xs
xsm
sm
md
lg

“ประสาร” ยื่นผู้ตรวจฯ เช็กบิลแก๊งชำเรารัฐธรรมนูญ ชี้ต่างตอบแทนชัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา (ภาพจากแฟ้ม)
แกนนำ 40 ส.ว.ยื่นผู้ตรวจการฯ สอบกลุ่ม ส.ส.-ส.ว.ยื่นแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา มีลักษณะขัดกันแห่งผลประโยชน์ และตัดสิทธิประชาชน ระบุต่างตอบแทนชัด ขัดรัฐธรรมนูญ ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง



วันนี้ (11 เม.ย.) ที่รัฐสภา นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา กลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวว่า ในวันนี้จะยื่นเรื่องต่อประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ตรวจสอบการกระทำที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ของกลุ่มสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภา ในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แบบรายมาตรา ประกอบด้วย มาตรา 68 และมาตรา 111-120 เนื่องจากเป็นการกระทำที่ขัดต่อมาตรา 122 มีลักษณะขัดกันแห่งผลประโยชน์ และการแก้ไขมาตรา 68 นั้นเป็นการตัดสิทธิของประชาชนในการยื่นเรื่องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงและเป็นการตัดอำนาจของประชาชนในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ

รวมทั้งยังเป็นการแสดงพฤติกรรมที่ ส.ส.และ ส.ว.ร่วมกันกระทำในสิ่งที่ได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน โดย ส.ว.ขอแก้ไขมาตรา 68 และ 237 ในขณะที่ ส.ส.ขอแก้ไขมาตรา 111-120 ในเรื่องการยกเลิกวาระของ ส.ว. จึงถือว่าเป็นการร่วมกันกระทำผิดโดยแบ่งหน้าที่กันทำและจงใจใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญและฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตนจึงอาศัยช่องทางรัฐธรรมนูญมาตรา 244 ให้ตรวจสอบการกระทำดังกล่าวตามมาตรา 244 (1) (ก) (ข) และ (2) ว่าเป็นการกระทำผิดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายหรือไม่ หากผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบแล้วเป็นความผิดจริงตามที่ได้ร้อง ผู้ตรวจการแผ่นดินก็สามารถส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองสูงสุด และ ป.ป.ช.ให้ยับยั้งการกระทำหรือลงโทษทางอาญาต่อไป

ต่อมาเวลา 15.00 น. นายประสารเดินทางมายังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นหนังสือร้องเรียนการกระทำผิดกฎหมาย ต่อประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยได้มีนายเฉลิมศักดิ์ จันทรทิม เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และนายรักษเกชา แฉ่ฉาย รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นผู้รับหนังสือไว้ ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน

โดยหนังสือที่นายประสาร ได้ยื่นมีข้อความสรุปว่า ขอเรียกร้องต่อประธานผู้ตรวจการแผ่นดินเกี่ยวกับการกระทำที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของกลุ่มสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรณีเมื่อวันที่ 20 มี.ค.56 ผู้ถูกร้องทั้งหมดได้ร่วมกันกระทำที่ส่อว่าเป็นการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือส่อว่าจงใจใช้อำนาจที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 กล่าวคือผู้ถูกร้องได้ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... รวม 3 ฉบับ แต่ปัญหาที่นำมาสู่การร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินมี 2 ฉบับ คือ ฉบับที่ 1 เป็นฉบับที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ โดยให้ยกเลิกความในมาตรา 68 และให้ยกเลิกวรรคสองของมาตรา 237 ที่เกี่ยวข้องกับการยุบพรรคการเมือง ฉบับที่ 2 ให้ยกเลิกความในมาตรา 117 และมาตรา 118 เกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งของ ส.ว. โดยการที่ผู้ถูกร้องยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 โดยเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... โดยมีผลให้ยกเลิกความในมาตรา 68 เดิม ผู้ร้องเรียนว่า บทบัญญัติของมาตรา 68 ของรธน. ปี 50 เป็นบทบัญญัติในส่วนที่ 13 สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหมวด 3 ว่าด้วย สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ดังนั้นผู้ถูกร้องซึ่งเป็นสมาชิกรัฐสภาจึงต้องผูกพันในการคุ้มครองสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญขงบุคคลตามบทบัญญัติของรธน.ปี50 มาตรา 68 ด้วย การที่ผู้ถูกร้องร่วมกันยื่นเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ต่อผุ้ถูกร้องที่ 1 และสั่งบรรจุเป็นวาระการประชุม โดยร่างดังกล่าวมีเนื้อหาในมาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 68 แล้ว เสนอเนื้อความใหม่ที่เป็นการยกเลิกสิทธิของบุคคลในการใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญด้วยการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงออกไป คงเหลือแต่ให้บุคคลผู้ทราบการกระทำเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดสอบข้อเท็จจริงเพียงประการเดียว จึงเป็นการเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย จึงขัดต่อรธน.ปี50 ในมาตรา 26,27,28 และ 29 การกระทำทั้งหมดของผู้ถูกร้องจึงส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห้งรัฐธรรมนูญ และฝ่าฝืนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-22/2555

ส่วนฉบับที่ 2 ให้ยกเลิกมาตรา 117 การยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญของผู้ถูกร้องในส่วนนี้ ด้วยการยกเลิกมาตรา 117 เดิมแล้วใช้ข้อความใหม่ ที่ไม่ห้ามเรื่องส.ว.ดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 1 วาระไม่ได้ จึงเป็นการเสนอแก้ไขเพื่อประโยชน์ของส.ว.ชุดปัจจุบัน จึงเป็นการใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อประโยชน์ของตนเอง เป็นการกระทำที่ต้องห้ามตาม รธน.ปี50 มาตรา 112

จากพฤติการณ์ของผู้ถูกร้องทั้งหมดจึงเห็นได้ว่า ต่างร่วมมือกันกระทำการในสิ่งที่ตนเองได้ประโยชน์ด้วยการแบ่งหน้าที่กัน และเพื่อช่วยเหลือกัน กล่าวคือ ส.ว.เป็นแกนนำในการขอแก้ไขเพื่อยกเลิกมาตรา 68 และมาตรา 237 ของ รธน.ปี50 เพื่อให้กลุ่มส.ส.ได้ประโยชน์ในเรื่องมาตรการยุบพรรคที่ถูกตัดออก ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับส.ส.ที่สังกัดพรรคการเมือง ขณะเดียวกันส.ส.เป็นแกนนำเพื่อข้อแก้ไขยกเลิกมาตรา 117 ที่กำหนดให้ส.ว.ดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 1 วาระ เพื่อให้กลุ่มส.ว.เลือกตั้งที่กำลังจะครบวาระสามารถกลับมาลงสมัครเลือกตั้งได้อีก การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งหมด จึงเป็นการร่วมมือกันกระทำผิด โดยแบ่งหน้าที่กัน โดยมีเจตนาหรือจงใจปฎิบัติหน้าที่ที่ส่อไปในทางกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือฝ่าฝืนต่อมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง

ผู้ร้องจึงขอร้องเรียนต่อคณะผู้ตรวจการแผ่นดินผ่านประธานผู้ตรวจการแผ่นดินให้พิจารณาสอบสวน ตามมาตรา 244(1) (ก)(ข) และ (2) เพราะการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งหมดก่อให้เกิดความเสียหายของประเทศชาติอย่างยิ่ง เพื่อสอบสวนว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งหมดเป็นความผิดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายหรือไม่ และเมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้สอบสวนแล้วพบว่ามีการกระทำผิดจริง ขอให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไปจนถึงที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น