ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ภาคีเครือข่ายคัดค้านการขุดเจาะน้ำมันอำเภอเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า ล้มเวทีรับฟังความเห็นวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการสำรวจขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทย แปลงที่ G4/50 ของบริษัท ซาลามานเดอร์ฯ เหตุเพราะไม่เชื่อมั่นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ทำเพียงให้ครบขั้นตอนของกฎหมายเท่านั้น พร้อมยื่นหนังสือถึงรมต.พลังงานให้ยุติกิจกรรมสำรวจขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทยทั้งหมด จนกว่าศาลปกครองจะตัดสิน และเรียกร้องให้บริษัทรับสัมปทานตั้งคณะทำงานเจรจาร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (20 พ.ย.) บริษัท อีอาร์เอ็น-สยาม จำกัด ซึ่งได้รับมอบหมายจากบริษัท ซาลามานเดอร์ เอนเจอร์ยี่ (บัวหลวง) ลิมิเต็ด จัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และดำเนินการการมีส่วนร่วมของประชาชน สำหรับโครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียมของบริษัท ซาลามานเดอร์ เอนเนอร์ยี่ (บัวหลวง) ลิมิเต็ด บริเวณด้านฝั่งตะวันตกเฉียงใต้แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G4/50 ได้จัดรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 โครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียมของบริษัท ซาลามานเดอร์ เอนเนอร์ยี่ (บัวหลวง) ลิมิเต็ด จำกัด บริเวณด้านตะวันตกเฉียงใต้แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G/4/50 ที่เกาะพะงัน อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อชี้แจงข้อมูล และรับฟังความคิดเห็นต่อร่างข้อเสนอโครงการ และขอบเขตการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อโครงการดังกล่าว มีประชาชนชาวเกาะพะงัน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประมาณ 89 คน
โดยเมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 19 พ.ย.2555 บริษัทดังกล่าวได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการเดียวกันนี้ที่โรงแรม เซนทารา แกรนด์ บีช รีสอร์ท สมุย อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานีไปแล้ว แต่ได้รับการคัดค้านจากภาคีเครือข่ายคัดค้านการขุดเจาะน้ำมันอำเภอเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า ซึ่งประกอบด้วย สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย สมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ฝั่งตะวันออก เครือข่ายรักษ์อ่าวไทย กลุ่มรักเฉวง สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะพงัน สมาคมสปาสมุย มีเพียงหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเท่านั้นที่เข้าร่วมการรับฟังความคิดเห็น
นายอานนท์ วาทยานนท์ ผู้ประสานงานเครือข่ายรักษ์อ่าวไทย กล่าวว่า การคัคค้านการรับฟังความคิดเห็นโครงการขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทยของบริษัทดังกล่าว เนื่องจากแปลงสำรวจขุดเจาะดังกล่าวอยู่ห่างจากเกาะพะงันเพียง 36.7 กิโลเมตรเท่านั้น และเห็นว่า ชาวสมุยได้คัดค้านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของบริษัท เซฟรอน และ บริษัท เพิร์ลออย (อมตะ) มาโดยตลอด แต่ท้ายที่สุดแล้ว กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติก็ยังอนุมัติให้มีการขุดเจาะสำรวจ ทำให้ชาวเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า จึงร่วมกันฟ้องศาลปกครองกลาง โดยกล่าวหาว่า กระบวนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และรับฟังความคิดเห็นเป็นกระบวนการที่ทำขึ้นตามขั้นตอนทางกฎหมายเท่านั้น การรวมตัวกันไม่เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ ทำให้ไม่มีตัวแทนจากประชาชน และภาคธุรกิจเข้าร่วมการประชุม การประชุมจึงไม่อาจดำเนินการต่อไปได้
นอกจากนี้ ตัวแทนจากเครือข่ายคัดค้านการขุดเจาะน้ำมันฯ ยังได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ผ่านทางเจ้าหน้าที่กรมพลังงานธรรมชาติที่เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น โดยเรียกร้องให้หยุดกิจกรรมทุกประเภทในการสำรวจปิโตรเลียมในพื้นที่ใกล้เคียง หรือรอบๆ เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า เป็นการชั่วคราว จนกว่าทางศาลปกครองจะตัดสินกรณีที่ทางเครือข่ายฯ ได้ยืนเรื่องไว้ และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดให้มีการเจรจาระหว่างบริษัทผู้รับสัมปทานรอบๆ เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า กับผู้แทนภาคส่วนต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อร่วมกันกำหนดระยะห่างของหลุมเจาะของเกาะทั้งสาม ที่สามารถสร้างความมั่นใจได้ว่ามีความปลอดภัยต่อกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว และแหล่งอาหารทะเลที่สำคัญของประเทศ
นายอานนท์ กล่าวอีกว่า ในวันที่ 24 พ.ย.2555 นี้ ทางบริษัทดังกล่าวจะไปรับฟังความคิดเห็นกับประชาชนที่เกาะเต่า ซึ่งจะได้รับการต่อต้านจากประชาชนที่เกาะสมุย และเกาะพะงัน เพราะประชาชนทั้ง 3 เกาะมองการเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวจะเป็นการตกหลุมพรางที่บริษัท และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติวางไว้
สำหรับแปลงสัมปทานสำรวจขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทย รอบเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า ที่อยู่ในข่ายของการคัดค้านของประชาชน ประกอบด้วย แปลง G5/50 ของบริษัท นิวคอสตอล ห่างจากเกาะสมุย และอำเภอขนอม ประมาณ 42 กิโลเมตร แปลง G4/50 ของบริษัท เชฟรอน ห่างเกาะสมุย พะงัน 78 และ 65 กม. ตามลำดับ แปลง B8/38 ของบริษัท Salamander ห่างจากเกาะเต่า 65 กิโลเมตร และแปลง G6/48 ของบริษัทเพิร์ลออย (อมตะ) ห่างจากเกาะสมุย 110 กิโลเมตร