xs
xsm
sm
md
lg

เตือนรัฐฯ5ปีรายได้วูบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติออกโรงเตือนรับมือรายได้ปิโตรเลียมปีละแสนกว่าล้านบาทอีก 5 ปีข้างหน้าจะเริ่มถดถอยลงหลังการผลิตก๊าซฯในประเทศถึงจุดพีกสุดปีนี้ก่อนลดระดับหมดลงในอีก 10 ปี หากไม่พบแหล่งปิโตรเลียมใหม่ ตั้งความหวังแหล่งไทย-กัมพูชาต่ออายุ
นายทรงภพ พลจันทร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการปิโตรเลียมที่มีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานเมื่อวันที่ 22 ส.ค.ว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้าอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติของไทยหากไม่ค้นพบแหล่งผลิตใหม่เลยในประเทศจะไต่ระดับลดลง ซึ่งหมายถึงการจัดเก็บรายได้จากปิโตรเลียมเข้ารัฐซึ่งแบ่งเป็นค่าภาคหลวง
ผลประโยชน์ตอบแทนรัฐและภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่เฉลี่ยเก็บเข้ารัฐรวมปีละ 1.4 แสนล้านบาทจะลดลงตามไปด้วย
“ขณะนี้ไทยมีอัตราการผลิตก๊าซฯในประเทศเฉลี่ยที่ 3,531 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งน่าจะเป็นระดับการผลิตสูงสุดแล้วเมื่อเทียบกับการใช้ที่อยู่ 4,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยอีก 1,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตนำเข้าจากพม่า ซึ่งในปลายปี 2556 เราก็หวังว่าจะมีก๊าซฯจากแหล่งเอ็ม 9 ของพม่าเข้ามาเพิ่มอีก 240 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน ขณะที่แหล่งในประเทศยังไม่มีเพิ่มเติม ดังนั้นช่วง 5 ปีนี้รายได้ก็น่าจะคงที่แล้วหลังจากนั้นก็จะเริ่มตกลง”นายทรงภพกล่าว
ทั้งนี้ ปี 2554 ไทยมีการจัดเก็บรายได้จากปิโตรเลียมรวม 1.4 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นรายได้ส่วนของภาษีเงินได้ และรายได้จากแหล่งพัฒนาพื้นที่ร่วมไทย-มาเลเซียน(JDA) ที่ส่งผ่านไปยังกรมสรรพสามิตประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ส่วนรายได้ค่าภาคหลวงเก็บโดยกรมฯอยู่ที่ 6 หมื่นล้านบาท คาดว่าปีนี้ส่วนของกรมฯจะเก็บได้ 7 หมื่นล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วไม่ต่ำกว่า 10%
เนื่องจากระดับราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นโดย 7 เดือนแรกปีนี้(ม.ค.-ก.ค.)กรมฯเก็บค่าภาคหลวงแล้ว 4.23 หมื่นล้านบาทซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนถึง 18%
นายทรงภพ กล่าวว่า ปริมาณสำรองก๊าซฯที่ไทยมีอยู่ขณะนี้ 20 ล้านล้านลบ.ฟุต แต่การใช้เฉลี่ยที่ 4,500 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน เฉลี่ยแล้วหากใช้ระดับดังกล่าวและไม่มีการผลิตเพิ่มก็จะใช้ได้อีกไม่เกิน 10 ปี ขณะที่แหล่งผลิตปิโตรเลียมในไทยแม้จะยังมีการค้นพบเพิ่มแต่ก็เป็นแหล่งที่เล็กมาก
ดังนั้น ความหวังของไทยในการหาสำรองก๊าซฯและจะสร้างรายได้มีเพียงส่วนของพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อนไทย-กัมพูชา เป็นหลัก ที่เหลือก็คงจะต้องพึ่งการนำเข้าเป็นสำคัญโดยเฉพาะจากพม่าที่มีศักยภาพสูงสุด
อย่างไรก็ตาม บอร์ดปิโตรเลียมล่าสุดได้อนุมัติพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมเพิ่มเติม 2 พื้นที่เนื่องจากพบว่ามีศักยภาพทางด้านธรณีวิทยาที่จะพัฒนาได้แก่ พื้นที่แหล่งดงมูล จ.กาฬสินธุ์ ของบริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด ซึ่งอยู่ในแปลงสำรวจ L27/43 พื้นที่รวม 31.19 ตารางกิโลเมตร คาดว่าจะมีสำรองก๊าซฯประมาณ 6.6 หมื่นล้านลบ.ฟุตเริ่มผลิตได้ปี 2558 โดยบริษัทจะลงทุนประมาณ 6,774 ล้านบาท ผลประโยชน์ที่รัฐจะได้ประมาณ 3,095 ล้านบาท
สวนพื้นที่ที่ 2 เป็นแหล่งปะการังตะวันตก ของบริษัท เชฟรอนประเทศสำรวจและผลิต จำกัด ซึ่งอยู่ในทะเล แปลง B11 พื้นที่ผลิตรวม 118.1 ตารางกม. คาดว่าจะมีสำรองก๊าซฯ 1 แสนล้านลบ.ฟุต น้ำมันดิบและก๊าซฯเหลว 8.97 ล้านบาร์เรลผลิตได้ปี 2558 คาดว่าจะผลิตก๊าซฯเฉลี่ยสูงสุดได้ 59 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน บริษัทจะลงทุน 19,000 ล้านบาทผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับประมาณ 10,200 ล้านบาท(คิดประมาณ 57%)
กำลังโหลดความคิดเห็น