คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
ก่อนเที่ยงวันจันทร์ที่ 25 มีนาคม 2556 ข้าพเจ้าออกเดินทางจากบ้าน โดยความอนุเคราะห์ของ ปิยะโชติ อินทรนิวาส หัวหน้าศูนย์ข่าวเอเอสทีวี/ผู้จัดการภาคใต้ ไปยังบริษัท สิงห์ไทย เอ๊กซ์เพรส เยื้องสมาคมฮากกา หาดใหญ่ ถนนชีอุทิศ เพื่อเดินทางไปอินโดนีเซียโดยไปลงเรือที่โยโฮร์ บารู รถออกจากหน้าบริษัทเมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. หรือ 13.00 น.ของมาเลเซีย ถึงโยโฮร์ บารู เมื่อเวลาประมาณ 02.00 น. ของวันที่ 26 มีนาคม นั่งแท็กซี่ไปยังท่าเรือเพื่อเดินทางต่อไปยังเมืองบาตัม อินโดนีเซีย ซึ่งเปิดจองตั๋วเวลาประมาณ 6 โมงเช้า ออกเดินทางเวลาประมาณ 7 โมงเช้า ค่าเดินทางคนละ 84 Rm. หรือ 840 บาทไทย ถึงท่าเรือเมืองบาตัม เวลาประมาณ 9 โมงเช้า จองตั๋วเครื่องบินต่อไปยังจาการ์ตา ค่าโดยสารคนละ 2,200 บาท ใช้เวลาเดินทางชั่วโมงกว่าๆ ถึงจาการ์ตา (Jakarta) เวลาประมาณบ่ายสอง นั่งรถประจำทาง (Damri) ไปในเมืองจาการ์ตา เรียกแท็กซี่ไปหาที่พักโรงแรม HOTEL ALIA CIKINI ค่าที่พักคืนละ 1,400 บาท หรือ 420,000 Rp.
คนอินโดนีเซียมีอุปนิสัยใจคอเหมือนคนใต้ของประเทศไทย หน้าตา การแต่งกายคล้ายคนมุสลิมในภาคใต้ และมีเล่ห์เหลี่ยมในการเจรจาต่อรองคล้ายกับคนใต้ พูดจาเป็นกันเองดี แต่พอคิดค่าบริการกลับกลายเป็นคนละคน แต่ไม่แสดงอาการความไม่พอใจ หรือรู้สึกรำคาญในการเจรจา
ค่าโดยสารเครื่องบิน และค่าโดยสารรถรับจ้างทั่วไปขึ้นลงได้ตามอัธยาศัยได้นิดหน่อย แต่จะมีลักษณะการโก่งราคามากเป็นพิเศษ แม้แต่การจองห้องพักก็พบกับการบังคับจองโดยบอกว่า ห้องเล็กเหลือห้องเดียว นอกนั้นเป็นห้องใหญ่ ราคาต่างกันประมาณ 800 บาท แต่พอเราบอกว่าถ้ามีห้องเดียวเราจะไปพักที่อื่น เขาทำทีเป็นตรวจเช็กพร้อมกับบอกว่า มีอีกห้องอยู่ติดกันทันที ทั้งๆ ที่ตอนแรกบอกว่าไม่มี
การเดินทางวันแรกต้องสมบุกสมบันมาก เพราะต้องอดหลับอดนอนบนรถโค้ช ต้องลงจากรถตอนตีสอง แล้วไปนั่งรอลงเรือจนสว่าง แล้วขึ้นเครื่องต่อ แล้วได้เข้าพักโรงแรมเพื่ออาบน้ำ และออกไปกินอาหารมื้อแรกของวันที่ 26 มีนาคม เมื่อเวลาเกือบ 6 โมงเย็น มีอาการอ่อนล้าพอสมควร กอปรกับข้าพเจ้าสุขภาพก่อนการเดินทางก็ไม่เต็มร้อย มีอาการเวียนศีรษะเป็นระยะๆ โดยเฉพาะเวลาหิว
วันนี้ช่วงสายๆ กะว่าจะออกไปเดินเที่ยวตลาด เพื่อดูวิถีการทำมาหากินของชาวอินโดนีเซีย และไปชมพิพิธภัณฑ์แห่งชาติในจาการ์ตา ก่อนจะออกเดินทางไปยอร์คยาการ์ตาตอน 6 โมงเย็นวันนี้
อาหารเช้าที่โรงแรมมีข้าวต้มกินกับน้ำแกงแบบแกงกินกับโรตีด้วย นอกนั้นจะเป็นข้าวผัด ข้าวเปล่า ผัดผัก ชา/กาแฟ สลัด ถั่วเขียวต้ม ขนมปัง ผลไม้ (แตงโม มะละกอ) มันต้ม
ยานพาหนะในอินโดนีเซียมีหลากหลายมาก ทั้งรถเก๋ง รถบัส รถสามล้อเครื่อง รถมอเตอร์ไซค์ รถตู้ นิยมบีบแตรไล่รถคันข้างหน้า แต่ไม่แสดงความฉุนเฉียวใส่กันแบบคนไทย แท็กซี่มีทั้งสีขาว สีฟ้า สีเหลือง มีรถรอบเมืองแบบที่สงขลาเคยมีเมื่อสามสิบกว่าปีมาแล้ว แต่เป็นรถรอบเมืองขนาดเล็กคล้ายตุ๊กตุ๊ก หาดใหญ่ แต่เปิดประตูขึ้นลงด้านข้าง คนขับชอบขับฉวัดเฉวียนมาก ตามสามแยกสี่แยกที่เคยมีไฟสัญญาณจราจรถูกทิ้งร้าง เวลาชั่วโมงเร่งด่วนจะมีเด็กวัยรุ่นสามสี่คนมายืนโบกรถ ซึ่งผู้ขับขี่ไม่ค่อยสนใจ แต่คนที่พอใจก็จะยัดเงินสมนาคุณใส่มือวัยรุ่นเป็นระยะๆ
แม้จะมียวดยานมากมายในเมืองหลวงของประเทศที่มีประชากรมากอันดับ 3 ของโลก และเป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่เราไม่ค่อยเห็นรถชนรถ หรือชนคนตลอดสี่ห้าวันที่เราอยู่ และเดินทางท่องเที่ยวอยู่ในจาการ์ตา
เรามีโอกาสไปเดินท่องเที่ยวแถวย่านถนนสุราบายา ซึ่งเป็นย่านขายของเก่าประเภทไม้แกะสลัก กริช มีดประเภทต่างๆ ดาบ พระพุทธรูป วายังชนิดต่างๆ เครื่องพิมพ์ดีด เครื่องดนตรี ตะเกียงโบราณ ถ้วยชามรามไห ฯลฯ ราคาต้องต่อรองกันมากชนิดหนึ่งในสามเป็นอย่างน้อย หมายความว่า ถ้าเขาบอกราคา ล้านห้า เราต้องต่ออย่างน้อยห้าแสน ไม่ใช่แค่ครึ่งราคา
การใช้จ่ายเงินอินโดนีเซียสร้างปัญหาในการเทียบราคาเป็นเงินไทยมาก เพราะค่าเงินอินโดนีเซียในช่วงที่เราเดินทางอัตรา 1 บาท ประมาณ 320 รูเปีย เงินไทย 3,200 บาท แลกเงินอินโดนีเซียได้ 1 ล้านรูเปีย เรากินอาหารมื้อละเป็นแสนๆ พักโรงแรมคืนละเป็นแสนเป็นล้านรูเปีย จองตั๋วเครื่องบินคนละล้านสองล้านรูเปีย ค่าแท็กซี่เป็นหมื่นรูเปีย แท็กซี่มิเตอร์เริ่มต้นที่ 5,000, 6,000 และ 7,000 รูเปีย
การเดินทางครั้งนี้เป้าหมายเราอยู่ที่ยอร์คยาการ์ตา ปาเลมบัง แต่สุดท้ายเราไปได้แค่จาการ์ตา ปัญหาเกิดจากอะไร แล้วจะเล่าให้ฟังถึงวิบากกรรมในอินโดนีเซียครับ