xs
xsm
sm
md
lg

ผลประโยชน์ปิโตรเลียม ในมุมมองที่ “ไร้เดียงสา?” /ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนของภาคประชาชน (หลังยุค 14 ตุลาคม 2516) ในกรณีผลประโยชน์ที่รัฐบาลได้รับจากการให้สัมปทานเพื่อสำรวจและขุดเจาะแหล่งปิโตรเลียม ได้ทำให้กระทรวงพลังงาน โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติซึ่งเป็นส่วนราชการที่รับผิดชอบโดยตรงได้ออกเอกสารเรื่อง “ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายได้ที่ประเทศได้รับจากการประกอบกิจการปิโตรเลียม” (ดาวน์โหลดได้)

ในบทความนี้ ผมจะลำดับเรื่องราวให้ท่านผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายๆ เป็นข้อๆ แล้วกรุณาพิจารณาด้วยหัวใจที่เป็นธรรมว่า เหตุผลในเอกสารดังกล่าวเป็นเหตุผลที่รับฟังได้ หรือว่าไร้เดียงสากันแน่

1.ภาคประชาชนวิจารณ์ว่า ผลประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับจากการให้สัมปทานแหล่งปิโตรเลียมแก่บริษัทซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาตินั้นน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ กล่าวคือ ได้เพียง 29.87% ของมูลค่าที่ขายได้เท่านั้น โดยที่รายได้ดังกล่าวประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ และผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ (ซึ่งเกิดขึ้นในกรณีที่บริษัทมีกำไรสูงอันเนื่องจากราคาปิโตรเลียมสูง แต่กรุณาอย่าหลงประเด็นนะครับ เพราะมีค่าเพียงนิดเดียวเมื่อเทียบกับอีกสองส่วนที่เหลือ)

2.ผู้บริหารระดับสูงของกรมฯ ได้ให้สัมภาษณ์มาตลอดว่า ผลประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับนั้นอยู่ที่ประมาณ 55 ถึง 65% ซึ่งเป็นตัวเลขที่แตกต่างอย่างมากจากตัวเลขที่ภาคประชาชนรับทราบ (ซึ่งก็มาจากเอกสารของทางราชการนั่นแหละ) ทางกรมฯ เองซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงก็ไม่เคยทำความเข้าใจกับภาคประชาชนว่า ทำไมตัวเลขสองชุดนี้จึงแตกต่างกันมาก จนในที่สุด ในที่ประชุมคณะกรรมาธิการการตรวจสอบการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ทางกรมฯ ก็ได้ชี้แจง ทำให้ผมซึ่งนั่งประชุมอยู่ด้วย “ถึงบางอ้อ” เพราะวิธีคิดของทั้งสองส่วนแตกต่างกันนั่นเอง

3.วิธีคิดของทางราชการก็คือ หักต้นทุนของบริษัท (ซึ่งประกอบด้วย (1) การบริหาร (2) การผลิตและการขายปิโตรเลียม (3) การพัฒนา และ (4) การสำรวจ) ออกไปจากรายได้จากการขายปิโตรเลียม เงินส่วนที่เหลือจึงนำมาแบ่งกันระหว่างบริษัทกับรัฐ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขการลงทุนดังกล่าวอยู่ในตารางข้างล่าง (จากรายงานประจำปี 2554 ของกรมฯ หน้า 103 โปรดสังเกตว่า สองรายการหลังเป็นต้นทุนคงที่ คือ ลงทุนไปแล้วใช้ได้หลายปี แต่สองรายการแรกเป็นต้นทุนแปรผัน อ้อ หน่วยเป็นล้านบาท)

โปรดสังเกตนะครับว่า ประมาณ 3 ใน 4 หรือปีละกว่าหนึ่งแสนล้านบาทของต้นทุนทั้งหมดเป็นต้นทุนคงที่ ซึ่งในตอนหลังผมจะนำไปใช้ในการวิจารณ์ต่อ

4.ในเอกสารชี้แจงดังกล่าว ทางกรมฯ ได้นำตัวเลขสรุปทั้งหมด ตั้งแต่เริ่มต้นให้สัมปทานปี 2524 จนถึง 2554 (ดังตารางที่ผมตัดแนบมาให้ดูด้วย) ซึ่งผมขอสรุปสั้นๆ ดังนี้

มูลค่าปิโตรเลียมที่ขายได้ 3.415 ล้านล้านบาท (มันมากขนาดไหน ลองเทียบกับงบประมาณแผ่นดินของรัฐบาลในปีหน้า 2.4 ล้านล้านบาท) บริษัทลงทุน 1.461 ล้านล้านบาท ดังนั้น รายได้หลังหักค่าใช้จ่าย 1.954 ล้านล้านบาท รัฐได้รับ 1.074 ล้านล้านบาท (จาก 3 รายการที่กล่าวแล้วในข้อ 1) บริษัทได้รับ 0.88 ล้านล้านบาท ทางกรมฯ สรุปว่า รัฐรับไป 55% และบริษัทรับไป 45%

นั่นคือ รัฐได้รับมากกว่าบริษัท ไม่ใช่ได้น้อยแค่ 29.87% ตามที่ภาคประชาชนนำเสนอ การคำนวณเชิงคณิตศาสตร์ที่กล่าวมาแล้วไม่มีอะไรผิดพลาด

นอกจากนี้ ทางกรมฯ ยังได้นำเสนอเอกสารเปรียบเทียบของที่ปรึกษาด้านปิโตรเลียมระดับโลกว่า ผลประโยชน์ที่รัฐไทยได้รับอยู่ในระดับกลางๆ คือ ไม่สูง และไม่ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ คือ ไทยได้ 64-78% (แต่กรมฯ ได้เขียนว่า 50-75% ผมไม่เข้าใจว่าเพื่ออะไร) ในขณะที่พม่าได้ 80-86% มาเลเซียได้ 82-88% ฟิลิปปินส์ได้ 51-62% ดังตารางที่ตัดมาให้ดู (กรุณาอ่าน และคิดตามอย่างช้าๆ เพราะเป็นเรื่องสำคัญของชาติเรา)

5.แต่ประเด็นสำคัญที่ผมอยากชวนท่านผู้อ่านคิดตามมี 2 ประการ (นอกเหนือการการอ่านตัวเลข 50-75% ที่ผิดพลาดในกล่องเหลี่ยมสีฟ้า) ดังต่อไปนี้

5.1 ทำไม กรมฯ ไม่คิดว่า ในเมื่อบริษัทลงทุนไป 1.461 ล้านล้านบาทแล้วได้ผลตอบแทน หรือกำไรสุทธิจำนวน 0.88 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 60 ของต้นทุนทุกชนิดที่ได้ลงไป

คำถามก็คือว่า มีธุรกิจใดบ้างที่ได้กำไรสุทธิสูงในระดับนี้

ผมเชื่อว่า คำถามนี้คือ หลักการสำคัญเบื้องต้นที่คนทำธุรกิจทั่วไปเขาสนใจกัน ไม่ใช่เรื่องส่วนแบ่งของรายได้สูง หรือต่ำอย่างที่ทางกรมฯ พยายามอธิบาย ต่อให้ส่วนแบ่งรายได้ของบริษัทสูงถึง 99% รัฐได้ 1% ก็ไม่มีบริษัทใดยอมลงทุน ถ้าร้อยละของกำไรสุทธิเมื่อเทียบกับทุนต่ำ เช่น ลงทุนไปหนึ่งพันล้านบาท แต่กำไรสุทธิแค่ 1,000 บาท ถึงบริษัทได้ส่วนแบ่ง 99% หรือ 990 บาท ใครจะบ้ามาลงทุน

ตัวเลขที่ภาคประชาชนยึดถือ คือ 29.87% นั้น ก็เพราะทางการเปิดเผยข้อมูลไม่ครบ ไม่มีต้นทุนบ้าง ไม่มีภาษีบ้าง หรือมีก็ไม่ครบทุกปีบ้าง น่าปวดหัวมากสำหรับคนที่ต้องติดตาม

5.2 ขอย้อนกลับไปดูตารางในข้อ 3 อีกครั้ง เราพบว่าในแต่ละปีบริษัทมีการลงทุนคงที่ คือ การสำรวจและพัฒนา (หมายถึงแท่นเจาะและอุปกรณ์) ทุกปีๆ กว่าหนึ่งแสนล้านบาท นี่เป็นการลงทุนเพื่ออนาคต (ซึ่งคาดว่าจะมีอายุการใช้งานไม่ต่ำกว่า 10-20 ปี) สมมติว่าไม่มีการลงทุนในส่วนที่เป็นต้นทุนคงที่เพิ่มเติมเลย การขุดเจาะปิโตรเลียมก็ยังคงดำเนินต่อไปได้อีกไม่น้อยกว่า 10-20 ปี

คำถามก็คือ การที่ทางกรมฯ ได้นำต้นทุนในอนาคตมาคิดเป็นต้นทุนในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา แล้วสรุปว่าบริษัทได้รับส่วนแบ่ง 45% ของรายได้ที่หักค่าใช้จ่ายแล้วนั้น เป็นวิธีการคิดที่ถูกต้องเป็นธรรมแล้วหรือ

สมมติ (นะครับสมมติ-เลียนแบบเพลงของนักร้องเด็กคนหนึ่ง) ว่า เราไม่คิดต้นทุนคงที่ของ 3 ปีสุดท้ายรวมประมาณ 3 แสนล้านบาท (สมมติให้ง่ายขึ้น) เราจะพบว่าบริษัทลงทุน 1.161 ล้านล้านบาท รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายก็จะเพิ่มขึ้นจาก 1.954 ล้านล้านบาท เป็น 2.254 ล้านล้านบาท โดยการคิดตามข้อ 4 พบว่า รัฐจะได้ 1.357 ล้านล้านบาท บริษัทได้รับ 0.897 ล้านล้านบาท (ยังไม่ได้ตรวจทานตัวเลขครับ-ขออภัย)

นั่นแปลว่า บริษัทมีกำไรสุทธิคิดเป็นร้อยละ 77 ของเงินลงทุนมากกว่าวิธีคิดเดิมมากทีเดียว

เช่นเดิม มีธุรกิจใดบ้างที่ได้กำไรสุทธิสูงในระดับนี้?

6.เพื่อคลายความสงสัยดังกล่าว ผมได้นำร้อยละของกำไรสุทธิ (Net Income) มาเทียบกับยอดขายของอุตสาหกรรมต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา พบว่า อุตสาหกรรมน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติมีกำไรสุทธิที่ 7.5% (หมายเหตุ เอกสารนี้ไม่ได้อธิบายละเอียดนัก แต่อ้างอิงครบถ้วนมีแหล่ง)

แต่บริษัทสัมปทานปิโตรเลียมในประเทศไทยสูงถึง 77% นี่มันยิ่งตอกย้ำถึงความเชื่อของภาคประชาชนที่ว่ารัฐไทยได้ผลประโยชน์ต่ำมากๆ

7.มาถึงตอนนี้ ผมอยากจะตั้งถามความเห็นของท่านผู้อ่านทุกท่านว่า วิธีคิดเรื่องผลประโยชน์ที่ประเทศได้รับของทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาตินั้น เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมแก่ทุกฝ่ายทั้งต่อบริษัทที่ขุดเจาะ และต่อประชาชนทั้งบรรพบุรุษที่เสียเลือดเนื้อปกปักรักษาแหล่งปิโตรเลียมมาถึงปัจจุบัน ทั้งต่ออนุชนรุ่นหลังของประเทศนี้ หรือว่าเป็นความไร้เดียงสาทางธุรกิจของราชการไทยกันแน่ครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น