คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
สถานการณ์การก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกจับตามอง และการตั้งคำถามจากสาธารณชนอย่างเข้มข้น หลังการออกมารายงานตัวของ นายแวอาลีคอปเตอร์ แวจิ และพลพรรคของขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต เกือบ 100 คน เมื่อวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา โดยคำถามแรกคือ ผู้มอบตัว เป็น “ตัวจริง” หรือไม่ และคำถามที่ 2 คือ หลังการมอบตัว พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะลดความรุนแรงลงได้หรือไม่
และเหตุ “คาร์บอมบ์” เมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา ที่มีการยิงถล่มร้านขายทองรูปพรรณ และ “คาร์บอมบ์” ที่หน้าห้างพิธานพาณิชย์ เขตเทศบาลตำบลตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี จนมีผู้เสียชีวิต 6 ศพ บาดเจ็บ 50 กว่าราย บ้านเรือนถูกเผาทำลายไปจำนวนมาก คือคำตอบที่ชัดเจนเกี่ยวกับความสงบ หรือความสันติสุขของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
เพราะโดยข้อเท็จจริง ผู้ที่ถูกนำมามอบตัว หรือรายงานตัวต่อกองทัพเป็นเพียงผู้ที่เป็น “อดีต” พลพรรคของ “บีอาร์เอ็นฯ” และอื่นๆ ที่ถูกนำออกมารายงานตัวแบบ “สะสม” และช่วยเหลืองานของกองทัพมาหลายปีแล้ว การนำคนเกือบ 100 คน ออกมามอบตัวจึงได้ผลเพียงในเรื่องสังคมจิตวิทยามวลชน ได้ภาพลักษณ์ที่ดี และเป็นลักษณะของการสร้าง “สะพาน” เพื่อเชื่อมต่อกับกลุ่มแนวร่วมที่ต้องการรอ “จังหวะ” ออกมามอบตัว เพื่อเข้าสู่กระบวนการของ พ.ร.ก.ความมั่นคง ตามมาตราที่ 21 เพื่อพ้นผิดทางอาญาเท่านั้น
ดังนั้น การออกมามอบตัวของกลุ่มคนในลักษณะนี้จึงไม่ได้ทำให้สถานการณ์การก่อการร้ายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ลดน้อยลง เพราะ “แนวร่วม” ที่ทำหน้าที่ในการก่อการร้าย เป็น “แนวร่วม” รุ่นใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นมาทดแทนแนวร่วมรุ่นเก่า และมีการสร้างทดแทนขึ้นทุกๆ วัน จนบัดนี้ ไม่มีหน่วยงานไหนที่จะระบุตัวเลขที่ชัดเจนว่ามี “แนวร่วม” รุ่นใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นมาจำนวนเท่าไหร่
นอกจากนั้น ระเบิดในเขตเทศบาลตะลุบันที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ยังได้ตอบโจทย์ข้อเท็จจริงอีกหลายประการดังนี้
1.“แนวร่วม” ต้องการทำลายพื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นฐานเศรษฐกิจของคนไทยพุทธ และคนไทยเชื้อสายจีน เพราะเขตเทศบาลตะลุบัน อ.สายบุรี เป็นพื้นที่เศรษฐกิจชั้นดี เป็นพื้นที่ค้าขาย ทำธุรกิจของคนไทยเชื้อสายจีนที่ยึดครองพื้นที่มาตั้งแต่ในอดีต บริษัทพิธาน คือ บริษัทเก่าแก่ที่ทำธุรกิจใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และร้านทองคือ ธุรกิจของคนไทยเชื้อสายจีนที่ยังไม่อพยพออกจากพื้นที่ ซึ่งก่อนหน้านี้ นายทุน เจ้าของธุรกิจประมงในพื้นที่ ถูก “แนวร่วม” ฆ่าทิ้งไปแล้วจำนวนหนึ่ง
2.เป็นการบอกให้ประชาชนได้รู้ว่า วิธีการทำลายล้างของ “แนวร่วม” แห่งขบวนการ “บีอาร์เอ็นฯ” คือการใช้ “คาร์บอมบ์” เป็นอาวุธ และเป็นการทำลายล้างด้วยการผสมน้ำมันเบนซินเข้าไปในระเบิดเพื่อให้เกิดเพลิงเผาไหม้บ้านเรือน ร้านค้าในที่เกิดเหตุ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธวิธีของการก่อการร้ายที่ลดจำนวนความถี่ลง แต่รุนแรง และได้ผลมากยิ่งขึ้น
และ 3.เป็นการ “สื่อ”ให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็น กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ยังคงเดินหน้าแบบ “ล้มเหลว” ในการป้องกัน “คาร์บอมบ์” ล้มเหลวในการติดตามรถยนต์ที่ถูกโจรกรรมจาก “แนวร่วม” เพื่อไปประกอบระเบิดเป็น “คาร์บอมบ์” เพื่อใช้ในการก่อการร้าย
เพราะรถยนต์คันที่ “แนวร่วม” ใช้ในการประกอบเป็น “คาร์บอมบ์” ในครั้งนี้เป็นรถยนต์ที่ถูก “แนวร่วม” ปล้นฆ่าเจ้าทรัพย์ที่เป็นผู้หญิงจำนวน 3 ศพ จากจุดรับซื้อน้ำยางใน ต.ท่าม่วง อ.เทพา จ.สงขลา เมื่อวันที่ 7 กันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า “แนวร่วม” ปล้นรถยนต์คันดังกล่าวเพื่อใช้ประกอบเป็น “คาร์บอมบ์” และรถคันดังกล่าวก็ถูกนำไปซ่อนในพื้นที่รอยต่อระหว่าง อ.สงขลา กับ จ.ปัตตานี โดยดัดแปลงเป็น “คาร์บอมบ์” และรอจังหวะเพื่อเลือกพื้นที่ อ.สายบุรี เป็น “เป้า” ของการทำลายล้าง และสาเหตุที่ “แนวร่วม” เลือกพื้นที่ อ.สายบุรี เป็นที่ก่อเหตุเพราะมี “จุดอ่อน” กำลังสามฝ่ายในพื้นที่อ่อนแอ ไม่มี “เอกภาพ” จนทำให้มี “ช่องว่าง” ให้ “แนวร่วม” สามารถปฏิบัติการได้ผล
การติดตามรถยนต์ที่ถูกปล้น ถูกขโมย ถูกโจรกรรมยังเป็นจุดอ่อนของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และของเจ้าหน้าที่ตำรวจในทุกพื้นที่ เพราะไม่เคยพบว่ารถยนต์เหล่านั้นถูกนำไป “ซ่อน” ที่ตรงไหน ที่ผ่านมา การ “เอกซเรย์” พื้นที่ของเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำ และทำแล้วไม่ได้ผล รวมทั้งการตั้งจุดตรวจ จุดสกัดที่ใช้อยู่ในขณะนี้ไม่สามารถที่จะตรวจ หรือสกัดรถยนต์ที่ใช้ในการทำผิดได้ เพราะ “แนวร่วม” มี “การข่าว” ที่ดีกว่าเจ้าหน้าที่ มี “มวลชน” ที่ให้การสนับสนุนมากกว่าเจ้าหน้าที่ และสุดท้าย ยุทธวิธีของ “แนวร่วม” ไม่สลับซับซ้อน ให้วิธีการง่ายๆ ในการ “หลอกล่อ” เจ้าหน้าที่ให้เดินเข้าสู้พื้นที่ “เป้าหมาย” ที่กลายเป็น “กับดัก” ที่ได้ผลเกือบทุกครั้ง
ถ้าติดตาม “ข่าวสาร” ของฝ่ายความมั่นคงจะทราบว่า วันนี้ ยังมีรถยนต์ที่ถูกโจรกรรมไปอีกอย่างน้อย 15 คัน ที่ยังอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งถูกตั้งข้อสงสัยว่าจะเป็นการใช้ทำ “คาร์บอมบ์” และหากเป็นความจริง แสดงว่าวันนี้สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังตกอยู่ภาวะวิกฤต เพราะไม่มีใครทราบได้ว่า “คาร์บอมบ์” ที่ถูกเตรียมไว้จาก “แนวร่วม” จะถูกนำไปปฏิบัติการในพื้นที่ไหนบ้าง
เพราะที่ผ่านมา 8-9 ปี สิ่งที่เป็นประจักษ์ต่อสาธารณชนคือความ “ล้มเหลว” ของงาน “การข่าว” ของหน่วยงานของรัฐ เพราะไม่เคยมีข่าวล่วงหน้าของการทำ “คาร์บอมบ์” เพื่อที่ได้ป้องกันอย่างทันท่วงที ดังนั้น ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงยังต้องอยู่อย่างหวาดผวา และ “ทุกข์ใจ” ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นได้ให้คำตอบที่ชัดเจนว่า ณ วันนี้ กำลังของกองทัพ ของตำรวจ และ ฝ่ายปกครองยังไม่สามารถคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่คนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง
จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ของกองทัพที่จะต้องมีนโยบายที่ถูกต้อง สอดคล้องกับความเป็นจริงของสถานการณ์ เลิก “สร้างภาพ” เลิกทำในสิ่งที่ “ลวงตา” ของประชาชน โดยเฉพาะ “กองทัพ” ต้องทำหน้าที่เดียวให้ได้ผล นั่นคือ การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน มุ่งเน้นในเรื่องรักษาความสงบเพียงอย่างเดียว ส่วนงานด้านอื่นๆ คืนให้แก่หน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรง เพราะการรวมเอางานของทุกภาคส่วนมาไว้เพื่อให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าทำเองอย่างที่ผ่านมา สุดท้าย เสียทั้งงาน “การเมือง” และเสียทั้งงาน “การทหาร” และสุดท้าย คือ เสียเงินงบประมาณอย่างเปล่าประโยชน์