xs
xsm
sm
md
lg

การขุดเจาะน้ำมัน...กับน้ำตาชาวประมง / บรรจง นะแส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : ฝ่าเกลียวคลื่น
โดย...บรรจง  นะแส
 
อาทิตย์ที่ผ่านมา ชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่อำเภอสทิงพระ สิงหนคร ในพื้นที่จังหวัดสงขลาได้ให้ข้อมูลแก่ทีมวิจัยผลกระทบจากการพัฒนาในภาคใต้ ที่นำโดยดร.อาภา หวังเกียรติ แห่งมหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับพี่น้องประมงชายฝั่งในพื้นที่ 4 จังหวัดที่เข้าร่วมในโครงการ คือ ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สตูล และสงขลา เป็นอีกครั้งที่น้ำตาของชาวประมงชายฝั่งต้องหลั่งออกมาด้วยความอัดอั้นตันใจ ในชะตากรรมที่เกิดขึ้นจากการพัฒนา ที่พื้นที่ทำมาหากินเลี้ยงครอบครัวมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ต้องมาล่มสลายลงด้วยอุตสาหกรรมการขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ใกล้ชายฝั่ง
 
บริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด (ปัจจุบัน ได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ซี.อี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล ลิมิเต็ด) (สาขาประเทศไทย) ได้รับสัมปทานแปลงสำรวจเพิ่มในทะเลอ่าวไทยหมายเลข จี5/43 จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ในสมัยที่ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เป็นรัฐมนตรีว่าการฯ และมีอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2546 ในช่วงเวลาดังกล่าว มีการออกมาท้วงติงจากหลายๆ ฝ่ายว่าการให้สัมปทานในครั้งนั้นมีเงื่อนงำที่ยังเป็นประเด็นข้อสงสัยจากสังคม โดยเฉพาะบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทที่จดทะเบียนที่เกาะเคย์แมน ที่ไม่สามารถตรวจสอบการลงทุนได้ว่ามีใครอยู่เบื้องหลัง และเป็นเจ้าของบริษัทดังกล่าว และมีการพูดถึง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมที่เปิดโอกาสให้ต่างชาติมาหาผลประโยชน์จากแหล่งพลังงานของชาติโดยให้ผลตอบแทนเพียงน้อยนิด มีการเรียกร้องให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าว ก่อนที่จะเปิดโอกาสให้มีการให้สัมปทาน แต่เสียงเรียกร้องดังกล่าวหาได้รับความสนใจจากนักการเมืองที่มีอำนาจในสมัยนั้นแต่อย่างใด ยังคงเดินหน้าเปิดให้มีการสัมปทานและกลไกรัฐได้ร่วมกันผลักดันให้ทางบริษัทได้ดำเนินการขุดเจาะจนสำเร็จตามสัมปทานที่ได้รับเป็นเวลา 16 ปี

ในส่วนของชาวประมงชายฝั่งในเขตที่จะได้รับผลกระทบใน อ.สทิงพระ จ.สงขลา มีความพยายามที่จะลุกขึ้นมารักษาสิทธิในการประกอบอาชีพของตัวเอง ได้มีการชุมนุมประท้วงโดยรวมตัวกันของเรือประมงพื้นบ้าน และเรือประมงอวนลากเล็กที่จะได้รับผลกระทบในการมาแย่งที่ทำกินที่ทำการประมงบริเวณที่จะมีการขุดเจาะน้ำมัน มีการนำเรือประมงพื้นบ้านมาทำการปิดปากร่องน้ำทะเลสาบสงขลาถึง 2 ครั้ง มีการนำเรือประมงอวนลากเล็กไปทำการล้อมแท่นเจาะเพื่อไม่ให้มีการขุดเจาะ แต่พลังของชาวประมงชายฝั่งก็ไม่สามารถต้านทานการผนึกกำลังกันของฝ่ายบริษัท และหน่วยงานราชการที่เลือกยืนอยู่ฝ่ายบริษัทได้ รวมไปถึงนักการเมืองทั้งในระดับพื้นที่ และระดับชาติต่างดาหน้ากันออกมาแยกสลายพลังของพี่น้องในทุกรูปแบบ ทั้งเจรจาไกล่เกลี่ยให้ยอมรับเงื่อนไขจากทางบริษัท ข่มขู่คุกคาม จนพี่น้องชาวประมงต้องพ่ายแพ้แก่อำนาจต่างๆ ที่ถาโถมกันลงมา

จากปี 2546 ถึงปัจจุบัน เกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ผลพวงจากการขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ชายฝั่งของจังหวัดสงขลา ที่มีหลุมขุดเจาะที่ชื่อว่าแหล่งบัวบาน A-D ได้ส่งผลต่ออาชีพการทำประมงของชุมชนประมงชายฝั่งอย่างย่อยยับ ไร้คนรับผิดชอบ บริษัทใช้งบประมาณปิดปาก และลดการเคลื่อนไหวของชาวประมงด้วยการจ่ายค่าชดเชย ในการสูญเสียอาชีพครอบครัวละไม่ถึง 2,000 บาท/เดือน ในขณะเดียวกัน ก็ใช้เงื่อนไขลดแรงกดดันจากองค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ติดชายฝั่ง ตั้งแต่อำเภอระโนด จดอำเภอเทพา รวม 28 องค์กรด้วยการจัดสรรงบประมาณให้แต่ละองค์กร ซึ่งในปีที่ผ่านมา แต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับผลประโยชน์ไปเฉลี่ยองค์กรละ 15 ล้านบาท ในส่วนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ก็รับไปกว่า 400 ล้านบาท ตัวแทนของประชาชนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง อบต. อบจ. จึงสงบเสงี่ยมไม่มีปากเสียงต่อความเดือดร้อนของพี่น้องในพื้นที่
 
ปีที่ผ่านมา ในช่วงมรสุมมีก้อนน้ำมันดิบจากแท่นเจาะพัดเข้าหาฝั่งตั้งแต่อำเภอระโนดตลอด แนวชายฝั่งของจังหวัดสงขลา ทำให้ชายฝั่งสกปรก ทางจังหวัดสงขลาต้องจ้างประชาชนเก็บ และรับซื้อก้อนน้ำมันดิบที่ทำความสกปรกให้แก่พื้นที่ชายหาดในราคากิโลกรัมละ 10 บาท ชายหาดสมิหลาสงขลาก้อนน้ำมันดิบ ทำให้ชายหาดสมิหลาสกปรก นักท่องเที่ยวเดินเล่นชายหาดมีก้อนน้ำมันดิบติดเท้า จนทางเทศบาลนครสงขลาระดมคนมาช่วยเก็บกวาดทำความสะอาดชายหาด แต่สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็เงียบหายไปในสายลม และกาลเวลา เพราะทางบริษัทได้ใช้เศษกำไรจากผลประกอบการนำมาปิดหูปิดตากลไกของรัฐทุกภาคส่วนจนแน่นสนิท
 
ในส่วนของชาวประมง ได้ลุกขึ้นบอกเล่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับพวกเขาว่า เมื่อบริษัทเริ่มกระบวนการขุดเจาะบริเวณใกล้แท่นเจาะจะกลายเป็นพื้นที่หวงห้ามในบริเวณที่กว้าง พื้นที่ที่พวกเขาเคยทำการประมงก็หดหายไป เมื่อมีกระบวนการขุดเจาะเสียงระเบิดใต้น้ำ จากกระบวนการขุดเจาะทำให้พันธุ์สัตว์น้ำโดยเฉพาะปลาต้องหนีเสียงระเบิดดังกล่าวออกไปไกลพื้นที่ชายฝั่ง การดิ้นรนเพื่อหาทางประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัวและปากท้อง ก็ต้องอพยพเรือออกไปหากินนอกชุมชนของตัวเอง บ้างไปไกลถึงเขตอำเภอหัวไทรในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช บ้างก็อพยพไปหากินในพื้นที่เกาะสมุย บ้างก็นำเรือขึ้นรถไปหากินฝั่งอันดามันแรมเดือนที่ตะลอนไปตามที่ต่างๆ เพื่อประกอบอาชีพ พลัดบ้านพลัดถิ่น
 
คนที่พยายามยืนหยัดอยู่กับบ้าน อยู่กับครอบครัวก็หาทางสร้างเรือให้ลำใหญ่กว่าเดิม ติดตั้งเครื่องเรือเป็น 2 เครื่อง วิ่งออกไปจากฝั่งสุดลูกหูลูกตา ใช้เวลาเดินทางไปถึงจุดที่จะทำการประมงได้ต้องใช้เวลาถึง 6 ชั่วโมงในแต่ละวัน ได้กุ้งหอยปูปลามาก็ต้องชดเชยหมดไปกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะค่าน้ำมัน วันนี้น้ำตาของพวกเขาจึงหลั่งออกมาทุกครั้งของคำถามว่าผลจากการขุดเจาะน้ำมันที่กระทบต่อชีวิต แต่ดูเหมือนน้ำตาของพี่น้องชาวประมง คนที่ใช้แรงงานแรงกายจับปลาหาเลี้ยงชีพจะไร้ความหมาย เพราะน้ำมันที่ได้มาจากการขุดเจาะ มันได้ไหลทับกลบเกลื่อนน้ำตาของพวกเขาไปเสียจนหมดสิ้น
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น