xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสมุยเคลื่อนตัวต้านขุดเจาะน้ำมันพื้นที่อ่าวไทยแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุราษฎร์ธานี - ชาวสมุยเคลื่อนตัวต่อต้านขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่อ่าวไทย ซึ่งจะเริ่มขุดเจาะในเดือนเมษายนนี้ พร้อมร่อนจดหมายเปิดผนึกเชิญประชาชนร่วมแสดงประชามติ หยุดขุดเจาะน้ำมัน รอบเกาะแห่งชีวิต สมุย พะงัน และหมู่เกาะอ่างทอง

วันนี้ (20 มี.ค.) ณ ห้องประชุมเพชรสมุย เทศบาลนครเกาะสมุย อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี กลุ่มเครือข่ายปกป้องเกาะแห่งชีวิต สมุย พะงัน เต่า และอ่าวไทย พร้อมด้วยเครือข่ายประชาสังคมจังหวัดสุราษฎร์ธานี เครือข่ายรักษ์อ่าวไทย (สมุย พะงัน เต่า) กลุมรักษ์เฉวง สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะพะงัน สถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคมภาคใต้ สมาคมรักษ์ทะเลไทย ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดตรัง กลุ่มยุวชนสร้างสรรค์ จ.สุราษฎร์ธานี เครือข่ายรักษ์ละแม เครือข่ายพลเมืองป้องปกแผนดินถิ่นเกิด และประชาชนในพื้นที่อำเภอเกาะสมุย ร่วมประชุมหารือหาทางออก และยับยั้งการขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทยซึ่งจะเริ่มขุดเจาะในเดือนเมษายนนี้

โดยมี นายอานนท์ วาทยานนท์ ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องเกาะแห่งชีวิต สมุย พะงัน เต่า และอ่าวไทย เป็นผู้ดำเนินการประชุม ซึ่งการจัดประชุมในครั้งนี้ได้มีกลุ่มเครือข่ายจากพื้นที่ต่างๆ มาพูดคุยถึงประสบการณ์ และแนวทางการต่อสู้และต่อต้านการขุดเจาะน้ำมันในบริเวณต่างๆ ประกอบด้วย นายประสิทธิชัย หนูนวล ตัวแทนภาคประชาชนจากอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช นายสมบูรณ์ คำแหง ตัวแทนภาคประชาชนจากจังหวัดสตูล นายวิเวก อมตเวตน์ เครือข่ายรักษ์ละแม และนางสมลักษณ์ หุตานุวัตร อนุกรรมาธิการในคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน

นอกจากนั้น ในการประชุมครั้งนี้ทางเครือข่ายได้มีจดหมายเปิดผนึกเชิญประชาชนร่วมแสดงประชามติหยุดขุดเจาะน้ำมันรอบเกาะแห่งชีวิต สมุย พะงัน และหมู่เกาะอ่างทอง โดยมีเนื้อหาดังนี้ เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า พี่น้องชาวเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า ได้ร่วมกันคัดค้านโครงการการขุดเจาะสำรวจ และผลิตปิโตรเลียมในบริเวณโดยรอบเกาะทั้ง 3 มาเป็นเวลาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552 ทั้งนี้ เนื่องจากตระหนักดีว่าอาณาบริเวณโดยรอบเกาะทั้ง 3 และหมู่เกาะอ่างทอง เป็นฐานทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสวยงามอุดมสมบูรณ์ ที่มีความสำคัญยิ่งต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไม่ต่ำกว่า 20,000-30,000 ล้านบาททุกปี เป็นรายได้ที่มีการกระจายไปยังชุมชน และห่วงโซอุตสาหกรรม และอาชีพต่างๆ มากมาย และยังมีความสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ เนื่องจากเป็นแหล่งกำเนิด และอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญหลายชนิดในอ่าวไทย เช่น ปลาทู

การคัดค้านดังกล่าวนำไปสู่การฟ้องร้องหน่อยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต่อศาลปกครองกลาง (คดีดำหมายเลขที่ 1785/2553) เพื่อให้มีการระงับยับยั้งโครงการดังกล่าว ขณะนี้คดียังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครอง ผลจากการที่ร่วมคัดค้านโครงการดังกล่าวทำให้บริษัทผู้รับสัมปทานยังไม่สามารถขุดเจาะสำรวจเพิ่มเติมในพื้นที่อันตรายต่อเกาะทั้ง 3 ได้ โดยเฉพาะในแปลงของบริษัทนิวคอสตอล (CEC ปัจจุบัน) ระยะหลุมห่าง 40 กม.จากเกาะสมุย และแปลงของบริษัทซาลามานเดอร์ (G4/50) ระยะหลุมห่าง 36.7 กม. จากเกาะพะงัน เป็นเหตุให้กระทรวงพลังงานโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติขอเปิดเจรจากับประชาชนท้องถิ่นผ่านคณะกรรมการสามฝ่าย (กระทรวงพลังงาน, บริษัทน้ำมัน, ประชาชน)

โดยที่ฝ่ายประชาชนที่คัดค้านได้เสนอให้มีการกันเขตปลอดภัยจากการขุดเจาะปิโตรเลียม โดยรอบเกาะทั้ง 3 ที่ระยะทาง 100 กม. และขอให้หยุดกิจกรรมทุกประเภทของบริษัทสัมปทานทุกชนิด เพื่อรอคำพิจารณาคดีจากศาลปกครองกลางเป็นระยะเวลา 2 ปีเศษ หลังการฟ้องศาลปกครอง ที่มีการเจรจาเป็นระยะๆ และเป็นเวลา 2 ปีเศษ ของการใช้อำนาจทางการเงินผ่านอำนาจรัฐ ทำการลงพื้นที่เสนอผลประโยชน์ให้แก่ชุมชน ทั้งที่ดำเนินการต่อชุมชน วัด โรงเรียนโดยตรง และผ่านหน่วยงานรัฐ และองค์กรเอกชนในพื้นที่ทั้ง 3 เกาะ ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนความคิดของชุมชน และสร้างความรู้สึกแตกแยกทางความคิด และหวาดระแวง

และในที่สุด เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ตัวแทนของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติก็ได้แจ้งผ่านการประชุมนอกรอบของคณะกรรมการ 3 ฝ่ายว่า ได้มีการอนุมัติผ่านการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของบริษัทผู้รับสัมปทาน 3 แปลงสัมปทานคือ 1.แปลง G4/50 ของ บ.ซาลามานเดอร์ ระยะหลุมห่างเพียง 36.7 กม. จากเกาะพะงัน 2.แปลง G5/50 ระยะหลุมห่างเพียง 40 กม. จากเกาะสมุย และแปลง B6/27 ของ บ.ปตท.สผ. เขตสัมปทานอยู่ทางตะวันออกของหมู่เกาะอ่างทองโดยประมาณ 30-40 กม. ห่างเกาะเต่าทางทิศตะวันตกประมาณ 30 กิโลเมตรเศษ

เครือข่ายปกป้องเกาะแห่งชีวิต ได้พิจารณาการอนุมัติให้มีการขุดเจาะสำรวจได้ ดังนี้ 1.กระทรวงพลังงานไม่มีความจริงใจในการเจรจาผ่านกรรมการ 3 ฝ่ายแต่อย่างใด เป็นเพียงการตบตาถ่วงเวลาให้บริษัทตัวแทนมีเวลาลงพื้นที่แจกจ่ายสิ่งของ และข้อเสนอผลประโยชน์ต่างๆ ให้แก่ชุมชน จนชุมชนแตกความสามัคคี ไม่มีความเข้มแข็ง เป็นวิธีการที่สร้างความเห็นแก่ตัวให้เกิดขึ้นแก่สังคมอย่างเลวร้าย จนอาจกล่าวได้ว่า สังคมมองไม่เห็นคุณธรรม และประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อสังคมโดยรวมและชาติบ้านเมือง เป็นปฐมบทของการล่มสลายของชุมชน วัฒนธรรม และประเทศชาติในที่สุด

2.การอนุมัติให้มีการขุดเจาะสำรวจได้ทั้งๆ ที่ประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ยังมีการคัดค้าน เป็นการแสดงให้เห็นว่า การอนุมัติผ่านผ่านการศึกษาผลกระทบของบริษัทผู้รับสัมปทานขาดความน่าเชื่อถือ ขาดการรับฟังความคิดเห็นอย่างครบถ้วนรอบด้าน อาจพิจารณาได้ว่า เป็นการพิจารณาอนุมัติที่ขาดความเป็นกลาง และเที่ยงธรรม เอนเอียงเข้าข้างบริษัทผู้รับสัมปทาน ไม่เคารพหลักการประชาธิปไตย และกฎหมายรัฐธรรมนูญ

3.การอนุมัติให้มีการขุดเจาะสำรวจในแปลง B6/27 ของ ปตท.สผ. เป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะเป็นที่บริษัทของคนไทยทราบดีว่า ในพื้นปิดอ่าวของกรมประมง มีความสำคัญอย่างมากต่อการอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนให้เจริญพันธุ์เป็นพื้นที่ที่ควรมีควรมีความบริสุทธิ์ทางธรรมชาติ ปราศจากมลพิษ และของเสียจากกิจกรรมอุตสาหกรรมที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อวงจรชีวิต และคุณภาพอาหารจากสัตว์ทะเล อาจเลวร้ายจนไม่สามารถบริโภคได้จากการรั่วไหลจากแท่นขุดเจาะน้ำมัน ประกอบทั้งพื้นที่สัมปทานยังประชิดชายฝั่ง 20-30 กม. เป็นระยะทางกว่า 100 กม. ของ จ.ชุมพร และ จ.สุราษฎร์ธานี และใกล้กับวนอุทยานทางทะเลหมู่เกาะอ่างทอง (ห่าง 20-40 กม.) ซึ่งมีชื่อเสียงไปทั่วโลกด้านความงดงามบริสุทธิ์ทางธรรมชาติ เป็นแหล่งอนุบาลปลาวัยอ่อน และเป็นสถานที่โปรยอังคารของหลวงพ่อพุทธทาส ซึ่งมีความสำคัญด้านจิตใจของเหล่าพุทธศาสนิกชนอีกด้วย

เครือข่ายปกป้องเกาะแห่งชีวิต เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า และหมู่เกาะอ่างทอง พิจารณาเห็นว่า ไม่อาจยอมรับการดำเนินการของการทรวงพลังงาน และบริษัทผู้รับสัมปทานได้ จึงขอเรียกร้องมายังแระชาชนทั่วไป และผู้ประกอบการทุกประเภท ทุกแขนง รวมถึงเกษตรกรและประชาชนที่ส่วนใหญ่มีวิถีการดำรงชีพอย่างพึ่งพา และเกี่ยวเนื่องทั้งทางตรง และทางอ้อมกับฐานทรัพยากรทางธรรมชาติในอาณาบริเวณโดยรอบ เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า และหมู่เกาะอ่างทอง โปรดร่วมกันคัดค้านการขุดเจาะสำรวจ และผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ดังกล่าว

โดยส่งจดหมาย และร่วมคัดค้านผ่านระบบ social online ของเครือข่ายที่จัดเตรียมไว้ให้ในหนังสือเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีที่แบบมาด้วยแล้ว แสดงความเห็นคัดค้านค้านไปยัง นายกรัฐมนตรี เพื่อช่วยกันยับบั้งก่อนที่จะมีการขุดเจาะสำรวจและผลิตปิดตรเลียมในพื้นที่ดังกล่าวในเดือนเมษายนนี้ ทั้งนี้ โดยมีข้อเรียกร้องดังนี้ 1.ขอให้ดำเนินการยุติกิจกรรมการขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่รอบๆ เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า และหมู่เกาะอ่างทอง เพราะจะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีอยู่อย่างสมบูรณ์ในเกาะแก่งต่างๆ และกระทบต่อการดำรงชีพตามปกติสุขของชุมชน ท้องถิ่น และประชาชนที่ประกอบสัมมาชีพอยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจการท่องเที่ยวและการประมง ทั้งนี้ จนกว่าจะได้บรรลุข้อตกลงที่ท้องถิ่น และประเทศชาติจะได้รับประโยชน์โดยรวมอย่างยั่งยืนกว่า

2.ขอให้รัฐทบทวนโครงการอื่นๆ ในอาณาบริเวณที่อาจส่งผลกระทบต่อสมดุลทางธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในท้องทะเลอ่าวไทย เพราะสิ่งแวดล้อมที่ดีเป็นรากฐานที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาการท่องเที่ยว และการเป็นแหล่งอาหารของประเทศ 3.ขอให้มีการทบทวนกระบวนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะจากกิจการปิโตรเลียมเพื่อให้เกิดความถูกต้อง และเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายอย่างแท้จริง 4.ขอให้รัฐบาลทบทวนแก้ไขปรับปรุง เงื่อนไข วิธีการ และการแบ่งรายได้ผลประโยชน์จากการสัมปทานปิโตรเลียมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกับผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากกิจการนี้

ในฐานะภาคีพันธมิตรของ “เครือข่ายปกป้องเกาะแห่งชีวิต สมุย พะงัน เต่า และหมู่เกาะอ่างทอง” หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกๆ ท่านที่ได้รับจดหมายนี้จะได้มีส่วนช่วยกันรักษา “เกาะแห่งชีวิต” ของเรา ของประเทศ และของชาวโลกให้ได้ดำรงอยู่ท่ามกลางผืนน้ำ ผืนฟ้า ที่มีความบริสุทธิ์ ความสมบูรณ์ และความสมดุลทางธรรมชาติอย่างแท้จริงและเพื่อส่งต่อมรดกอันมีคุณค่ายิ่งนี้ถึงชนรุ่นหลัง ให้ได้มีโอกาสได้สัมผัสกับแก่นสารของชีวิตมนุษย์ ที่ปราชญ์สำคัญทางศาสนาเฉกเช่น “หลวงพ่อพุทธทาส” ได้ทอดร่างสถิตเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ณ ดินแดนแห่งนี้
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น