ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
หลังการเสียชีวิตของผู้ก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดน 16 ราย รัฐมนตรีกลาโหมและเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับปฏิบัติหลายคนให้สัมภาษณ์ว่า “เสียใจ” ส่วนยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีบอกว่า “เหตุการณ์ที่เกิดเป็นเหมือนชีวิตประจำวันที่ทำอยู่” และเฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีบอกว่า “จะจ่ายเงินเยียวยา” คำสัมภาษณ์เหล่านี้มีแบบแผนทางความคิดที่สร้างความสับสนและงุนงงแก่คนไทยจำนวนมาก ตกลงเป็นอะไรกันแน่และผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร
มีข้อเท็จจริงที่ควรทำความเข้าใจก่อนคือ กลางดึกวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556 กองกำลังผู้ก่อการร้ายประมาณ 50 คน บุกเข้าโจมตีหน่วยทหารนาวิกโยธิน หน่วยปืนเล็กที่ 2 อำเภอบาเจาะ จ. นราธิวาส ทหารนาวิกโยธินหน่วยดังกล่าวได้รับข้อมูลข่าวสารมาก่อนว่าผู้ก่อการร้ายมีแผนจะบุกโจมตี จึงได้กำหนดแผนตั้งรับอย่างรัดกุมเพื่อป้องกันชีวิตตนเอง ทรัพย์สินของราชการ และเกียรติภูมิของทหาร เมื่อกองกำลังผู้ก่อการร้ายเข้าโจมตีจริงจึงเกิดการปะทะขึ้น ผลลัพธ์คือกลุ่มผู้ก่อการร้ายเสียชีวิต 16 ราย ส่วนที่เหลือถอยหนีกลับไปได้ พร้อมผู้บาดเจ็บที่ไม่ทราบจำนวนอีกส่วนหนึ่ง ส่วนทหารนาวิกโยธินไม่มีผู้ใดเสียชีวิต
สิ่งที่น่าสังเกตคือกองกำลังก่อการร้ายกลุ่มนี้แต่งกายเลียนแบบทหาร สวมเสื้อเกราะกันกระสุนที่ระบุได้ว่าเป็นของกระทรวงมหาดไทย มีอาวุธปืนสงครามครบมือทั้ง เอ็ม 16 อาก้า และปืนสั้น มีระเบิดแสวงเครื่องทั้งชนิดขว้างและชนิดวาง และอุปกรณ์อื่นๆอีกหลายประการ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ากลุ่มผู้ก่อการร้ายชุดนี้มีความพร้อมในการสู้รบและมีการวางแผนโจมตีมาอย่างดี
การเตรียมการลักษณะเช่นนี้ย่อมมีเป้าประสงค์เพื่อทำลายล้างชีวิตของทหารนาวิกโยธินที่อยู่ในฐานอย่างชัดเจน และหากกลุ่มก่อการร้ายชุดนี้ประสบความสำเร็จ สิ่งที่เราเห็นคงไม่ใช่ศพของสมาชิกกลุ่มก่อการร้าย แต่คงเป็นของบรรดาทหารที่อยู่ในฐาน
คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมกลุ่มก่อการร้ายจึงได้ยกระดับจากการซุ่มโจมตี การลอบวางระเบิด การลอบสังหาร และการกระทำเชิงสัญลักษณ์อื่นๆไปสู่การโจมตีฐานที่มั่นของทหาร ซึ่งในทางยุทธศาสตร์แล้วถือว่าเป็นการยกระดับของการสู้รบที่สำคัญ
เป็นที่น่าสังเกตว่านับตั้งแต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาเป็นนายกรัฐมนตรี ความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในทางกายภาพและเชิงสัญลักษณ์ ตัวอย่างของเหตุการณ์เหล่านี้ เช่น เดือนกรกฎาคม 2555 เกิดความรุนแรงครั้งใหญ่ขึ้น 3 ครั้งในรอบ 8 วัน ได้แก่ คาร์บอมกลางเมืองสุไหงโกลก จ. นราธิวาส มีผู้บาดเจ็บ 8 ราย ต่อมามีคาร์บอมที่ อ.รามัญ จ.ยะลา ตำรวจเสียชีวิต 5 นาย และมีการโจมตีทหารชุดลาดตระเวนที่ อ. มายอ จ. ปัตตานี ทหารเสียชีวิต 4 นาย และในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2556 ทหารหน่วยเฉพาะกิจ จังหวัดยะลา ถูกซุ่มโจมตี ที อ.มายอ เสียชีวิต 5 นายและบาดเจ็บหนึ่งนาย
นอกจากจะโจมตีทหารและตำรวจแล้ว กลุ่มก่อการร้ายได้สังหารครูอย่างอุกอาจต่อหน้าผู้คนจำนวนมากหลายครั้งหลายครา เช่น การสังหาร น.ส.ตติยารัตน์ ช่วยแก้ว อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบาโง อ.มายอ จ.ยะลา ในโรงอาหารของโรงเรียน ช่วงเดือนธันวาคม 2555 และการสังหารนายชลธี เจริญชล ครูโรงเรียนบ้านบาเร๊ะใต้ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ขณะรับประทานอาหารที่โรงเรียน ช่วงเดือนมากราคม 2556
แบบแผนการสังหารครูของกลุ่มผู้ก่อการร้ายในระยะหลังมิได้ยิงขณะที่เดินทาง แต่ยิงขณะที่อยู่ในโรงเรียน ซึ่งนับว่าเป็นยกระดับรูปแบบการก่อการร้าย โดยทำอย่างเปิดเผยต่อหน้าผู้คนจำนวนมาก ราวกับในพื้นที่นั้นปราศจากอำนาจรัฐใดๆดำรงอยู่
นอกจากกลุ่มทหาร ตำรวจ และครูแล้ว รูปแบบของการสังหารในช่วงปีที่ผ่านมาย้อนกลับไปซ้ำรอยช่วง ระยะแรกๆของความรุนแรง คือ การยิงประชาชนอย่างไม่จำแนก เช่น การยิงพ่อค้าผลไม้และลูกจ้างเสียชีวิต 4 ราย กลางดึกของวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
สำหรับการปฏิบัติการณ์เชิงสัญลักษณ์ที่สำคัญคือ การเผาธงชาติไทยและปักธงชาติมาเลเซีย ช่วงเดือนสิงหาคม 2555 จำนวนร้อยกว่าจุดในสี่จังหวัดภาคใต้
เหตุการณ์ที่หยิบยกมานี้เป็นตัวอย่างซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มก่อการร้ายได้ยกระดับของการปฏิบัติการท้าทายอำนาจรัฐอย่างเปิดเผย แข็งกร้าว และรุนแรงยิ่งขึ้น เมื่อกลุ่มผู้ก่อการร้ายสะสมความสำเร็จจากการปฏิบัติหลายครั้ง จึงทำให้เกิดความมั่นใจว่ามีความพร้อมสำหรับการรุกขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง โดยการโจมตีฐานของนาวิกโยธิน ซึ่งเป็นกองกำลังทหารไทยที่ดูเหมือนจะมีประสิทธิภาพที่สุดในการต่อกรกับกลุ่มก่อการร้าย
ดังนั้นเหตุผลสำคัญที่กองกำลังก่อการร้ายมุ่งโจมตีฐานทหารนาวิกโยธินก็คือต้องการทำลายทหารหน่วยนี้ หากทำได้สำเร็จนอกจากจะเป็นการตอกย้ำชัยชนะของฝ่ายก่อการร้ายแล้ว ยังเป็นการจำกัดหน่วยทหารที่กลุ่มก่อการร้ายถือว่าเป็นศัตรูหลักลงไปอีกด้วย ทั้งยังสร้างความสั่นสะเทือนไปถึงขวัญกำลังใจของทหารและตำรวจหน่วยอื่นๆ อีกด้วย แต่เมื่อล้มเหลวก็ทำให้แผนการยกระดับการสู้รบของกลุ่มก่อการร้ายต้องสะดุดลงไป
การอธิบายของรัฐบาลเกี่ยวความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นทั้งในเนื้อหาและรูปแบบคือ การบอกว่ารัฐบาลทำงานมวลชนได้ผล ประชาชนให้ความร่วมมือกับรัฐมากขึ้น จนทำให้กลุ่มผู้ก่อการร้ายเกิดความวิตกว่าไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของมวลชนได้ จึงเพิ่มระดับความรุนแรงของการปฏิบัติการณ์เพื่อเป็นการแสดงให้มวลชนเห็นว่ากลุ่มของตนเองยังมีพลานุภาพที่เข้มแข็ง อันจะทำให้มวลชนไม่กล้าให้ความร่วมมือกับฝ่ายรัฐ
หากสรุปตามภาษาและตรรกะของรัฐบาลที่ได้อธิบายต่อสาธารณะ ก็คือ “ความสำเร็จในการทำงานของรัฐบาล จะส่งผลให้มีระดับความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้เพิ่มขึ้น”
แต่สิ่งที่ผมและคนไทยจำนวนไม่น้อยเกิดความงุนงงและสับสนมาก คือการประสานเสียงให้สัมภาษณ์ในทำนองเดียวกันของเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งระดับปฏิบัติและนโยบายคือ การให้สัมภาษณ์ว่า “เสียใจ” ต่อการเสียชีวิตของกลุ่มก่อการร้าย และความสับสนก็ยิ่งหนักขึ้นเมื่อ เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีบอกว่าจะ “เยียวยา”ให้คนเหล่านั้น
หากเรามองย้อนกลับไปในอดีต เท่าที่จำได้ หากเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือประชาชนเสียชีวิตจากการกระทำของกลุ่มก่อการร้าย ยังไม่เคยมีครั้งใดที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐออกมาให้สัมภาษณ์อย่างพร้อมเพรียงกันเช่นนี้ว่า “เสียใจ” ต่อการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชน มิหนำซ้ำ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กลับให้สัมภาษณ์ว่า “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหมือนชีวิตประจำวันที่ทำอยู่”
ตกลงการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนที่เกิดขึ้นจากการกระทำของกลุ่มก่อการร้าย กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปแล้วหรือไรในสายตาของนายกรัฐมนตรีคนนี้ และไม่ต้องแสดงความเสียใจใดๆอีกแล้วใช่หรือไม่
หากมองในแง่ดี ผู้พูดว่า “เสียใจ” คงคิดว่าคำพูดนี้จะส่งผลเชิงจิตวิทยาให้ประชาชนในสามจังหวัดรู้สึกว่า รัฐบาลไม่ประสงค์ใช้ความรุนแรง และไม่ได้มองผู้ก่อการร้ายเป็นศัตรู
แต่คงลืมไปว่า การพูดว่า “เสียใจ” ต่อการเสียชีวิตของผู้ก่อการร้ายนั้น ส่งผลให้เกิดคำถามในใจของประชาชนอีกจำนวนมาก และยังเป็นสิ่งที่ทำให้กลุ่มก่อการร้ายนำไปบิดเบือนข้อมูลขยายผลได้อีกนับไม่ถ้วน เช่น มีการปล่อยข่าวลือว่า เป็นการยิงพวกเดียวกันเองจึงต้องพูดว่า “เสียใจ” หรือที่จริงกลุ่มคนที่เข้ามาไม่ใช่มาเพื่อโจมตีฐานทหาร แต่จะมามอบตัว กลับถูกยิงจนเสียชีวิต เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐรู้ภายหลังจึงต้องพูดว่า “เสียใจ”
ความไม่ระมัดระวังและไม่วิเคราะห์ผลกระทบผลของการใช้คำพูดให้รอบด้านของเจ้าหน้าที่ระดับต่างๆ แทนที่จะสร้างผลเชิงบวกตามที่คาดหวัง กลับอาจส่งผลตรงกันข้ามทางก็ได้ ดังนั้นทางที่ดีควรจะมีความระมัดระวังการใช้คำพูดให้มากกว่านี้
ส่วนในเรื่องการเยียวยา ก็ยิ่งหนักขึ้นไปอีก เพราะคงมีรัฐบาลประหลาดเช่นนี้เพียงรัฐบาลเดียวในโลกที่มีกลุ่มผู้ก่อการร้ายถือปืนมายิงถล่มเจ้าหน้าที่ของรัฐ และถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐตอบโต้จนเสียชีวิต แล้วรัฐบาลจะเยียวยากลุ่มก่อการร้ายเหล่านี้ หากรัฐบาลเยียวยาให้แกผู้ถือปืน ถือระเบิดมาก่อการร้าย ก็เท่ากับว่ารัฐบาลส่งเสริมให้มีการก่อการร้ายมากขึ้น ใช่หรือไม่
หรือว่ารัฐบาลเองอาจเคยชินกับเรื่องนี้เพราะปัจจัยที่ทำให้ตนเองได้อำนาจรัฐมาครอบครอง ส่วนหนึ่งมาจากการช่วยเหลือของผู้ก่อการร้ายชุดดำ เมื่อครั้งสงครามเผาเมือง ปี 2553
ความล้มเหลวในการแก้ปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ที่สำคัญของรัฐบาลนี้มีสามประการคือ 1) การใช้เงินนำการพัฒนา โดยคิดว่าเงินจะเป็นสิ่งที่แก้ปัญหาได้ แต่เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นก็แสดงให้เห็นแล้วว่าไม่เป็นความจริง 2) การมีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ประสีประสา ไม่อาจชี้นำทางความคิด กำหนดนโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่มีประสิทธิผลได้ และ 3) การมีรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลสามจังหวัดอย่าง เฉลิม อยู่บำรุง ผู้ที่นอกจากจะไม่ช่วยให้สถานการณ์ในสามจังหวัดดีขึ้นแล้ว กลับมีส่วนทำให้สถานการณ์ยิ่งแล้วร้ายหนักขึ้นไปอีกอันเนื่องมาจากการมีความคิดที่คับแคบ ขาดความเข้าใจในตัวปัญหา มีวาจาที่สร้างความขัดแย้ง และมีพฤติกรรมที่ขลาดเขลา
เหตุการณ์เมื่อวันที่ 13 ก.พ.2556 ที่ผ่านมา นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกจุดหนึ่งของการแก้ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นทั้งความเสี่ยงของการเพิ่มปัญหา และเป็นทั้งโอกาสของการแก้ปัญหา ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะมีสติปัญญาหยิบแง่มุมของสถานการณ์นี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์มากกว่ากัน
แต่ผมไม่คาดหวังว่านายกรัฐมนตรี และรองนายกฯที่ดูแลสามจังหวัดภาคใต้จะสามารถนำเรื่องนี้ไปเป็นเงื่อนไขของการสร้างโอกาสในการแก้ไขปัญหาใดๆ ได้ เพราะดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วสำหรับพวกเขา