xs
xsm
sm
md
lg

“เรืองไกร” เล็งยื่นผู้ตรวจฯ-ปธ.สภาฯ บี้ “ชัช-วสันต์” หยุดทำหน้าที่ตุลาการศาล รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา(แฟ้มภาพ)
ส.ว.ยอดนักร้อง พร้อมยื่นผู้ตรวจฯ ชงต่อศาล ปค.เพิกถอน “ชัช” จากตุลาการศาล รธน. และเลือก “วสันต์” นั่ง ปธ.เป็นโมฆะ ชี้ อาจขัด ม.112 ไม่ได้โปรดเกล้าฯแต่ทำหน้าที่ ร้องคุ้มครองชั่วคราวหยุดปฏิบัติงาน แถมชง “ค้อนปลอม” อ้างใช้อำนาจก้าวล่วงนิติบัญญัติ เกินอำนาจ รธน. แถมส่อหมิ่นสถาบันทุกครั้งที่ตัดสิน จึงใช้สิทธิพิทักษ์ รธน. จี้ร้องทุกข์เอาผิด

วันนี้ (16 เม.ย.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา กล่าวว่า เตรียมยื่นเรื่องถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบการกระทำของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย กรณีการกระทำของนายชัช ชลวร ในฐานะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งและไปทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุม ซึ่งได้เลือกนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญว่า มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งนี้ ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ 748/2555 สรุปข้อเท็จจริงได้ว่า นายชัชได้พ้นตำแหน่งด้วยการลาออกตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2554 จึงไม่อาจเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้อีก เพราะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 208 แต่คณะตุลาการ อีก 8 คน กลับยอมให้นายชัชเข้าเป็นตุลาการได้ต่อไป ทั้งที่ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เรื่องนี้ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาข้อเท็จจริงและอ่านคำสั่งเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2556 แต่ไม่สามารถมีคำสั่งได้ เนื่องจากผู้ร้องไม่ใช่ผู้เสียหาย แต่ได้พิจารณาไว้ว่าผู้เสียหายคือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วยกันเอง

นายเรืองไกรกล่าวว่า การจะรอให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญฟ้องร้องกันเองคงเป็นไปได้ยาก ประกอบกับรัฐธรรมนูญมาตรา 245 (2) กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถเสนอเรื่องต่อศาลปกครองได้ ตามความใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง มาตรา 43 ประกอบมาตรา 49 จึงควรเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะเสนอเรื่อง พร้อมความเห็นไปยังศาลปกครอง ให้พิจารณาหรือมีคำสั่งเพิกถอนการกระทำของนายชัช ในฐานะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกทั้งหมดนับตั้งแต่วันที่ได้ลาออก และเพิกถอนผลการกระทำของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ประชุมเลือกนายวสันต์เป็นประธาน เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2554 เพราะผลการประชุมดังกล่าวย่อมไม่ชอบ ตกเป็นโมฆะ เพราะเป็นการประชุมโดยที่มีบุคคลที่ไม่ใช่คณะตุลาการ รวมอยู่ด้วย จากความในพระบรมราชโองการที่ประกาศเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2554 จะเห็นได้ว่า ไม่ได้มีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้นายชัชเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด มีเพียงการโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น

นายเรืองไกรกล่าวต่อว่า จึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า การที่นายชัชยังทำหน้าที่เป็นตุลาการอยู่ ซึ่งปรากฏหลักฐานชัดเจนในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 18-22/2555 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2555 ภายใต้การรับรู้และยินยอมของประธาน และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอื่น จึงอาจเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 145 วรรคหนึ่ง และอาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ดังนั้น การแสดงตนเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของนายชัช จึงอาจเข้าข่ายการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะการลงลายมือชื่อของนายชัช ในฐานะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น กระทำในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ดังที่รัฐธรรมนูญมาตรา 197 วรรคหนึ่งบัญญัติไว้ ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินเคยทำพิจารณากรณีผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมาก่อนแล้ว ซึ่งมีความคล้ายคลึงกัน จึงขอให้พิจารณาและเสนอเรื่องพร้อมความเห็นส่งให้ศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัยหรือมีคำสั่งต่อไป โดยขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉินให้นายชัชและนายวสันต์หยุดการทำหน้าที่ไว้ก่อน จนกว่าศาลปกครองจะมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ให้เกิดขึ้นอีก เพราะเป็นการทำหน้าที่ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ จึงยากที่จะเยียวยาแก้ไขในภายหลัง

นายเรืองไกรกล่าวต่อว่า พร้อมกันนี้ได้ส่งเรื่องต่อประธานรัฐสภาอีกทางหนึ่ง ขอให้ตรวจสอบคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 9 คน ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ เนื่องจากเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2556 ศาลรัฐธรรมนูญได้ออกข่าวที่ 7/2556 แสดงให้เห็นถึงการใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ชอบ โดยการร่วมประชุมพิจารณารับคำร้องที่มีลักษณะก้าวล่วงอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ เกินกว่าที่กฎหมายและรัฐธรรมนูญกำหนด เสมือนเป็นการตีความรัฐธรรมนูญ หรือบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้เป็นลายลักษณ์อักษรขึ้นมาเองโดยพลการ เป็นการสร้างอำนาจโดยวิถีทางที่ไม่ได้มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นการกระทำที่ส่อไปในทางแสดงตนเหนือรัฐธรรมนูญ โดยปกปิดวิธีดำเนินการ และมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย เข้าข่ายความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน และจากกรณีมีองค์คณะที่ไม่ชอบดังกล่าวข้างต้น บุคคลชาวไทยที่จงรักภักดีย่อมต้องใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญต่อต้านโดยสันติวิธีต่อคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ได้ และสามารถร้องทุกข์กล่าวโทษในข้อหาหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่เคารพสักการะของชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้ด้วย กลุ่มบุคคลที่รักชาติเทิดทูนสถาบันเมื่อทราบเรื่องนี้แล้ว หากไม่ช่วยกันปกป้องสถาบัน ก็เท่ากับสนับสนุนให้มีการกระทำความผิดต่อเบื้องสูงต่อไป ไม่สมควรที่จะกล่าวอ้างว่าเป็นผู้จงรักภักดีได้เลย เพราะการมีคำวินิจฉัยหรือมีคำสั่งแต่ละครั้ง ถ้ามีนายชัชหรือนายวสันต์รวมอยู่ด้วย ย่อมถือว่ามีการหมิ่นสถาบันเป็นครั้งๆ ไป เป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกันตามประมวลกฎหมายอาญา จึงควรต้องพิจารณาเป็นรายกระทงความผิด อีกทั้งควรพิจารณาด้วยว่าการกระทำความผิดดังกล่าวเกิดจากการจงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องของผู้ที่มีความรู้ทางกฎหมายเสียเอง เป็นอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เป็นอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา จึงไม่มีเหตุที่จะให้อภัยได้

นายเรืองไกรกล่าวต่อว่า จึงขอให้ประธานรัฐสภาตรวจสอบ โดยการเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาได้พิจารณาเป็นญัตติเร่งด่วนต่อไป หากที่ประชุมรัฐสภาโดยเสียงข้างมากมีมติว่าการกระทำของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ขอให้ประธานรัฐสภาสั่งการให้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อไป โดยเฉพาะในเรื่องการทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-22/2555 ซึ่งทำในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ที่มีชื่อนายชัชลงลายมือชื่อเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในองค์คณะอยู่ด้วย จะเข้าลักษณะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 145 มาตรา 157 ประกอบมาตรา 112 หรือไม่ และการได้มาซึ่งตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญของนายวสันต์ย่อมมีผลให้ความเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญตกเป็นโมฆะด้วยหรือไม่ และถ้าหากคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่โดยไม่ชอบ การรับคำสั่งใดๆ จากคณะตุลาการชุดนี้ ย่อมเป็นการสนับสนุนให้มีการกระทำความผิดด้วยหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น