ศูนย์ข่าวภูเก็ต - กลุ่มผู้ประกอบการร้านค้าภายในท่าอากาศยานภูเก็ต รวมตัวขอความเป็นธรรมจากศาลจังหวัดภูเก็ต หลังการท่าฯ ไม่ต่อสัญญาเหมือนทุกครั้ง เนื่องจากต้องการเปิดประมูลใหม่ ขณะที่ ศาลฯ รับพิจารณาสั่งให้มีการคุ้มครองชั่วคราว
วันนี้ (24 เม.ย.) นายธรรมวรรธ วงศ์เจริญยศ ประธานชมรมผู้ประกอบการร้านค้าท่าอากาศยานภูเก็ต เปิดเผยถึงกรณีที่ทางบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ไม่ยอมต่อสัญญาให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้าที่สัญญาได้หมดลง ซึ่งปกติแล้วทางการท่าฯ จะต้องต่อสัญญาให้แก่ทางผู้ประกอบการแต่ละบริษัททุก 3 ปี ว่า ขณะนี้ทางผู้ประกอบการท้องถิ่นได้รับความเดือดร้อน กรณีทางการท่าฯ ได้ยกเลิกการต่อสัญญาให้ โดยปกติแล้วทางการท่าฯ จะต้องต่อสัญญาให้แก่ทางผู้ประกอบการแต่ละบริษัททุก 3 ปี แต่ครั้งนี้ทางการท่าฯ ไม่ต่อสัญญาให้ผู้ประกอบการในรายที่หมดสัญญาลง
ทั้งนี้ สถานประกอบการร้านค้าต่างๆ ที่เปิดดำเนินการอยู่ภายในท่าอากาศยานภูเก็ต ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 100 กว่าสัญญา มีพนักงานทั้งหมด 1,000 กว่าคน ซึ่งเป็นลูกหลานของคนภูเก็ตร้อยละ 80-90 ที่ได้ทำงานอยู่ในสนามบิน แต่สัญญาของแต่ละบริษัทที่ทำไว้กับทางการท่าฯ จะทำไม่พร้อมกัน ซึ่งในส่วนที่สัญญาได้หมดลงแล้ว และทางการท่าฯ ไม่ยอมต่อสัญญาให้ ตอนนี้ก็มีในส่วนของบริษัท ที เอส พี ไทยเซ้าท์เทิร์น 2002 จำกัด กับ บริษัท กี-วิชเชอร์ แอนด์ คอนสทรัคชั่น จำกัด ประกอบกับทางการท่าฯ ได้มีหนังสือให้ออกไปจากพื้นที่ภายใน 7 วัน และเมื่อวานนี้ (23 เม.ย.) ทางผู้ประกอบการท้องถิ่นทั้ง 2 บริษัทดังกล่าว ก็ได้มายื่นคำร้องเพื่อขอความเป็นธรรมต่อศาลจังหวัดภูเก็ต และก็ได้รับความเห็นใจจากศาลฯ โดยทางศาลฯ ได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้แก่ผู้ประกอบการท้องถิ่นที่ได้รับความเดือดร้อน และสามารถเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นได้ทำการค้าขายในท่าอากาศยานภูเก็ตต่อไป
ขณะเดียวกัน นายธรรมวรรธ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ในเดือนมิถุนายน 2556 ที่จะถึง ทางการท่าฯ ได้ทำหนังสือถึงผู้ประกอบการท้องถิ่น ว่า จะยกเลิกสัญญาทั้งหมด และขณะนี้ทางผู้ประกอบการท้องถิ่นทั้งหมดก็ได้มีการรวมตัว และประชุมกันภายในว่า เราจะเดินหน้ากันต่อไปอย่างไร เพื่อรักษาภาพลักษณ์การเป็นผู้ประกอบการท้องถิ่นอยู่ที่สนามบินภูเก็ต โดยจะหารือร่วมกันว่าจะทำหนังสือถึงทางการท่าฯ ใหม่ เพื่อขอให้พิจารณาอีกครั้ง
“หลังจากนี้เมื่อสัญญาหมดในเดือนมิถุนายน เราก็ต้องทำหนังสือถึงการท่าฯ ใหม่ เพื่อขอต่ออายุสัญญาเหมือนเดิมคือ 3 ปีครั้ง ถ้าไม่ได้เราคงจะขอความเป็นธรรมจากศาลต่อไป เพราะพวกเรากลุ่มผู้ประกอบการได้ทำมาค้าขายในท่าอากาศยานภูเก็ตมาเป็นเวลา 10 กว่าปีแล้ว อยู่ๆ ก็ยกเลิกสัญญา โดยที่จะมาให้ประมูลใหม่ หรือจะให้รายใหม่เข้ามาประมูลนั้น ทำให้พวกเรารู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม” นายธรรมวรรธ กล่าว