xs
xsm
sm
md
lg

ผลประโยชน์ปิโตรเลียม ในมุมมองที่ “ไร้เดียงสา?”

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนของภาคประชาชน (หลังยุค 14 ตุลาคม 2516) ในกรณีผลประโยชน์ที่รัฐบาลได้รับจากการให้สัมปทานเพื่อสำรวจและขุดเจาะแหล่งปิโตรเลียม ได้ทำให้กระทรวงพลังงานโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติซึ่งเป็นส่วนราชการที่รับผิดชอบโดยตรงได้ออกเอกสารเรื่อง “ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายได้ที่ประเทศได้รับจากการประกอบกิจการปิโตรเลียม” (ดาวน์โหลดได้)

ในบทความนี้ ผมจะลำดับเรื่องราวให้ท่านผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายๆ เป็นข้อๆ แล้วกรุณาพิจารณาด้วยหัวใจที่เป็นธรรมว่า เหตุผลในเอกสารดังกล่าวเป็นเหตุผลที่รับฟังได้หรือว่าไร้เดียงสากันแน่

1. ภาคประชาชนวิจารณ์ว่าผลประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับจากการให้สัมปทานแหล่งปิโตรเลียมแก่บริษัทซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาตินั้นน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ กล่าวคือได้เพียง 29.87% ของมูลค่าที่ขายได้เท่านั้น โดยที่รายได้ดังกล่าวประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ และผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ (ซึ่งเกิดขึ้นในกรณีที่บริษัทมีกำไรสูงอันเนื่องจากราคาปิโตรเลียมสูง แต่กรุณาอย่าหลงประเด็นนะครับ เพราะมีค่าเพียงนิดเดียวเมื่อเทียบกับอีกสองส่วนที่เหลือ)

2. ผู้บริหารระดับสูงของกรมฯ ได้ให้สัมภาษณ์มาตลอดว่า ผลประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับนั้นอยู่ที่ประมาณ 55 ถึง 65% ซึ่งเป็นตัวเลขที่แตกต่างอย่างมากจากตัวเลขที่ภาคประชาชนรับทราบ (ซึ่งก็มาจากเอกสารของทางราชการนั่นแหละ) ทางกรมฯ เองซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงก็ไม่เคยทำความเข้าใจกับภาคประชาชนว่า ทำไมตัวเลขสองชุดนี้จึงแตกต่างกันมาก จนในที่สุดในที่ประชุมคณะกรรมาธิการตรวจสอบการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ทางกรมฯ ก็ได้ชี้แจง ทำให้ผมซึ่งนั่งประชุมอยู่ด้วย “ถึงบางอ้อ” เพราะวิธีคิดของทั้งสองส่วนแตกต่างกันนั่นเอง

3. วิธีคิดของทางราชการก็คือ หักต้นทุนของบริษัท (ซึ่งประกอบด้วย (1) การบริหาร (2) การผลิตและการขายปิโตรเลียม (3) การพัฒนา และ (4) การสำรวจ) ออกไปจากรายได้จากการขายปิโตรเลียม เงินส่วนที่เหลือจึงนำมาแบ่งกันระหว่างบริษัทกับรัฐ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาตัวเลขการลงทุนดังกล่าวอยู่ในตารางข้างล่าง (จากรายงานประจำปี 2554 ของกรมฯ หน้า 103 โปรดสังเกตว่าสองรายการหลังเป็นต้นทุนคงที่ คือลงทุนไปแล้วใช้ได้หลายปี แต่สองรายการแรกเป็นต้นทุนแปรผัน อ้อ หน่วยเป็นล้านบาท)

โปรดสังเกตนะครับว่า ประมาณ 3 ใน 4 หรือปีละกว่าหนึ่งแสนล้านบาทของต้นทุนทั้งหมดเป็นต้นทุนคงที่ ซึ่งในตอนหลังผมจะนำไปใช้ในการวิจารณ์ต่อ

4. ในเอกสารชี้แจงดังกล่าว ทางกรมฯ ได้นำตัวเลขสรุปทั้งหมด ตั้งแต่เริ่มต้นให้สัมปทานปี 2524 จนถึง 2554 (ดังตารางที่ผมตัดแนบมาให้ดูด้วย) ซึ่งผมขอสรุปสั้นๆ ดังนี้

มูลค่าปิโตรเลียมที่ขายได้ 3.415 ล้านล้านบาท (มันมากขนาดไหน ลองเทียบกับงบประมาณแผ่นดินของรัฐบาลในปีหน้า 2.4 ล้านล้านบาท) บริษัทลงทุน 1.461 ล้านล้านบาท ดังนั้น รายได้หลังหักค่าใช้จ่าย 1.954 ล้านล้านบาท รัฐได้รับ 1.074 ล้านล้านบาท (จาก 3 รายการที่กล่าวแล้วในข้อ 1) บริษัทได้รับ 0.88 ล้านล้านบาท ทางกรมฯ สรุปว่า รัฐรับไป 55% และบริษัทรับไป 45%

นั่นคือรัฐได้รับมากกว่าบริษัท ไม่ใช่ได้น้อยแค่ 29.87% ตามที่ภาคประชาชนนำเสนอ การคำนวณเชิงคณิตศาสตร์ที่กล่าวมาแล้วไม่มีอะไรผิดพลาด

นอกจากนี้ ทางกรมฯ ยังได้นำเสนอเอกสารเปรียบเทียบของที่ปรึกษาด้านปิโตรเลียมระดับโลกว่า ผลประโยชน์ที่รัฐไทยได้รับอยู่ในระดับกลางๆ คือ ไม่สูงและไม่ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ คือไทยได้ 64-78% (แต่กรมฯ ได้เขียนว่า 50-75% ผมไม่เข้าใจว่าเพื่ออะไร) ในขณะที่พม่าได้ 80-86% มาเลเซียได้ 82-88% ฟิลิปปินส์ได้ 51-62% ดังตารางที่ตัดมาให้ดู (กรุณาอ่านและคิดตามอย่างช้าๆ เพราะเป็นเรื่องสำคัญของชาติเรา)

5. แต่ประเด็นสำคัญที่ผมอยากชวนท่านผู้อ่านคิดตามมี 2 ประการ (นอกเหนือการการอ่านตัวเลข 50-75% ที่ผิดพลาดในกล่องเหลี่ยมสีฟ้า) ดังต่อไปนี้

5.1 ทำไม กรมฯ ไม่คิดว่า ในเมื่อบริษัทลงทุนไป 1.461 ล้านล้านบาทแล้วได้ผลตอบแทนหรือกำไรสุทธิจำนวน 0.88 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 60 ของต้นทุนทุกชนิดที่ได้ลงไป

คำถามก็คือว่ามีธุรกิจใดบ้างที่ได้กำไรสุทธิสูงในระดับนี้

ผมเชื่อว่า คำถามนี้คือหลักการสำคัญเบื้องต้นที่คนทำธุรกิจทั่วไปเขาสนใจกัน ไม่ใช่เรื่องส่วนแบ่งของรายได้สูงหรือต่ำอย่างที่ทางกรมฯ พยายามอธิบาย ต่อให้ส่วนแบ่งรายได้ของบริษัทสูงถึง 99% รัฐได้ 1% ก็ไม่มีบริษัทใดยอมลงทุน ถ้าร้อยละของกำไรสุทธิเมื่อเทียบกับทุนต่ำ เช่น ลงทุนไปหนึ่งพันล้านบาท แต่กำไรสุทธิแค่ 1,000 บาท ถึงบริษัทได้ส่วนแบ่ง 99% หรือ 990 บาท ใครจะบ้ามาลงทุน

ตัวเลขที่ภาคประชาชนยึดถือ คือ 29.87% นั้นก็เพราะทางการเปิดเผยข้อมูลไม่ครบ ไม่มีต้นทุนบ้าง ไม่มีภาษีบ้าง หรือมีก็ไม่ครบทุกปีบ้าง น่าปวดหัวมากสำหรับคนที่ต้องติดตาม

5.2 ขอย้อนกลับไปดูตารางในข้อ 3 อีกครั้ง เราพบว่าในแต่ละปีบริษัทมีการลงทุนคงที่ คือ การสำรวจและและพัฒนา (หมายถึงแท่นเจาะและอุปกรณ์) ทุกปีๆ กว่าหนึ่งแสนล้านบาท นี่เป็นการลงทุนเพื่ออนาคต (ซึ่งคาดว่าจะมีอายุการใช้งานไม่ต่ำกว่า 10-20 ปี) สมมติว่าไม่มีการลงทุนในส่วนที่เป็นต้นทุนคงที่เพิ่มเติมเลย การขุดเจาะปิโตรเลียมก็ยังคงดำเนินต่อไปได้อีกไม่น้อยกว่า 10-20 ปี

คำถามก็คือ การที่ทางกรมฯ ได้นำต้นทุนในอนาคตมาคิดเป็นต้นทุนในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา แล้วสรุปว่าบริษัทได้รับส่วนแบ่ง 45% ของรายได้ที่หักค่าใช้จ่ายแล้วนั้น เป็นวิธีการคิดที่ถูกต้องเป็นธรรมแล้วหรือ

สมมติ (นะครับสมมติ-เลียนแบบเพลงของนักร้องเด็กคนหนึ่ง) ว่า เราไม่คิดต้นทุนคงที่ของ 3 ปีสุดท้ายรวมประมาณ 3 แสนล้านบาท (สมมติให้ง่ายขึ้น) เราจะพบว่าบริษัทลงทุน 1.161 ล้านล้านบาท รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายก็จะเพิ่มขึ้นจาก 1.954 ล้านล้านบาท เป็น 2.254 ล้านล้านบาท โดยการคิดตามข้อ 4 พบว่ารัฐจะได้ 1.357 ล้านล้านบาท บริษัทได้รับ 0.897 ล้านล้านบาท (ยังไม่ได้ตรวจทานตัวเลขครับ-ขออภัย)

นั่นแปลว่าบริษัทมีกำไรสุทธิคิดเป็นร้อยละ 77 ของเงินลงทุนมากกว่าวิธีคิดเดิมมากทีเดียว

เช่นเดิม มีธุรกิจใดบ้างที่ได้กำไรสุทธิสูงในระดับนี้?

6. เพื่อคลายความสงสัยดังกล่าว ผมได้นำร้อยละของกำไรสุทธิ (Net Income) มาเทียบกับยอดขายของอุตสาหกรรมต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา พบว่า อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมีกำไรสุทธิที่ 7.5% (หมายเหตุ เอกสารนี้ไม่ได้อธิบายละเอียดนัก แต่อ้างอิงครบถ้วนมีแหล่ง)

แต่บริษัทสัมปทานปิโตรเลียมในประเทศไทยสูงถึง 77% นี่มันยิ่งตอกย้ำถึงความเชื่อของภาคประชาชนที่ว่ารัฐไทยได้ผลประโยชน์ต่ำมากๆ

7. มาถึงตอนนี้ ผมอยากจะตั้งถามความเห็นของท่านผู้อ่านทุกท่านว่า วิธีคิดเรื่องผลประโยชน์ที่ประเทศได้รับของทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาตินั้น เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมกับทุกฝ่ายทั้งต่อบริษัทที่ขุดเจาะและต่อประชาชนทั้งบรรพบุรุษที่เสียเลือดเนื้อปกปักรักษาแหล่งปิโตรเลียมมาถึงปัจจุบัน ทั้งต่ออนุชนรุ่นหลังของประเทศนี้ หรือว่าเป็นความไร้เดียงสาทางธุรกิจของราชการไทยกันแน่ครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น