xs
xsm
sm
md
lg

ศาล รธน.รับวินิจฉัย “ส.ว.สมชาย” ร้องแก้ รธน.ส่อขัด กม. แต่ไม่เบรกรัฐสภาชำเราต่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา (แฟ้มภาพ)
ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 3 ต่อ 2 รับวินิจฉัยคำร้อง “ส.ว.สมชาย” ร้องรัฐสภาแก้รัฐธรรมนูญ ม.68, 237 ส่อขัดกฎหมายศาลยังไม่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เนื่องจากยังไม่มีเหตุฉุกเฉินจำเป็น



วันนี้ (3 เม.ย.) ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 เสียง รับวินิจฉัยคำร้องของนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา หลังจากที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยช่องทางตามมาตรา 68 ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้พิจารณาวินิจฉัยกรณี นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภากับพวกซึ่งเป็น ส.ว.และ ส.ส.รวม 312 คน กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ โดยร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่....) พ.ศ.... ต่อประธานรัฐสภาเพื่อที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ที่เป็นเรื่องของสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 ที่เกี่ยวกับการตัดสิทธิหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค กรณีมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคการเมือง โดยขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายสมศักดิ์ และพวกที่เป็นผู้ถูกร้องยกเลิกการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และมาตรา 237 และมีคำสั่งยุบพรรคพรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังชล พรรคมหาชน พรรคประชาธิปไตยใหม่ ที่ผู้ถูกร้องทั้งหมดสังกัดอยู่

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติไม่รับคุ้มครองชั่วคราว เนื่องจากยังไม่มีเหตุฉุกเฉินจำเป็น หลังจากที่นายสมชายได้ขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉินโดยสั่งให้รัฐสภาระงับการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะพิจารณาคดีเสร็จสิ้น

ทั้งนี้ ศาลขอให้ผู้ร้องทำสำเนาคำร้องจำนวน 312 ชุด เพื่อส่งให้ผู้ถูกร้อง และผู้ถูกร้องต้องชี้แจงต่อศาลภายใน 15 วัน นับตั้งแต่ได้รับหนังสือแจ้ง

นายสมฤทธิ์ ไชยวงค์ หนึ่งในทีมโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ แถลงภายหลังการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 เสียงรับคำร้องของนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ว่านายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ และคณะกระทำการที่ส่อไปในทางกระทำความิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญโดยการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการตัดสิทธิของบุคคลในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญหรือไม่ ไว้พิจารณาวินิจฉัย

เนื่องจากเห็นว่า คำร้องนี้เป็นกรณีที่ผู้ร้องใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญโดยอ้างว่าผู้ถูกร้องทั้ง 312 คนซึ่งเป็น ส.ส.และ ส.ว.ได้ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่. ...) พุทธศักราช. ... ต่อนายสมศักดิ์ ผู้ถูกร้องที่ 1 โดยยกเลิกความในรัฐธรรมนูญมาตรา 68 แล้วเสนอเนื้อความใหม่ที่เป็นการยกเลิกสิทธิของชนชาวไทยในการที่จะใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญด้วยการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงออกไป คงเหลือแต่เพียงให้บุคคลผู้ทราบการกระทำเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงเพียงประการเดียว และให้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญในกรณีที่บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยเท่านั้น ไม่อาจใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญให้พ้นจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญในลักษณะอื่นนอกเหนือจากการใช้สิทธิและเสรีภาพ อันเป็นการลิดรอนสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญของชนชาวไทย จึงมีมูลกรณีที่นายสมชายจะใช้สิทธิยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบตามมาตรา 68 วรรคสอง ต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคสอง และข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย 2550 ข้อ 17(2)

ส่วนที่นายสมชายมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวสั่งให้รัฐสภาระงับการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญและลงมติในวาระที่ 1 นั้น ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ายังไม่ปรากฏมูลกรณีอันเป็นเหตุฉุกเฉิน หรือเหตุผลอันสมควรเพียงพอที่จะต้องมีคำสั่งดังกล่าว จึงมีคำสั่งให้ยกคำขอ และสั่งให้นายสมชายผู้ร้องทำสำเนาคำร้องส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 312 ชุดเพื่อส่งให้นายสมศักดิ์ และพวกยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันได้รับหนังสือแจ้งหากไม่ยื่นภายในกำหนดถือว่าไม่ติดใจ และหลังจากที่ศาลได้รับคำชี้แจงทั้งหมดแล้วก็จะทำการตรวจสอบและพิจารณาว่าจะมีการกำหนดวิธีการพิจารณาคำร้องนี้อย่างไร

สำหรับเหตุที่องค์คณะพิจารณาคำร้องนี้มีเพียง 5 คนก็เนื่องจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 4 คน คือนายชัช ชลวร นายนุรักษ์ มาประณีต นายเฉลิมพล เอกอุรุ และนายบุญส่ง กุลบุปผา ได้ลาประชุม และเดินทางไปต่างประเทศ ก่อนที่คำร้องนี้จะเข้ามายังสำนักงาน ซึ่งตามข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญมีตุลาการเข้าประชุม 5 คนก็ถือว่าเป็นองค์คณะพิจารณาได้ และเมื่อตุลาการ 4 คนกลับมาก็สามารถเข้าร่วมพิจารณาคำร้องได้

เมื่อถามว่า การที่ศาลรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยแต่ไม่มีคำสั่งให้รัฐสภาระงับการพิจารณาไว้ก่อนจะทำให้เกิดปัญหาหรือไม่ นายสมฤทธิ์ กล่าวว่า ไม่เป็นปัญหา ซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติสามารถเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปได้ และการที่ศาลฯรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยก็เพราะคำร้องต้องด้วยหลักเกณฑ์

เมื่อถามต่อว่าการไม่มีคำสั่งให้รัฐสภาระงับการพิจารณาแต่ต่อมาศาลวินิจฉัยว่าการแก้ไขดังกล่าวเป็นล้มล้างการปกครองจะมีผลอย่างไร นายสมฤทธิ์ กล่าวว่า ไม่อยากให้มีการคาดการณ์เหตุการณ์ไปล่วงหน้า เพราะยังไม่มีการวินิจฉัย เรื่องจริงยังไม่เกิด ถ้าคาดการณ์กันไปก่อนก็จะเป็นการชี้นำได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่นายสมฤทธิ์จะมีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนประมาณ 10 นาทีปรากฏว่าในรัฐสภาซึ่งมีการอภิปรายเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่นั้น นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ก็ได้มีการแจ้งต่อที่ประชุมว่า มีรายงานว่าศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องของนายสมชาย จากนั้นสำนักข่าวต่างๆ ก็ได้มีการรายงานข่าวผ่านทาง SMS ทวิตเตอร์และโซเชียลเน็ตเวริ์ดต่างๆ สร้างความสับสนให้กับสื่อมวลชนและประชาชนที่สนใจและติดตามการแถลงข่าวของศาลรัฐธรรมนูญเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันระหว่างการแถลงข่าวของนายสมฤทธิ์ ก็ได้มีประชาชนมาคอยสังเกตการณ์และตะโกนแสดงความเห็นระหว่างการแถลงข่าวว่า “ถ้าศาลไม่กล้า จะหยุดระบอบทักษิณได้อย่างไร”


กำลังโหลดความคิดเห็น