ศูนย์ข่าวภูเก็ต - กลุ่มผู้ประกอบการสหกรณ์บริการธุรกิจและท่องเที่ยวมุกอันดามัน ยืนหนังสือถึง “ศิธา ทิวารี” ประธานบอร์ดการท่าฯ ขอความเป็นธรรมเปิดเคาน์เตอร์ให้บริการรับส่งผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานภูเก็ต หลังไม่สามารถนำรถ จำนวน 50 คัน ให้บริการร่วมกับผู้รับสัมปทานรายเดิมได้
เมื่อเวลา 11.30 น. ที่บริเวณห้องรับรองพิเศษ ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต กลุ่มสหกรณ์บริการธุรกิจและท่องเที่ยวมุกอันดามัน จำกัด นำโดย นายทรงธรรม เมฆมณี ประธาน และนายอิทธิพล เมฆตะนี เลขาสหกรณ์บริการธุรกิจและท่องเที่ยวมุกอันดามัน จำกัด พร้อมด้วยกลุ่มสมาชิก จำนวนกว่า 50 คน ยื่นหนังสือถึง น.ต.ศิธา ทิวารี ประธานคณะกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมในการเปิดเคาน์เตอร์ให้บริการผู้โดยสารที่ท่าฯ ภูเก็ต และขอความเป็นธรรมให้กลุ่มผู้ประกอบการดังกล่าวให้บริการที่ท่าฯ ภูเก็ตได้โดยไม่จับกุม ในช่วงที่คณะกรรมการพิจารณารายได้ท่าอากาศยานกำลังพิจารณาในการให้สัมปทานรถแก่ผู้ประกอบการรถโดยสารที่ท่าอากาศยานภูเก็ต
หลังจากที่กลุ่มสหกรณ์ดังกล่าว ได้นำรถรับจ้างโดยสาร (แท็กซี่ป้ายดำ) มาให้บริการนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างชาติ ที่ท่าฯ ภูเก็ต ตามข้อตกลงร่วมกันของจังหวัดภูเก็ต ท่าฯ ภูเก็ต และผู้ประกอบการรายเดิมที่ให้บริการอยู่ที่ท่าฯ ภูเก็ต แต่ถูกกีดกันจากกลุ่มผู้ประกอบการรายเดิม รวมทั้งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทางพนักงานรักษาความปลอดภัยของท่าฯ ภูเก็ต ขับไล่ออกจากพื้นที่ ทำให้กลุ่มสหกรณ์ดังกล่าวได้รับความเดือดร้อน ดังนั้น จึงเดินทางพร้อมทวงถามถึงความคืบหน้าถึงการให้ตั้งเคาน์เตอร์ให้บริการที่ท่าฯ ภูเก็ต
นายอิทธิพล เมฆมณี เลขาสหกรณ์บริการธุรกิจและท่องเที่ยวมุกอันดามัน จำกัด กล่าวว่า กลุ่มสหกรณ์บริการธุรกิจฯ มีจำนวนสมาชิกประมาณ 250 ราย ซึ่งทางสหกรณ์ฯ ได้ดำเนินการยื่นหนังสือถึงทาง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายประเทือง ศรขำ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต พิจารณาการขออนุญาตเปิดจุดให้บริการขนส่งผู้โดยสารในเขตท่าอากาศยานภูเก็ต หรือเปิดเคาน์เตอร์ให้บริการนักท่องเที่ยว ของบริษัทสหกรณ์บริการธุรกิจและท่องเที่ยวฯ โดยเรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของทางบอร์ดบริหาร ทอท. เนื่องจากกลุ่มดังกล่าวเป็นการรวมตัวกันของผู้ประกอบอาชีพรับจ้างขนส่งผู้โดยสาร ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่โดยรอบของสนามบิน และมีความตั้งใจที่จะประกอบอาชีพให้ถูกต้องตามระเบียบของราชการ ดังนั้น จึงพยายามทำตามกฎเกณฑ์ของท่าฯ ภูเก็ต และให้ความร่วมมือในด้านต่างๆ เพื่อเตรียมรองรับการพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งกำลังเข้าสู่การเปิดประชาคมอาเซียนที่จะถึง
นายอิทธิพล กล่าวต่อว่า ช่วงนี้การให้บริการรถรับส่งผู้โดยสาร หรือรถแท็กซี่ของทางสหกรณ์ฯ นั้น ไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ เพราะเกิดปัญหาต่างๆ มากมาย เช่น มีทั้งถูกกีดกันจากผู้ประกอบการรถแท็กซี่อื่นๆ ที่มีการรับสัมปทานเข้ามาก่อนหน้านี้ หรือถ้าหากว่ามีการเข้าคิวเพื่อรอรับผู้โดยสารก็จะถูกข้ามคิว โดยเปิดให้แท็กซี่คันอื่นเข้ามาให้บริการแทน พร้อมกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ และพนักงานรักษาความปลอดภัยของสนามบินก็มีการขับไล่รถแท็กซี่ของกลุ่มสหกรณ์ออกไปจากพื้นที่สนามบินทันที หากมีการพบเห็น ดังนั้น ในปัจจุบันจึงเป็นปัญหาสร้างความเดือดร้อนให้แก่กลุ่มสหกรณ์ฯ เป็นอย่างมาก เพราะขาดรายได้ในการประกอบอาชีพ จึงต้องเดินทางมาทวงถามถึงความคืบหน้าในกรณีดังกล่าว ประกอบกับระหว่างที่กำลังรอบอร์ด ทอท. ดำเนินการ กลุ่มแท็กซี่ป้ายดำจะสามารถเข้ามาให้บริการแบบผู้ประกอบการรายอื่นๆ ได้หรือไม่
ขณะที่ นายประเทือง ศรขำ ผอ.ท่าอากาศยานภูเก็ต กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณารายได้ของท่าอากาศยาน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก สหกรณ์ดังกล่าวเป็นการรวมตัวของผู้ประกอบการรถแท็กซี่ป้ายดำที่ก่อนหน้านี้ มาให้บริการที่ท่าฯ ภูเก็ต แต่ถูกเจ้าหน้าที่ของการท่าฯ จับกุม จึงได้รวมตัวจัดตั้งเป็นสหกรณ์ฯ และจากปัญหาดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งคณะกรรมาธิการคมนาคมได้มีการสรุป และให้ทางการท่าฯ อนุญาตให้สหกรณ์ฯ นำรถมาวิ่งร่วมกับผู้ได้รับสัมปทานเดิมได้ 50 คัน โดยแบ่งเป็นวิ่งร่วมกับสหกรณ์บริการรถยนต์บริการธุรกิจภูเก็ต 25 คัน และบริษัท ภูเก็ต ไม้ขาวสาคู จำกัด อีก 25 คัน ซึ่งทั้ง 50 คันนั้นเป็นรถแท็กซี่ป้ายดำของคนในพื้นที่ภูเก็ต ส่วนที่เหลือทางผู้รับสัมปทานทั้ง 2 ราย ไม่ประสงค์จะให้วิ่งร่วมด้วย โดยให้เหตุผลว่า ไม่ได้เป็นรถแท็กซี่ในพื้นที่ภูเก็ต โดยสัญญาที่ทางการท่าฯ ให้แก่ผู้ประกอบการ 2 รายเดิมนั้นจะสิ้นสุดในวันที่ 30 มิถุนายน 2556 นี้ ซึ่งการพิจารณาการให้สัมปทานใหม่นั้นคาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ โดยค่าสัมปทานอยู่ที่เดือนละ 1 ล้านบาทต่อราย
“ที่ผ่านมานั้น ทางกลุ่มแท็กซี่สหกรณ์บริการธุรกิจและท่องเที่ยวฯ ไม่ยอมรับในข้อปฏิบัติที่ทางบอร์ด ทอท. ได้ดำเนินการไว้ คือ สมาชิกผู้ประกอบอาชีพรับจ้างรับส่งผู้โดยสารต้องมีการจ่ายค่าธรรมเนียมสมาชิก 2,600 บาทต่อเดือน รวมทั้งคิดอัตราค่าบริการนักท่องเที่ยว จำนวนร้อยละ 20 ต่อการให้บริการ 1 ครั้ง แต่ทางกลุ่มสหกรณ์ฯ ไม่ยินยอมปฏิบัติจนทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น”
ด้านนายศิธา ทิวารี ประธานกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังจากรับหนังสือจากกลุ่มสหกรณ์บริการธุรกิจและท่องเที่ยวมุกอันดามันแล้ว จะนำเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ดการท่าฯ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ให้บริการที่ท่าฯ ภูเก็ต ซึ่งการพิจารณาให้สัมปทานนั้นจะต้องเป็นไปบนพื้นฐานของการให้บริการผู้โดยสารที่เป็นธรรม จำนวนรถมีความเหมาะสมกับจำนวนผู้โดยสารที่ผ่านท่าฯ ภูเก็ต ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการได้ และผลตอบแทนที่การท่าฯ ได้รับเหมาะสมในแง่ของการทำธุรกิจ ซึ่งการท่าฯ จะทำให้ดีที่สุดบนฐานที่ทุกฝ่ายสมารถอยู่ได้