xs
xsm
sm
md
lg

"บีอาร์เอ็นฯ" แห่รายงานตัว ถ้าไม่ใช่ "ปาหี่" ก็ข่าวดีรอบ 9 ปีปลายด้ามขวาน/ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรยากาศการรายงานตัวของพลพรรคบีอาร์เอ็นฯ ซึ่งคาดว่าหากไม่ใช่การจัดฉาก และรัฐมีวิธีการพร้อมรับมือแล้ว การเปิดพื้นที่สันติภาพเพื่อยุติความขัดแย้งก็จะเกิดขึ้นได้
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
 
สถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้นับแค่ปี 2547 เป็นต้นมา มีแต่ทรงกับทรุดมาโดยตลอด ในระยะเวลา 9 ปีนั้นถือว่าการออกมารายงานตัวของ นายแวอาลีคอปเตอร์ วาจิ หรือ ( เจ๊ะอาหลี ) ที่นำพลพรรคขบวนการบีอาร์เอ็นโคออดิเนตร่วม 100 ชีวิต มารายงานตัวเปิดพื้นที่สนทนากับ พล.ท.อุดม ชัยธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลาม จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 11 กันยายน ถือว่าเป็นข่าวดีที่สุดในรอบ 9 ปี ตั้งแต่เกิดเหตุความไม่สงบขึ้น
 
เพราะโดยข้อเท็จจริง “แนวร่วม” ที่ก่อเหตุร้ายรายวัน ผู้บงการคือขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็นฯ ซึ่งที่ผ่านมาในรอบ 9 ปี ที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ “พลพรรค” ของบีอาร์เอ็นฯ ยังไม่เคยปรากฎตัวออกมาเพื่อรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมีการยืนกรานมาโดยตลอดว่าจะไม่มีการพูดคุยหรือเจรจากับเจ้าหน้าที่รัฐ และยืนยันมาโดยตลอดว่ายุทธศาสตร์ที่บีอาร์เอ็นฯ จะดำเนินการต่อไปนั่นคือการใช้ความรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนที่เป็นฝ่ายสนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐ
 
นายแวอาลีคอปเตอร์ หนึ่งในขบวนการบีอาร์เอ็นฯ
การออกมารายงานตัวของนายแวอาลีคอปเตอร์ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำตามที่ กอ.รมน. ระบุไว้พร้อมทั้งมีการตั้งรางวัลนำจับ 1,000,000 บาท จึงถือเป็นข่าวดี และเป็นความสำเร็จของนโยบาย “พาคนกลับบ้าน” ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญในการแก้ปัญหาความไม่สงบของ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 และแม้ว่าโดยข้อเท็จจริง นายแวอาลีคอปเตอร์อาจจะไม่ใช่ตัวการสำคัญในขบวนการบีอาร์เอ็นฯ แต่ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในบรรดา “แนวร่วม” รุ่นเก่าที่ร่วมกับ “มะแซ อุเซ็ง” ในการก่อเหตุร้ายตั้งแต่ต้นปี 2547 เป็นต้นมา
 
เมื่อมามองประเด็นของการขอเข้ารายงานตัวในครั้งนี้ของ “แนวร่วม” กลุ่มนายแวอาลีคอปเตอร์จะพบว่ามีเหตุผล 3 ประกาศที่ “แนวร่วม” เกิดความเบื่อหน่าย และมองไม่เห็นอนาคตในการต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนนั่นคือ 1.เข็มมุ่งทางยุทธศาสตร์การต่อสู้ล้ำหน้ามวลชนและยาวเกินไป 2.การชี้นำแนวทางขององค์กรไม่สามารถให้คำอธิบายได้อย่างชัดเจนทางยุทธวิธี เพื่อให้บรรลุทางยุทธศาสตร์อย่างเป็นระบบ 3.เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงรัฐกำหนดนโยบายที่เป็นการสร้างสรรมากขึ้นพวกเขาจึงออกมารายงานตัว เพื่อต่อสู้ตามวิถีทางสันติวิธี (ถ้าทั้ง 3 ข้อเป็นการเขียนของกลุ่มนายแวอาลีจริง โดยไม่มีคนใน กอ.รมน. เขียนให้) แสดงว่าวันนี้ “แนวร่วม” รุ่นเก่ากำลังเบื่อหน่ายในการต่อสู้ที่มองไม่เห็นความสำเร็จและไม่เห็นอนาคตซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกับการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในอดีต อันแสดงให้เห็นว่า ยุทธศาสตร์การอดทนต่อการยั่วยุของ “บีอาร์เอ็นฯ” ที่ต้องการให้กองทัพใช้ความรุนแรงในการตอบโต้เป็นผลสำเร็จ
 

ปัญหาที่จะต้องให้ความสนใจหลังจากที่ “แนวร่วม” กลุ่มนี้ออกมารายงานตัวคือ ต้องตรวจสอบให้ชัดเจนว่า คนจำนวน 100 คนนี้เป็นผู้ต้องหาตาม ป.วิอาญา หรือไม่ ความผิดตาม ป.วิอาญา คือ การฆ่าคน การวางเพลิงวางระเบิด ประทุษรายต่อชีวิต ทรัพย์สิน และอื่นๆ ซึ่งหากมีคดีตาม ป.วิอาญาติดตัวอยู่ ก็ต้องเข้าสู่ขบวนการยุติธรรม คือการ มอบตัว ขอประกันตัวเพื่อต่อสู้คดี ในส่วนของผู้ที่ไม่มี ป.วิอาญา ติดตัวจะสามารถเข้าสู่ขบวนการของ พรก.ความมั่นคง นั่นคือการเข้ารับการฟื้นฟูจิตใจการฝึกอาชีพเพื่อการกลับไปเป็นคนดีของสังคม ตามนโยบายของรัฐบาลในการแก้ปัญหาเพราะถือว่า “แนวร่วม”กลุ่มนี้เป็น “แนวร่วม” ผู้หลงผิดและที่ต้องมีการตรวจสอบให้ชัดเจน โปร่งใส คือ ในการรายงานตัวจำนวนมากของ “แนวร่วม” ครั้งนี้มี “ของปลอม” ที่ก่อคดีอาชญากรรมหรือเป็นเพียงโจรทั่วๆ ไปสอดแซรกหรือ “สอดไส้” มาด้วยหรือไม่ (เพราะในอดีตที่มีการนำ สมาชิกพูโล มารายงานตัว เคยทำตัวอย่างเอาไว้)
 
และที่สำคัญการออกมารายงานตัวครั้งนี้นายแวอาลีคอปเตอร์และพลพรรคมีข้อเรียกร้องจากรัฐบาล 3 ข้อด้วยกัน 1.รัฐมีมาตรการดำเนินการต่อผู้ที่ยุติบทบาทความรุนแรงต่อรัฐ โดยเฉพาะผู้ที่มีหมายจับอย่างไร 2.รัฐจะจัดการแก้ปัญหาความขัดแย้งให้เป็นรูปธรรมอย่างไร เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพในพื้นที่ 3.รัฐมีหลักประกันเช่นไรในการกำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นรูปธรรมคำตามทั้ง 3 ข้อ แม้จะไม่ใช่ข้อต่อรอง แต่เป็น “โจทย์” ที่รัฐบาลต้อมีคำตอบที่ชัดเจน
 

เพราะหากการออกมารายงานตัวครั้งนี้ไม่มีขบวนการ “ปาหี่” อยู่เบื้องหลัง “โจทย์” ทั้ง 3 ข้อคือ “สะพาน” ที่จะทอดจากรัฐบาลเพื่อนำเอาคนผิดที่ยังลังเล ไม่แน่ใจ และไม่มีความมั่นใจต่อนโยบายของรัฐบาลจะตัดสินใจรายงานตัวเพื่อยุติการความรุนแรงด้วยการใช้อาวุธ โดยจะมีกลุ่มคนจำนวนแรกกลุ่มนี้เป็นตัวอย่าง ถ้ารัฐมีนโยบายที่ถูกต้องสอดคล้องกับข้อเรียกร้องของ “แนวร่วม” โอกาสที่การใช้ “สันติวิธี” เปิดพื้นที่พูดคุยเพื่อยุติปัญหาความรุนแรงก็จะประสบผล แต่ถ้า “แนวร่วม” เหล่านี้ได้รับการปฏิบัติที่หน่วยงานของรัฐในพื้นที่ขัดแย้งกันเองในความคิด และวิธีปฏิบัติที่มักจะไปกันคนละทิศทางนโยบาย “พาคนกลับบ้าน” ของ พล.ท.อุมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4ก็คงจะเกิดได้แค่ครั้งเดียวเท่านั้น

 
และสิ่งที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าต้องคำนึงรวมทั้งมียุทธวิธีในการรับมือกับการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัด เพราะหากการออกมารายงานตัวครั้งนี้เป็น “ของจริง” ไม่ใช่ “ละครลิง” แกนนำระดับสูงของบีอาร์เอ็นฯ จะต้องปฏิบัติการขัดขวางการออกมารายงานตัวของ “แนวร่วม”อย่างแน่นอนเช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ ซึ่งมีการก่อการร้าย มีความขัดแย้งเมื่อ “สันติวิธี” ใช้ได้ผล ฝ่ายที่สูญเสีย คือ ขบวนการแบ่งแยกดินแดนจะต้องก่อเหตุอย่างรุนแรง เพื่อสร้างความหวาดกลัวให้กับ “แนวร่วม” เพื่อขัดขวางแผนการ สันติภาพ หรือสันติวิธี วันนี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า วางยุทธวิธี รับมืออย่างพร้อมเพรียงแค่ไหน
 

สุดท้ายอย่างเพิ่งดีใจกับการรายงานตัวของ “แนวร่วม” กลุ่มใหญ่ในครั้งนี้เพราะความจริงยังไม่กระจ่างชัด ในขณะที่ “แนวร่วม” กลุ่มใหม่ ที่เป็นเยาวชนในพื้นที่ยังคงก่อการร้าย ก่อเหตุร้ายรายวันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการฆ่าผู้หญิง 3 ศพ ใน อ.เทพา จ.สงขลา เพื่อชิงรถยนต์ไปประกอบ “คาร์บอมบ์” ขณะนี้เจ้าหน้าที่ยังจับกุมคนร้ายและหารถยนต์ที่ถูกโจรกรรมไม่พบ จึงยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจกับประชาชนในพื้นที่ 4 จังหวัดว่า การออกมารายงานตัวของนายแวอาลีคอปเตอร์ จะทำให้สถานการณ์การก่อเหตุร้ายยุติลงอย่างที่หน่วยงานของรัฐมักจะออกมาโฆษณาชวนเชื่อ
 
วันนี้ขบวนการเปิดพื้นที่พูดคุยตามยุทธศาสตร์ของสภาความมั่นคงแห่งชาติเพิ่งเริ่มต้น แม้ว่าทุกอย่างยังไม่กระจ่างชัดว่าการมอบตัวครั้งนี้ของ “แนวร่วม” บีอาร์เอ็นฯ มีเบื้องหลักการถ่ายทำอย่างไร แต่นับเป็น “ข่าวดี” ชิ้นแรกในรอบ 9 ปีของพื้นที่ปลายด้ามขวาน
 


 

กำลังโหลดความคิดเห็น