาซัน ตอยิบ และบีอาร์เอ็น-ซีมีศักยภาพในการที่จะเป็นตัวแทนของขบวนการติดอาวุธที่ก่อการร้ายในพื้นที่ได้ โดยที่รัฐไทยไม่ต้อง “สืบสภาพ” หรือมีความ “เคลือบแคลง” ต่อการเป็นผู้แทนของบีอาร์เอ็น-ซีอีกต่อไป และรัฐไทยรวมทั้งประชาชนจะได้ว้างใจว่า การเปิดพื้นที่พูดคุยสันติภาพกับนายฮาซัน ตอยิบ หรือกับบีอาร์เอ็น-ซีเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
 
นั่นหมายถึงการยกระดับจากการ “พูดคุย” ไปสู่โต๊ะของการ “เจรจา” อย่างเป็นทางการได้ เช่นเดียวกับที่หลายๆ ประเทศใช้วิธีการดังกล่าวในการยุติปัญหาของการก่อการร้ายและการแบ่งแยกดินแดนสำเร็จมาแล้ว
 

 
แต่ในขณะเดียวกันถ้าเป้าหมายอ่อนแอและประชาชนยังกลายเป็นเหยื่อสถานการณ์แบบไม่ลดจำนวนลง รัฐไทยคงต้องทบทวนกันใหม่ว่าจะเดินหน้าในการเปิดพื้นที่พูดคุยกับบีอาร์เอ็น-ซีต่อไปอย่างไร รวมทั้งยังจะยกตำแหน่ง “ผู้แทน” ในการพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างที่มีอยู่หลายกลุ่มอีกหรือไม่ รวมทั้งจะได้พิจารณาถึงข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็น-ซีว่า ยังจะต้องนำมาพิจารณาว่ามี “คุณค่า” ในการที่จะนำมาตอบสนองความต้องการของบีอาร์เอ็น-ซีหรือไม่
 
แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นหลังการทิ้งไพ่ใบสำคัญของรัฐไทยคือ ความ “กังวล” ของคนกลุ่มหนึ่งในพื้นที่ ซึ่งยังไม่มั่นใจในเจ้าหน้าที่รัฐ โดยจากการติดตามการสื่อสารของคนหลายกลุ่มในพื้นที่มีการตั้งคำถามว่า ถ้ากลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างสันติภาพโดยการพูดคุยก่อเหตุร้ายขึ้นในพื้นที่ และโยนความผิดให้กับบีอาร์เอ็น-ซีเพื่อให้ “เข้าทาง”ของกลุ่มผู้เห็นต่าง ซึ่งไม่ต้องการเห็นสันติภาพที่ปลายด้ามขวาน ก็เท่ากับจะเป็นอุปสรรค และปัญหาในการพูดคุยสันติภาพที่จะต้องไม่ราบรื่น
 
และกลุ่มผู้เห็นต่างไม่ว่าจะเป็น “กลุ่มนักรบสุดโต่ง” “กลุ่มผลประโยชน์” และ “กลุ่มมีสี” หรือ “กลุ่มการเมือง” จะมีข้ออ้างให้รัฐไทย “ล้มเลิก” การพูดคุยสันติภาพกับบีอาร์เอ็น-ซีอย่างชอบธรรม
 

 
อย่าลืมว่าสถานการณ์ที่แท้จริงของความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้เกิดจากฝีมือของกลุ่มติดอาวุธบีอาร์เอ็น-ซีเพียงกลุ่มเดียว ยังมีกลุ่มติดอาวุธกลุ่มอื่นๆ อย่างน้อยอีก 3 กลุ่มที่ยังอยู่นอกเหนือการสั่งการของนายฮาซัน ตอยิบ รวมทั้งกลุ่มสร้างสถานการณ์เพื่อผลประโยชน์ที่อย่างน้อยมีอีก 3 กลุ่ม รัฐไทยจะทำอย่างไรกับกลุ่มก่อนเหล่านี้
 
แน่นอนว่า เพื่อให้เกิดความ “ชอบธรรม” และเพื่อที่รัฐไทยและประชาชนทั่งประเทศจะไม่ “หลงทาง” ในช่วงของเดือนรอมฏอน “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” รวมทั้ง “ศอ.บต.” จะต้องร่วมกันป้องกันการก่อเหตุร้ายจากกลุ่มที่เห็นต่างจากรัฐไทยและเห็นต่างกับบีอาร์เอ็น-ซี ไม่ว่าด้วยวิธีการเปิดพื้นที่พูดคุยภายในพื้นที่ และการใช้กำลังพิทักษ์ความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่
 
โดยต้องมีกระบวนการ “แยกแยะ” เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อมิให้มีการก่อเหตุร้ายเพื่อสร้างสถานการณ์ ซึ่งเชื่อว่าจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
 
การเปิดพื้นที่ “พูดคุยเพื่อสันติภาพ” เป็นเรื่องที่ดีที่สุด แม้ว่าอาจจะไม่ใช่ “ยาวิเศษ” หรือเป็น “ทางออกสุดท้าย” ของการยุติปัญหาที่เกิดขึ้น แต่การเปิดพื้นที่พูดคุยก็มีจุดอ่อน หากรัฐไทยไม่มีความ “เชี่ยวชาญ” และ “อ่อนด้อย” กว่าการเดินเกมบนเวทีการพูดคุยและเทวีโลก ดังนั้นรัฐไทยจึงต้องวางกรอบที่ชัดเจน และต้องไม่ “เพลี่ยงพล้ำ” ให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กลายเป็น “ตัวประกัน” ของเวทีการพูดคุยของทั้งสองฝ่าย อย่างที่มีการหวาดวิตกและการตั้งขอสังเกตของคนในพื้นที่มาตลอด.
 

กำลังโหลดความคิดเห็น