คอลัมน์ : ฝ่าเกลียวคลื่น
โดย...บรรจง นะแส
รายได้ 9 แสน 6 หมื่น 5 พันล้านบาท ที่ได้จากการท่องเที่ยวในปี 2555 โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวทั้งสิ้นประมาณ 22 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 15 เปอร์เซ็นต์ โดย นายสุรพล เศวตเศรนี ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ซึ่งได้เปิดเผยถึงภาพรวมการท่องเที่ยวในปี 2555 ที่ผ่านมา เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง คือพื้นที่สำคัญอันดับต้นๆ ที่ทำรายได้เข้าประเทศไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท/ปี นอกจากนั้น บริเวณดังกล่าวยังเป็นแหล่งเพาะฟักพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน โดยเฉพาะปลาทูที่เป็นสัตว์น้ำที่มีคุณค่า และความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ เป็นอาหารสำคัญของสังคมไทยมาช้านาน
การอนุญาตให้สัมปทานการขุดเจาะสำรวจน้ำมันในพื้นที่ดังกล่าว จึงเปรียบเสมือนการทำร้ายทำลายมดลูกของทะเลไทย มดลูกที่ให้กำเนิดรายได้จำนวน 2 หมื่นล้านบาท/ปี มดลูกที่จะให้กำเนิดชีวิตของพันธุ์สัตว์น้ำจะถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง
เนื่องจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ได้ให้สัมปทานบริษัทเอกชนเข้ามาขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในบริเวณรอบๆ แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับประเทศอย่าง เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง โดยอนุมัติให้ 4 บริษัท ซึ่งประกอบด้วย แปลงสัมปทานที่ได้ขออนุญาตขุดเจาะสำรวจก่อนปี 2553 คือ แปลงสัมปทาน G4/50 ให้แก่บริษัท เชฟรอน ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด มีระยะห่างจากเกาะพะงัน และเกาะสมุยเพียง 65 และ 78 กิโลเมตร และแปลงสัมปทานแปลง G6/48 ให้แก่บริษัท เพิร์ล ออย (อมตะ) ซึ่งมีระยะห่าง 113 และ 110 กิโลเมตร บริษัท แปลงสัมปทาน B8/38 ให้แก่บริษัท Salmmander ซึ่งห่างจากเกาะเต่า ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 65 กิโลเมตร และให้สัมปทานแปลง G5/50 แก่บริษัท ซีอีซี (นิวคอสตอล) จำกัด ซึ่งห่างจากเกาะสมุย ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 42 กิโลเมตร ห่างจากชายฝั่งอำเภอขนอม ไปทางทิศตะวันออกเพียง 41 กิโลเมตร
31 กรกฎาคม 2553 ประชาชนบนเกาะสมุยลุกขึ้นมาคัดค้าน และร่วมรณรงค์คัดค้านการขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแปลงรอบๆ เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า ด้วยการระดมพลออกมากว่า 35,000 คน ออกมาผนึกกำลังจับมือกันไปตามถนนรอบเกาะสมุย ระยะทาง 52 กิโลเมตร เพื่อแสดงให้รัฐบาล และคนภายนอก รวมทั้งคนต่างชาติเห็นว่า คนเกาะสมุยต้องการให้รัฐบาลยกเลิกสัมปทานขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทยบริเวณเกาะที่มีชื่อเสียงทางการท่องเที่ยวของฝั่งอ่าวไทย ทั้งเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า และต้องการรักษาสภาพของพื้นที่ดังกล่าวไว้ให้ปลอดจากธุรกิจข้ามชาติมหาอำนาจด้านพลังงานเหล่านั้น พวกเขายุติการดำเนินการไปชั่วคราวเสมือนถอยไปตั้งหลัก
ในปี 2555 บริษัท อีอาร์เอ็น-สยาม จำกัด ซึ่งได้รับมอบหมายจากบริษัท ซาลามานเดอร์ เอนเจอร์ยี่ (บัวหลวง) ลิมิเต็ด ให้จัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และดำเนินการการมีส่วนร่วมของประชาชน สำหรับโครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียมของ บริษัท ซาลามานเดอร์ เอนเนอร์ยี่ (บัวหลวง) ลิมิเต็ด และจะเดินหน้าโครงการสำรวจขุดเจาะ กำหนดเริ่มดำเนินการในเดือนหน้า คือ ในเดือนเมษายนนี้
ในขณะที่ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์-15 พฤษภาคมของทุกปี ฤดูกาลปิดอ่าวไทยตามประกาศของกรมประมง รวมอาณาเขต 26,400 ตารางกิโลเมตร ซึ่งครอบคลุมพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูปลาที่มีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวในวัยอ่อน ในฝั่งทะเลอ่าวไทยประจำทุกปี ทั้งนี้ ฤดูกาลปิดอ่าวไทยเมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา กรมประมงรายงานว่า มีสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นก่อนปิดอ่าว 2.34 เท่า ซึ่งแสดงให้เห็นว่า มาตรการดังกล่าวมีส่วนช่วยฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในท้องทะเลให้มีใช้อย่างยั่งยืน ชาวประมงมีรายได้ที่มั่นคงในการประกอบอาชีพ และประชาชนคนไทยได้มีสัตว์น้ำบริโภคอย่างเพียงพอด้วย
จากการประเมินทางวิชาการตามมาตรการปิดอ่าว ปี 2554-2555 ของกรมประมงพบว่า ปลาทูได้รับการฟื้นฟูอย่างเห็นได้ชัด มีปริมาณการจับสูงขึ้นกว่าช่วงก่อนปิดอ่าวมากถึง 2 เท่าทั้ง 2 ปี โดยในปี 2554 สามารถรักษาระดับผลผลิตปลาทูทุกพื้นที่ในอ่าวไทยให้ยั่งยืน ทำให้สามารถจับปลาทูได้เฉลี่ย 100,000 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4,500 ล้านบาทต่อปี ส่วนพื้นที่ของจังหวัดประจวบฯ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี มีผลผลิต 65,000 ตันต่อปี มูลค่าประมาณ 2,925 ล้านบาทต่อปี
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ประกอบด้วย หมู่เกาะต่างๆ 42 เกาะ สภาพของเกาะส่วนมากเป็นเขาหินปูนเกือบทั้งหมด มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 10 เมตร จนถึง 400 เมตร การกร่อนทางกายภาพ และดินฟ้าอากาศ ทำให้เกิดถ้ำและหน้าผา ทำให้รูปร่างของเกาะมีลักษณะแปลกๆ เกิดขึ้น เช่น บางแห่งคล้ายกับปราสาทหินพิมาย หรือนครวัดอันเก่าแก่ บางเกาะหาดทรายมีสีขาวสะอาดบริสุทธิ์ บางเกาะมีปะการังตามชายทะเลหลายชนิด สีสวยงามหลากสีอยู่ท่ามกลางความเงียบสงบ จากการสำรวจพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวพบว่า กลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ และควรได้รับการผลักดันมากที่สุด คือ กลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งมีมากสุดถึง 32.7% รองลงมาคือ กลุ่มฮันนีมูน/แต่งงาน 21.3% เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง คือ ต้นทุนธรรมชาติที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดนักท่องเที่ยว
รายได้ 965,000 ล้านบาท จากธุรกิจการท่องเที่ยว การจับปลาทูได้เฉลี่ย 100,000 ตัน/ปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4,500 ล้านบาท/ปี เฉพาะในพื้นที่ของจังหวัดประจวบฯ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี มีผลผลิต 65,000 ตัน/ปี มูลค่าประมาณ 2,925 ล้านบาท/ปี นี่คือผลผลิตจากมดลูกของทะเลไทย
การอนุญาตให้สัมปทานแก่นักล่าอาณานิคมยุคใหม่ ในคราบของธุรกิจพลังงาน ที่ร่วมมือกับนักการเมือง และข้าราชการขี้ฉ้อทั้งหลาย ทำให้ประเทศชาติเสียเปรียบต่างชาติแล้วยังไม่พอ วันนี้กำเริบหนักข้อถึงขั้นจะกระทืบทำร้ายทำลายมดลูกทะเลไทย อันเป็นแหล่งให้กำเนิดรายได้ อาหาร และวิถีชีวิตอันสวยงามของสังคมไทยของเรา...ได้เวลาลุกขึ้นมาขับไล่ไสหัวพวกมันออกไปได้หรือยังครับพี่น้อง