xs
xsm
sm
md
lg

จับตาช่วงครบรอบปีเหตุการณ์ “กรือแซะ” 28 เม.ย.นี้ / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก

สถานการณ์ของ “สงครามประชาชน” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้  ตั้งแต่เดือน ก.พ.เป็นต้นมา หรือหลังการเปิดพื้นที่พูดคุย “สันติภาพ” ระหว่างรัฐไทยและขบวนการบีอาร์เอ็น โคออดิเนต มีความรุนแรงมากขึ้น และการก่อเหตุร้ายวันถี่ขึ้น โดยในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาเพียงเดือนเดียวมีการก่อเหตุร้าย 57 ครั้ง เป็นการลอบยิง 36 ครั้ง วางระเบิด 15 ครั้ง ยิงก่อกวน 5 ครั้ง ลอบวางเพลิง 1 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวม 45 ศพ และบาดเจ็บ 158 ราย
 
ในเดือน เม.ย.เหตุการณ์ยิ่งรุนแรงมากขึ้น เมื่อกลุ่ม “นักรบปัตตานี” ได้สร้างความสูญเสียให้แก่ข้าราชการระดับสูงฝ่ายปกครองทำให้ “นายอิศรา ทองธวัช” รองผู้ว่าราชการจังหวัด และ “นายเชาวลิตร ไชยฤกษ์” ป้องกันจังหวัดยะลา เสียชีวิตจากการจากวางระเบิดระหว่างเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ และปฏิบัติการฆ่ารายวันยังคงต่อเนื่องในพื้นที่ 3 จังหวัด
 
แต่ที่ถือว่ารุนแรงที่สุดในเดือน เม.ย. คือ ปฏิบัติการในคืนวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมาที่จังหวัดปัตตานี เมื่อ “แนวร่วม” ในพื้นที่ใช้แผน “รวมดารา” ก่อเหตุรวม 35 จุดในคืนเดียว จนทำให้เจ้าหน้าที่ทหารต้องพลีชีพ 2 ศพ บาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง สถานที่ราชการ รถราชการ สาธารณะสมบัติถูกเผาทำลายไปจำนวนหนึ่ง และที่สำคัญที่สุด มีการก่อวินาศกรรม “เรือประมง” ที่จอดอยู่บริเวณท่าเทียบเรือ 5 ลำด้วยกัน
 
ถือเป็นครั้งแรกในห้วงเวลา 10 ปีที่ “เรือประมง” ตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์ เพราะนับแต่เกิดความไม่สงบระลอกใหม่ขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ธุรกิจประมง เรือประมง ยังไม่เคยได้รับความสูญเสีย
 
ดังนั้น การที่ “แกนนำ” ได้กำหนดแผนการวางระเบิดวางเพลิงเรือประมง  จึงเป็นเรื่องที่อยู่นอกความคาดหมายของ “หน่วยงานความมั่นคง” และเป็น “อีกยุทธวิธี” หนึ่งของขบวนการแบ่งแยกดินแดนของกลุ่มผู้เรียกตัวเองว่า “นักรบปัตตานี “ หรือ “นักรบปาตอนี” หรือ “นักรบฟาตอนี” ซึ่งถือเป็นกลุ่มเดียวกัน
 
การกำหนดเป้าหมายใหม่ด้วยการทำลายล้างเรือประมงของแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนในครั้งนี้ เพื่อต้องการทำลายเศรษฐกิจในพื้นที่ เนื่องจากธุรกิจประมงใน จ.ปัตตานีเป็น “เส้นเลือด” สำคัญ หากเรือประมงกลายเป็นเป้าหมายในการก่อวินาศกรรม หมายถึงการถอนสมอหนีของเรือนายทุนต่างถิ่น ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อแพปลา ห้องเย็น โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เป็น “วงจร” ของธุรกิจทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมา ขบวนการมีความพยายามทำลายฐานเศรษฐกิจของคนไทยพุทธ และคนไทยเชื้อสายจีนมาโดยตลอด เช่น การก่อวินาศกรรมโรงแรม โรงงาน และโชว์รูมรถยนต์ ร้านสะดวกซื้อ ปั๊มน้ำมัน และในย่านการค้าสำคัญๆ เช่น การก่อวินาศกรรมย่านการค้าในเทศบาลตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี
 

 
ยุทธศาสตร์ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา และกำลังย่างเข้าสู่ปีที่ 10 ในเวลานี้ มีหลักใหญ่ๆ อยู่เพียงประการเดียวคือ การก่อการร้ายรายวันด้วยการทำลายเป้าหมายที่เป็นสัญลักษณ์ของรัฐไทย เช่น โรงเรียน ครู วัด พระสงฆ์ เจ้าหน้าที่รัฐทุกหน่วย และพลเรือนที่เป็นผู้ให้การสนับสนุนหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งเป้าหมายอ่อนแอ เพื่อให้ประชาชนหวาดกลัว และเกิดความรู้สึกว่า “เจ้าหน้าที่รัฐ” หรือ “รัฐไทย” ไม่มีประสิทธิภาพในการให้ความคุ้มครองชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน
 
จากการปฏิบัติการของแนวร่วม 9 ปี่ที่ผ่านมา รวมทั้งนโยบายที่ผิดพลาดของ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ที่รวบรวมภารกิจ และหน้าที่ของส่วนราชการ หน่วยงานภูมิภาคอื่นๆ มาทำเอง ยิ่งทำให้หน่วยงานในภูมิภาคอ่อนแอ ไม่กล้าออกพื้นที่ ห่วงโซ่ระหว่างฝ่ายปกครองกับประชาชนถูกตัดขาด ประชาชนรู้สึกถึงความว้าเหว่ ถูกโดดเดี่ยว ไม่มีที่พึง
 
ยิ่งเมื่อเวลานี้ “แกนนำ” มีเป้าหมายทำลายชีวิตหัวหน้าหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ระดับนำ ทำให้หัวหน้าหน่วยเสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง ยิ่งทำให้ยุทธศาสตร์การทำลายอำนาจรัฐของขบวนการสัมฤทธิผล ดูได้จากจำนวน “แนวร่วม” ที่เพิ่มขึ้นถึง 400,000 กว่าคนในขณะนี้
 
อีกสาเหตุหนึ่งของเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าหลังจากที่สภาที่ปรึกษาและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกระทรวงมหาดไทย มีนโยบายดับไฟใต้ด้วยการสร้างความเข้มแข็งให้แก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตามแนวคิดที่ว่า...“เหตุเกิดที่หมู่บ้าน ชัยชนะต้องมาจากหมู่บ้าน”
 
ซึ่งในทันทีที่มีการใช้นโยบายดังกล่าว ปรากฏว่า ในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านที่เป็นฝ่ายรัฐก็ล้มตายเป็น “ใบไม้ร่วง” แสดงให้เห็นถึงการออกมาขัดขวางนโยบายดังกล่าวโดยใช้ความรุนแรง สร้างความหวาดกลัวให้แก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และข้าราชการฝ่ายปกครอง
 
สุดท้าย การก่อการร้ายที่รุนแรง และทำลายล้างในทุกรูปแบบในขณะนี้ เป็นการทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนทั้งประเทศ ต่อนโยบายการเปิดพื้นที่พูดคุยระหว่าง สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่มี “พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร” เป็นตัวแทนของรัฐไทย และขบวนการบีอาร์เอ็น โคออดิเนต ที่มี “นายฮาซัน ตอยิบ” เป็นตัวแทน สาเหตุของการต้องใช้ความรุนแรงในห้วงของการเปิดพื้นที่พูดคุยสันติภาพ ซึ่งสวนทางกับความรู้สึกของประชาชนที่ต้องการเห็นการยุติการใช้ความรุนแรง
 
เนื่องจากกลุ่มของนักรบปัตตานี ซึ่งดำเนินการทำจรยุทธ์แบบ “กองโจร” ในรูปแบบ “สงครามประชาชน” นั้น มีความเห็นต่างจากผู้นำทางการเมืองของบีอาร์เอ็นฯ
 
นั่นคือนักรบปัตตานียังมี “ธง” ในการใช้ความรุนแรงในการต่อสู้เพื่อตั้งรัฐปัตตานี รวมทั้งเห็นว่าถ้ามีการพูดคุยสันติภาพเพื่อยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธแล้ว กลุ่มของนักรบปัตตานีจะไม่ได้อะไรเป็นการตอบแทน
 

 
ดังนั้น ในขณะที่การ “สื่อสาร” ระหว่างแกนนำของบีอาร์เอ็นฯ กับกลุ่มนักรบปัตตานียังหาข้อยุติในเรื่องของ “ต่างตอบแทน” ยังไม่ได้ สถานการณ์ความรุนแรงยังจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ ความเชื่อมั่นต่อการเปิดพื้นที่พูดคุยเพื่อ “สันติภาพ” ของประชาชนจะถูกทำลายลง เพราะเห็นว่ากระบวนการพูดคุย หรือเจรจาเพื่อสันติภาพใช้ไม่ได้กับปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
และนั่นคือการเกิด “วิกฤตศรัทธา” ต่อขบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ที่หลายฝ่ายเห็นว่าเป็น “ทางออก” ที่ดีที่สุดของการดับไฟใต้ และหากเป็นไปอย่างนี้ไฟใต้ก็มีแต่จะรุนแรงและโชนแสงอย่างไม่มีวันจบสิ้น
 
การทำลายกระบวนการพูดคุยสันติภาพลงได้ ก็มีผู้ “สมประโยชน์” ทั้งฝ่ายโจร ฝ่ายการเมือง และเจ้าหน้าที่บางพวก หรือบางกลุ่มที่พยายามล้มขบวนการเจรจาสันติภาพ อย่างกรณียิงระเบิดเอ็ม 79 ใส่บ้านของ “นายนัจมุดดีน อูมา” อดีต ส.ส.4 สมัย ที่ปรึกษาของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี
 
อันมี “นัย” ว่าไม่ใช่ฝีมือบีอาร์เอ็นฯ-พูโล แต่เป็นฝีมือของ “พูเรา” ด้วยกันเอง
 
เนื่องเพราะนายนัจมุดดีนคือ “ตัวเชื่อม” ที่สำคัญระหว่างกลุ่มคนที่คิดต่างกับรัฐทั้งในพื้นที่ และนอกพื้นที่ กับ หน่วยงานรัฐในหลายระดับทั้งส่วนกลางและพื้นที่
 
แต่อย่างไรก็ตาม มีสิ่งบอกเหตุว่าสถานการณ์ความรุนแรงยังจะเกิดต่อเนื่อง จนกว่าจะผ่านพ้นวันที่ 28 เม.ย.นี้ ซึ่งเป็นวันครบรอบปีของการ “ตายหมู่” ที่มัสยิดกรือเซะ จ.ปัตตานี เนื่องจากกลุ่มนักรบปัตตานียังต้องการใช้ประโยชน์จาก “สัญลักษณ์” ของกรือเซะเพื่อตอกย้ำความเจ็บแค้นในเกิดขึ้นในหมู่แนวร่วม ด้วยการก่อเหตุรุนแรงเพื่อเป็นการ “ตอบแทน” เจ้าหน้าที่รัฐ
 
ดังนั้น ปัญหาเฉพาะหน้าของ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” คือ ต้องพร้อมทั้งในเกม “รุก” และการ “รับ” กับขบวนการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของอำนาจรัฐในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้คงอยู่

กำลังโหลดความคิดเห็น