xs
xsm
sm
md
lg

"เรืองไกร"จ๋อยศาลรธน.เอกฉันท์ ไม่รับคำร้องยุบปชป.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (11เม.ย.) นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ แถลงภายหลังการประชุมของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติ 5 ต่อ 3 รับคำร้องของ นายบวร ยสินทร กับคณะ ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ว่า ประธานรัฐสภากับพวก รวม 312 คน ว่ากระทำการเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการตัดสิทธิของบุคคลในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ หรือไม่
โดยศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า คำร้องนี้ เป็นกรณีที่ผู้ร้องใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่า นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา และคณะ 312 คน ได้ร่วมกันเข้าชื่อ เพื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม ต่อประธานรัฐสภา โดยยกเลิกข้อความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 พร้อมเสนอเนื้อความใหม่ ที่เป็นการยกเลิกสิทธิของประชาชนในการที่จะใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ด้วยการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงออกไป คงเหลือแต่เพียง ยื่นต่ออัยการสูงสุดเพียงทางเดียวเท่านั้น นอกจากนี้ยังให้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ในกรณีที่ประชาชนจะใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ในหมวดที่ 3 เท่านั้น จึงถือว่าเป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชน จึงมีมูลกรณีที่ผู้ร้องจะใช้สิทธิยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการตรวจสอบ ตามาตรา 68 วรรคสอง กรณีจึงต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 ข้อ 17 วรรคสอง ศาลรัฐธรรมนูญ จึงรับคำร้องไว้พิจารณา
นายพิมล กล่าวต่อว่า หลังจากนี้ ทางศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ผู้ร้องทำสำเนาคำร้องส่งต่อศาล จำนวน 312 ชุด เพื่อส่งให้ผู้ถูกร้อง พร้อมทั้งให้ผู้ถูกร้อง ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง หากไม่ยื่นภายในกำหนด ถือว่าไม่ติดใจ ส่วนคำขอคุ้มครองชั่วคราวในกรณีฉุกเฉิน ศาลเห็นว่า ยังไม่ปรากฏมูลกรณีอันเป็นเหตุฉุกเฉิน หรือเหตุผลอันสมควรเพียงพอที่จะใช้วิธีการชั่วคราว จึงให้ยกคำขอ
ทั้งนี้นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ นายบุญส่ง กุลบุปผา และนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ซึ่งเป็นตุลาการเสียงข้างน้อย เห็นว่า ยังไม่ควรรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณา เนื่องจากเห็นว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังกล่าว ยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะยังมีโอกาสที่จะแก้ไขใน วาระที่ 2 ได้อีก คำร้องจึงเป็นเพียงการคาดการณ์ล่วงหน้า จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสอง รวมทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ซึ่งเป็นการใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ และยังไม่มีมูลกรณีที่เป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวถามว่า ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีการนำคำร้องดังกล่าว รวมพิจารณาไปกับคำร้องของนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ที่ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติรับคำร้องหรือไม่ นายพิมล กล่าวว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะตุลาการฯอีกครั้ง ว่าจะมีดุลยพินิจอย่างไร ทั้งนี้ ขณะนี้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ส่งหนังสือสำเนาคำร้องกรณีดังกล่าวแจ้งไปยังรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว

**มติเอกฉันท์ ไม่รับคำร้อง"เรืองไกร"

นอกจากนี้ นายพิมล ยังกล่าวด้วยว่า ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีมติเอกฉันท์ ไม่รับคำร้องของ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ว่า นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กับคณะ รวม 11 คน และพรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมเป็นคณะกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามสัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ที่อ้างว่า เป็นกระทำการร่วมกันใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ในญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม ที่มีการตัดสิทธิของบุคคลในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ หรือไม่นั้น
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องแล้วเห็นว่า ตามคำร้องไม่ปรากฏว่า มีการกระทำฝ่าฝืนหรือต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ ไม่รับคำร้อง เมื่อมีคำสั่งไม่รับคำร้อง การขอคุ้มครองชั่วคราวในกรณีฉุกเฉิน ย่อมตกไป
เมื่อถามว่า กรณีที่นายเรืองไกร ขอคัดค้านไม่ให้ตุลาการฯ จำนวน 8 คน ยกเว้น นายจรัญ ภักดีธนากุล เป็นองค์คณะในการพิจารณาคำร้องของ นายสมชาย เนื่องจากตุลาการฯทั้ง 8 มีส่วนได้ส่วนเสีย จากการวินิจฉัยคำร้องตาม มาตรา 68 นั้น นายพิมล กล่าวว่า กรณีดังกล่าว ที่ประชุมตุลาการฯได้มีการหารือถึงเรื่องนี้ ซึ่งเห็นว่า คำคัดค้านดังกล่าว หากตุลาการฯ มีส่วนได้ส่วนเสียในคำร้องนั้น ก็ไม่สามารถเป็นองค์คณะในการพิจารณาได้ แต่เรื่องนี้ตุลาการฯไมได้มีส่วนได้ส่วนเสียในคำร้อง จึงสามารถพิจารณาได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีตุลาการฯ เข้าร่วมประชุม จำนวน 8 คน ยกเว้นนายชัช ชลวร เนื่องจากติดภารกิจ จึงได้ขอลาการประชุม

** ร้องผู้ตรวจฯสอบส.ส.-ส.ว.แก้รธน.มิชอบ

เมื่อเวลา 15.00 น. วานนี้ (11เม.ย.) นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนการกระทำผิดกฎหมาย ต่อ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยมีนายเฉลิมศักดิ์ จันทรทิม เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และ นายรักษเกชา แฉ่ฉาย รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นผู้รับหนังสือไว้
หนังสือที่ นายประสาร ได้ยื่นมีข้อความสรุปว่า ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ตรวจสอบการกระทำที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ของกลุ่มสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แบบรายมาตรา ประกอบด้วย มาตรา 68 และ มาตรา 111-120 เนื่องจากเป็นการกระทำที่ขัดต่อ มาตรา 122 มีลักษณะขัดกันแห่งผลประโยชน์ และการแก้ไขมาตรา 68 นั้น เป็นการตัดสิทธิของประชาชนในการยื่นเรื่องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง และเป็นการตัดอำนาจของประชาชนในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ รวมทั้งยังเป็นการแสดงพฤติกรรมที่ ส.ส. และ ส.ว. ร่วมกันกระทำในสิ่งที่ได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน โดยส.ว.ขอแก้ไขมาตรา 68 และ 237 ในขณะที่ส.ส.ขอแก้ไขมาตรา 111-120 ในเรื่องการยกเลิกวาระของส.ว. จึงถือว่าเป็นการร่วมกันกระทำผิด โดยแบ่งหน้าที่กันทำ และจงใจใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ และฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ดังนั้น ตนจึงอาศัยช่องทางรัฐธรรมนูญ มาตรา 244 ให้ตรวจสอบการกระทำดังกล่าว ตามมาตรา 244 (1) (ก) (ข) และ (2) ว่าเป็นการกระทำผิดต่อรัฐธรรมนูญ และกฎหมายหรือไม่
ทั้งนี้ หากผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบแล้วเป็นความผิดจริง ตามที่ได้ร้อง ผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็สามารถส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองสูงสุด และป.ป.ช. ให้ยับยั้งการกระทำหรือลงโทษทางอาญาต่อไป

**"สมศักดิ์"นัดประชุมรัฐสภา 18 เม.ย.นี้

นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา กล่าวว่า จะเรียกประชุมรัฐสภา ในวันที่ 18 เม.ย.นี้ เวลา 09.30 น. เพื่อให้สมาชิกรัฐสภา ลงความเห็นในญัตติแปรญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 60 วัน ซึ่งยังค้างการพิจารณาอยู่ และคิดว่าคงใช้เวลาไม่มาก เนื่องจากเป็นการลงมติเท่านั้น หลังจากนี้ก็ถือว่าจบขั้นตอนในส่วนญัตติที่ค้างอยู่ในสภา เนื่องจากในขณะที่มีการเสนอแปรญัตตินั้น องค์ประชุมไม่ครบ จึงต้องปิดประชุมไป
เมื่อเรื่องค้างอยู่ จึงต้องเรียกประชุม เพื่อให้เรื่องจบ ส่วนมติจะเป็นอย่างไร ก็ว่าตามนั้น หมายถึงว่า ถ้าที่ประชุมเห็นชอบให้เป็น 60 วัน ก็เป็น 60 วัน เพราะข้อบังคับเขียนไว้ชัดเจนว่า 15 วัน ตามข้อบังคับ เว้นแต่รัฐสภาจะเห็นเป็นอย่างอื่น
ผู้สื่อข่าวถามว่า การเรียกประชุมรัฐสภาครั้งนี้ เท่ากับยอมรับว่าการใช้ดุลพินิจสั่งปิดประชุม และสรุปว่าการแปรญัตติเป็นไปตามข้อบังคับ 15 วัน ทั้งที่ญัตติแปรญัตติ 60 วัน ยังไม่ได้ลงมติ เป็นเรื่องทีผิดพลาด ใช่หรือไม่ นายสมศักดิ์ ยังกล่าวยืนยันว่า การแปรญัตติเป็น 15 วันอยู่แล้ว ยกเว้นรัฐสภาเห็นเป็นอื่น เพราะฉะนั้นในวันนั้นก็ต้องสรุปให้เป็น 15 วัน แต่เมื่อองค์ประชุมไม่ครบ ก็ต้องปิด จึงถือว่าเป็น 15 วันโดยอัตโนมัติ แต่เมื่อมีญัตติค้างอยู่ ก็ต้องมาขอมติ
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ที่ต้องเรียกประชุมรัฐสภาใหม่ เป็นเพราะกลัวถูกยื่นถอดถอน เนื่องจากการใช้ดุลพินิจ สรุปว่าแปรญัตติ 15 วัน ทั้งที่ยังมีญัตติแปรญัตติ 60 วันค้างอยู่ เป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญนั้น นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนไม่เคยพูดว่าจะไม่เรียกประชุมรัฐสภา เคยได้ยินตนพูดเมื่อไร มีแต่เรียกร้องว่าอะไรยอมกันได้ ก็ยอมกันไป

** มท.1 เชื่อไร้ปัญหาลงมติ

นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการประชุมรัฐสภา ในวันที่ 18 เม.ย.นี้ ว่า ประธานรัฐสภายืนยันแล้วว่า จะไม่มีปัญหา คงใช้เวลาในการประชุมไม่มาก น่าจะพิจารณาเสร็จด้วยความรวดเร็ว
ส่วนที่พรรคเพื่อไทยมีปัญหาองค์ประชุม ก่อนปิดการประชุมนัดที่ผ่านมานั้น ความจริงเรื่องเหล่านี้ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะเป็นเรื่องจุกจิก เหมือนเรื่องของเด็กอนุบาล ซึ่งกฎเกณฑ์ในการควบคุมการประชุม ก็มีอยู่แล้ว หากช่วยกันขับเคลื่อนจะไม่เกิดปัญหาที่ผ่านมา ไม่มีการจู้จี้จุกจิกกันมากขนาดนี้
อย่างไรก็ตาม ในฐานะหัวหน้าพรรค คงต้องไปพูดกันในพรรค โดยจะรับฟังเหตุ และผลจากทุกฝ่าย หากมีความผิดก็ว่ากันไปตามกฎระเบียบ และรับฟังจากวิป ว่า เกิดปัญหาอะไร
กำลังโหลดความคิดเห็น