xs
xsm
sm
md
lg

จาก “ตากใบทมิฬ” ถึง “17 ศพบาเจาะ” บทเรียนที่ต้องเรียนรู้?!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
โดย...ไม้ เมืองขม
 
เหตุการณ์ที่กองกำลังติดอาวุธของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ที่เรียกว่าหน่วยรบ “อาร์เคเค” นำกำลังกว่า 50 นาย บุกเข้าโจมตีเพื่อหวังละลายฐานของหน่วยนาวิกโยธิน มว.ปล.ที่ 2 ฉก.32 ซึ่งตั้งฐานปฏิบัติการอยู่ที่บ้านยือลอ ม.3 ต.บาเร๊ะเหนือ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ถือเป็นการปฏิบัติการที่ฮึกเหิมของกองกำลังติดอาวุธ อาร์เคเคในพื้นที่ จ.นราธิวาส ที่ต้องการสร้างความสูญเสียให้แก่เจ้าหน้าที่ และเพื่อให้ประชาชนและสังคมเห็นว่า กองกำลังแบ่งแยกดินแดนมี “ศักยภาพ” เป็นการข่มขู่ประชาชน และข่มขวัญเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติการในพื้นที่
 
แต่ผลสุดท้าย หน่วยรบอาร์เคเคกลุ่มนี้ที่มี “นายมะรอโซ จันทรวดี” เป็นหน้ากลุ่ม และเป็นกลุ่ม “รวมดารา” คือ การสนธิกำลังจากพื้นที่ต่างเข้าปฏิบัติการ ก็ประสบกับความล้มเหลว และต้องสูญเสียกำลังของหน่วยไปถึง 17 ศพ บาดเจ็บถูกนำไปหลบหนี หลบซ่อน และถูกจับได้อีกจำนวนหนึ่ง
 
นับเป็นปฏิบัติการตอบโต้ที่ประสบความสำเร็จของกำลังหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินค่ายจุฬาภรณ์ จ.นราธิวาส ที่ได้สร้างขวัญ และกำลังใจให้แก่ประชาชนในพื้นที่ และทำให้เห็นขีดความสามารถของกองกำลังของรัฐ ในการพิทักษ์ความปลอดภัยของประเทศชาติและประชาชน ซึ่งเบื้องหลังความสำเร็จในครั้งนี้ย่อมมีที่มา ที่ไป ที่ต้องนำมาวิเคราะห์เพื่อสรุปเป็น “บทเรียน” ของบทเรียนของทุกฝ่าย
 


 
ก่อนหน้าที่อาร์เคเคกลุ่มนายมะรอโซจะเข้าโจมตีฐาน มว.ปล.ฉก.นย.ที่ 32 ในครั้งนี้ นายมะรอโซได้ก่อการยิง “ครูชลธี เจริญชล” ครู ร.ร.บ้านตันหยง อ.บาเระเหนือ เสียชีวิตภายในโรงอาหารของโรงเรียน ท่ามกลางสายตาของนักเรียกกว่า 200 คน พร้อมทั้งยึดรถยนต์ของครูชลธีไปด้วย เพื่อใช้ประกอบ “คาร์บอมบ์”
 
หลังเกิดเหตุในครั้งนั้น กำลังเจ้าหน้าที่ได้ติดตาม ไล่ล่า จนในที่สุด สามารถปะทะกับกองกำลังของ “นายสุไฮดี ตาเห” ซึ่งเป็น “มือขวา” ของนายมะรอโซ และวิสามัญนายสุไฮดี พร้อมทั้งยึดได้อุปกรณ์ต่างๆ และหนึ่งในนั้นคือ “แท็บเล็ต” ที่มีข้อมูล เช่น ภาพถ่ายของบุคคลต่างๆ คำสั่งของแกนนำให้ปฏิบัติการต่อเป้าหมายในพื้นที่ แผนที่ตั้งของฐานปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่
 
ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่นำมาวิเคราะห์ และประมวลงานด้านการข่าวที่ “สายข่าว” ซึ่งเป็น “แนวร่วม” ที่ออกมารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ได้ให้ข่าวความเคลื่อนไหวของแนวร่วมในพื้นที่ไว้ จึงเชื่อได้ว่า กองกำลังอาร์เคเคในพื้นที่ จ.นราธิวาส ต้องปฏิบัติการ “เอาคืน” ด้วยการโจมตีเจ้าหน้าที่ใน อ.บาเจาะ อย่างแน่นอน
 

 
แม้จะไม่รู้วัน ว. เวลา น. ของการปฏิบัติการของกลุมอาร์เคเคที่ชัดเจน แต่ฐานปฏิบัติการในพื้นที่ อ.บาเจาะ ทุกฐาน ไม่ว่าจะเป็นของตำรวจ และทหารต่างวางกำลังไว้พร้อมเพื่อรับมือกับการซุ่มโจมตี และการบุกเข้าโจมตีของกองกำลังอาร์เคเค
 
ดังนั้น เมื่อนายมะรอโซนำกำลังซึ่งเป็นชุดรวมดาราจากพื้นที่ต่างๆ เช่น อ.บาเจาะ อ.ศรีสาคร อ.รามัน และอื่นๆ กว่า 50 คน บุกเข้าโจมตีด้วยอาวุธสงคราม กองกำลังของนายมะรอโซจึงเหมือน “แมลงเม่า” ที่บินเข้ากองไฟ กำลังชุดแรกของอาร์เคเคที่เข้าเข้าโจมตี มว.ปล.ที่ 2 ทางหน้าฐาน จึงถูกยิงเสียชีวิตทั้งหมด 17 ศพด้วยกัน รวมทั้งนายมะรอโซผู้เป็นหัวหน้าชุดด้วย เมื่อหัวหน้าตายลูกน้องที่เหลืออีก 30 กว่าคนจึงอาศัยความชำนาญเส้นทางถอนกำลังหลบหนีไปได้
 

 
สิ่งที่น่าสนใจคือ ฐานปฏิบัติการของ “ฉก.นย.” แห่งนี้ เคยถูกโจมตีจากกองกำลังอาร์เคเคมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง แต่เจ้าหน้าที่สามารถป้องกันได้ทุกครั้ง ต่างกับฐานปฏิบัติการของหน่วยรบอื่นๆ โดยเฉพาะที่มาจาก “ภาค 1-3” ที่มักจะเพลี่ยงพล้ำกับการโจมตี
 
เหตุผลเป็นเพราะกำลังของนาวิกโยธินแต่ละหน่วยจะอยู่ในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 3 ปี ในขณะที่กำลังของทหารจากกองทัพภาคที่ 1-3 มาปฏิบัติการเพียง 6 เดือน แล้วสับเปลี่ยนกำลัง ดังนั้น นาวิกโยธินจึงได้เปรียบในงานมวลชน ได้เปรียบในเรื่องพื้นที่ และที่สำคัญ มีความชำนาญในยุทธวิธี และไม่ใช้กำลังของ “ทหารเกณฑ์” เป็นหลักเมื่อถูกซุ่มโจมตี หรือบุกเข้าโจมตีจึงรักษาฐานปฏิบัติการได้ตลอด
 

 
ส่วนจุดที่น่าสนใจของกองกำลังอาร์เคเค คือ การใช้วิธีการ “ลับ ลวง พราง” สร้างความสับสนให้แก่เจ้าหน้าที่ สร้างความเข้าใจผิดให้แก่ประชาชน เพื่อสะดวกในการปฏิบัติการคือ การแต่งเครื่องแบบคล้ายเจ้าหน้าที่รัฐ ใส่เสื้อกันกระสุนที่มีตราของเจ้าหน้าที่ ใช้อาวุธปืนที่ยึดมาจากเจ้าหน้าที่ จึงทำให้สามารถเดินทางผ่านถนนสายต่างๆ ได้อย่างเสรี เพราะเจ้าหน้าที่ และประชาชนเข้าใจว่าอาร์เคเค คือ เจ้าหน้าที่รัฐที่เคลื่อนพลไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ต่างๆ
 
และที่สำคัญที่สุด เมื่อเจ้าหน้าที่ตัวปลอมเหล่านี้ปฏิบัติการต่อเป้าหมายที่เป็น “ประชาชน” ชาวบ้านที่รับรู้ และเห็นเหตุการณ์จะปักใจเชื่อในทันที่ว่า เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ เพื่อสร้างสถานการณ์ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ “เกลียดชัง” ไม่วางใจ และเป็น “ปรปักษ์” ต่อเจ้าหน้าที่ที่ถูกส่งไปปฏิบัติการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลามาโดยตลอด
 
การที่นายมะรอโซนำกองกำลังมาโจมตีฐาน และเสียชีวิตถึง 17 ศพ “ผลดี” ที่เกิดขึ้นคือ หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่สามารถตอบโจทย์ประชาชนได้ว่า ที่ผ่านมาที่ประชาชนมักเข้าใจผิดว่าทหารสร้างสถานการณ์นั้น ผู้ที่ทำให้เกิดขึ้นคือ อาร์เคเคในพื้นที่
 


 
สิ่งที่ต้องให้ความสนใจ เพราะเป็นโจทย์ในการแก้ปัญหาในระยะยาวคือ อาร์เคเคกลุ่มนี้ที่มีนายมะรอโซเป็นแกนนำนั้น เป็นผลพวงจากเหตุการณ์ “ตากใบทมิฬ” ในหลายปีก่อน ที่มีการนำคนไปชุมนุมนับพันคนที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส จนกลายเป็นจลาจล มีการต่อสู้กันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมชนประท้วง จนมีการจับกุม ควบคุมตัว และทำให้เกิดการตายหมู่ 85 ศพ
 
กองกำลังอาร์เคเคผู้หลงผิดเหล่านี้คือ ผลผลิตของสถานการณ์ตากใบในวันนั้น ซึ่งมีการ “สั่งสม” ความเจ็บแค้น และแปรสภาพเป็นกองกำลังติดอาวุธเพื่อปฏิบัติการแบ่งแยกดินแดน สร้างความสูญเสียให้แก่เจ้าหน้าที่ ประชาชน และบ้านเมืองมาโดยตลอด
 
ตรงนี้หน่วยงานของรัฐต้องให้ความสนใจ เพื่อหาแนวทางในการ “ละลายไฟแค้น”ของคนกลุ่มนี้ เพื่อยุติสงครามยืดเยื้อ และการขยายมวลชน
 


 
ส่วนปัญหาเฉพาะหน้าคือ เรื่องการป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และการดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบ เพราะหลังการตายหมู่ 17 ศพ จะต้องมีการ “เอาคืน” จากขบวนการบีอาร์เอ็นฯ
 
ดังนั้น หน่วยรบของอาร์เคเคทุกพื้นที่จะต้องปฏิบัติการเอาคืนเป้าหมายคือ เจ้าหน้าที่รัฐ และเป้าหมายที่ “อ่อนแอ” และเป้าหมายเชิงสัญลักษณ์ เช่น “ครู”และ “พระภิกษุ” รวมทั้งหน่วยงานพลเรือนในพื้นที่ รวมถึงประชาชนผู้บริสุทธิ์ โดยเฉพาะชาว “ไทยพุทธ”
 
เพราะปรากฏการณ์ใน “วันฝังศพ” ของผู้เสียชีวิตที่ไม่ควรมองข้ามคือ มีเยาวชนในพื้นที่ไปร่วมฝังศพเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีการร้องเพลงปลุกใจ และตะโกนคำว่า “สู้..สู้..” ซึ่งหน่วยงานความมั่นคงต้องนำ “นัย” เหล่านี้ไปถอดรหัส เพื่อหาทางพิทักษ์ชีวิตของกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ให้ได้
 


 
ส่วนในเรื่องการช่วยเหลือ หรือ “เยียวยา” ผู้ได้รับผลกระทบนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็น เช่น ผู้ได้รับผลกระทบโดยไม่ได้เป็นทั้งคนร้าย และเจ้าหน้าที่ แต่บ้านเรือนและทรัพย์สินได้รับความเสียหาย ต้องให้การช่วยเหลือเต็มจำนวนอย่างเร่งด่วน
 
ส่วนการดูแคครอบครัวผู้เสียชีวิต ซึ่งสังคมส่วนใหญ่เห็นว่าเป็น “ผู้ร้าย” นั้น ต้องช่วยเหลือตามหลักของมนุษยธรรม โดยยึดหลักว่าคนตายเป็นคนร้าย แต่ครอบครัวของเขาอาจจะไม่มีส่วนรู้เห็น ซึ่งขณะนี้ ศอ.บต.ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนที่จะมีมติในการเยียวยา เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้เป็น “เรื่องละเอียดอ่อน” ที่คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการเยียวยาคนร้าย
 
รวมทั้งการที่ “นักการเมืองปากเปราะ” บางคน คิดไว ปากไว ให้สัมภาษณ์ไปก่อน จนทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่า จะมีการเยียวยาคนร้ายในวงเงิน 4 ล้าน หรือ 7.5 ล้าน กลายเป็นประเด็นที่ “ล่อแหลม” ต่อความรู้สึก ความแตกแยก และความไม่เป็นธรรมต่อคนในพื้นที่ ซึ่งกำลังกลายเป็น “งานหนัก” และเป็นเรื่อง “งานเข้า” ของ ศอ.บต.ที่สุดท้ายจะต้องเป็นหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
 
สรุปสั้นๆ ให้เห็นภาพที่ชัดเจน คือ 17 ศพของความสูญเสียของกองกำลังอาร์เคเค ยังไม่ใช่ “จุดจบ” ของการก่อการร้ายในพื้นที่ แต่เป็น “จุดเริ่มต้น” ของความรุนแรงระลอกใหม่ในพื้นที่ ซึ่ง “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ต้องตั้งรับ และเปิดแนวรุกให้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะหาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าเปิดช่องว่าง หรือ “ตั้งรับ” เพียงอย่างเดียว ความสูญเสียอย่างรุนแรงจะเกิดขึ้นกับประชาชนในทุกพื้นที่.
 


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น