xs
xsm
sm
md
lg

กรมอุทยานฯ ลุยสอบที่ดินสิรินาถต่ออีกกว่าพันไร่ ดึงดีเอสไอร่วมตรวจสอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - กรมอุทยานฯ เดินหน้าตรวจสอบเอกสารสิทธิที่ดินในอุทยานแห่งชาติสิรินาถ จ.ภูเก็ต เผย 14 แปลงแรกเนื้อที่กว่า 600 ไร่ ออกเอกสารสิทธิไม่ชอบด้วยกฎหมาย แจ้งความดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องแล้ว ตั้งศูนย์ฯ ลุยต่ออีกกว่า 1 พันไร่ ดึงดีเอสไอร่วมตรวจสอบ แก้ปัญหากรมที่ดินไม่ให้ความร่วมมือ

วันนี้ (28 ก.พ.) นายมโนพัศ หัวเมืองแก้ว อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช พร้อมด้วย นายสมพงศ์ จีราระรื่นศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ นายอมร ต่อเจริญ ผู้อำนวยการป้องกันปราบปรามไฟป่า และนายสุนทร วัชรกุลดิลก ที่ปรึกษาอธิบดีกรมอุทยานฯ ได้เดินทางมาตรวจติดตามการปฎิบัติงานตามยุทธการทวงคืนผืนป่า อุทยานแห่งชาติสิรินาถ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต พร้อมทั้งเปิดศูนย์อำนวยการการตรวจสอบเอกสารสิทธิและปราบปรามการบุกรุก ยืดถือ และครอบครองที่ดิน ในอุทยานแห่งชาติสิรินาถ จ.ภูเก็ต โดยมีนายชีวะภาพ ชีวะธรรม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติสิรินาถ ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ในภาคใต้ หัวอุทยานแห่งชาติในภาคใต้ รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากอุทยานแห่งชาติในภาคใต้เข้าร่วม เพื่อเดินหน้าตรวจสอบการบุกรุกออกเอกสารสิทธิที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถต่อไป หลังจากได้ดำเนินการตรวจสอบมาแล้ว 14 แปลง เนื้อกว่า 600 ไร่

สรุปผล 14 แปลงออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

โดยที่ประชุมได้สรุปความคืบหน้าการตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิที่ดินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ ที่คณะทำงานของอุทยานแห่งชาติได้ลงพื้นที่ทำการตรวจสอบ จำนวน 14 แปลง ได้ข้อสรุปว่า เอกสารสิทธิทุกแปลงออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยยึดหลักการตรวจสอบทั้งในเรื่องของภาพถ่ายทางอากาศที่ระบุชัดว่าที่ดินแต่ละแปลงไม่ได้ทำประโยชน์มาก่อนที่จะออก ส.ค.1 ตรวจสอบจากสารบบที่ดิน และแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติเขารวก-เขาเมือง พร้อมทั้งได้มีการแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการออกเอกสารสิทธิไปเกือบจะทุกแปลงแล้ว เหลือเพียงไม่กี่แปลงที่อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเสนออธิบดีกรมอุทยานฯ

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีการตรวจสอบทั้ง 14 แปลงนี้ ทางกรมอุทยานฯ จะตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิที่ดินในอุทยานแห่งชาติสิรินาถในระยะที่ 2 อีก 7 แปลง เนื้อที่รวมประมาณ 400 ไร่ และระยะที่ 3 อีกกว่า 1,000 ไร่

หลังจากสรุปความคืบหน้าการตรวจสอบที่ดินทั้ง 14 แปลงแล้ว อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ และคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบที่ดินที่มีการออกเอกสารสิทธิแปลงด้านหลังบริเวณด้านหน้าโรงแรมอิมพีเรียลอดามาส กับบริเวณป่าเขารวก-เขาเมือง ใกล้กับที่ดินของนางสุชาดา สังข์สุวรรณ หรือใกล้กับโรงแรมภูเก็ตเพนนูล่า สปา แอนด์รีสอร์ท (โรงแรมร้าง) เนื้อที่ประมาณ 84 ไร่ โดยสภาพพื้นที่เป็นเนินเขาลาดชัน ติดทะเล และยังไม่มีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่แต่อย่างใด เนื่องจากต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ยังคงเป็นพันธุ์ไม้พื้นถิ่น ซึ่งที่ดินแปลงนี้เหมาะในการก่อสร้างโรงแรม และรีสอร์ตเป็นอย่างมาก เพราะอยู่ติดทะเลที่มีชายหาดสวยงาม และยังสามารถมองเห็นวิวทะเลได้สวยงามอีกด้วย

กรมอุทยานฯ เดินหน่าตรวจสอบอีกกว่า 1,000 ไร่

นายมโนพัศ หัวเมืองแก้ว อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า สำหรับวันนี้เป็นการประชุมเพื่อตรวจติดตามการปฏิบัติงานของศูนย์ตรวจสอบเอกสารสิทธิ และปราบปราบการบุกรุกถือครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 29 ม.ค.2556 ซึ่งในเรื่องนี้ทางกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการตรวจสอบเอกสารสิทธิและปราบปรามการบุกรุกการยึดถือครอบครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ ซึ่งศูนย์ฯ นี้มีอยู่ด้วยกันหลายฝ่าย เช่น ฝ่ายปฏิบัติการด้านตรวจสอบเอกสารสิทธิ ฝ่ายปฏิบัติการด้านกฎหมาย เป็นต้น ทำหน้าที่ในการสั่งการวางแผน อำนวยการ ประสานจัดอัตรากำลัง และควบคุมติดตามกำกับดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่มาร่วมปฏิบัติงานภายใต้ศูนย์ฯ

ทางกรมอุทยานแห่งชาติจึงมาติดตามผลการดำเนินงาน เนื่องจากทราบว่าพื้นที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถถูกบุกรุก และยึดถือครอบครองโดยการออกเอกสารสิทธิ ซึ่งปัจจุบันนี้การที่จะดำเนินการใดๆ กับผู้กระทำผิดไม่เหมือนกับที่วังน้ำเขียว เนื่องจากวังน้ำเขียวไม่มีเอกสารสิทธิ แต่ที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถที่ดินมีราคาแพง และผู้บุกรุกพยายามทำให้ดูเสมือนว่าตัวเองถือครองที่ดินถูกต้องตามกฎหมาย โดยการไปว่าจ้าง หรือทำอย่างไรก็ตามที่ทำให้พื้นที่ที่ซื้อขายเปลี่ยนมือ โดยอ้างว่าพื้นที่อุทยานฯ เป็นพื้นที่ที่ถูกต้องตามกฎหมายการออกโฉนด

จากผลการตรวจสอบของกรมอุทยานแห่งชาติ ครั้งแรก 14 แปลง ปรากฏว่าเอกสารสิทธิที่ออกมาไม่ชอบด้วยกฎหมาย เอกสารสิทธิส่วนใหญ่จะออกมาจาก ส.ค.1 ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย อาจจะออกมาจาก ส.ค.1 ซึ่งตามประมวลกฎหมายที่ดิน ส.ค.1 จะออกให้ในปี 2497 การออกตามมาตรา 5 ตามประมวลกฎหมายที่ดินจะออก ส.ค.1 ได้ก็ต่อเมื่อมีการใช้ประโยชน์ในที่ดิน หรือทำกินในที่ดิน มีการปลูกยางพารา ทำสวนมะพร้าว ทำเป็นไร่นา จะต้องมีการทำกินก่อน เมื่อมีการทำกินแล้วผู้ครอบครองที่ดินในสมัยนั้นก็ต้องไปแจ้งต่อกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน บอกไปทางที่ดิน เขาก็จะออก ส.ค.1 ให้ ก็ถือว่าถูกต้องตามกฎหมายสมัยนั้น

แต่จากการที่ทางกรมอุทยานฯ ได้ใช้หลักนิติวิทยาศาสตร์ คือ ใช้ภาพถ่ายทางอากาศ ปี 2493 ปรากฏว่า ที่ดินดังกล่าวไม่ได้ทำประโยชน์แต่อย่างใด มีทั้ง ส.ค.1 บิน และ ส.ค.1 บวม ซึ่งเรื่องนี้ต้องต่อสู้กับกลุ่มนายทุนที่ใช้อำนาจเงินไปซื้อเจ้าหน้าที่ในการออกเอกสารสิทธิ ทำให้ตอนนี้เนื้อที่ของอุทยานฯ ถูกออกเอกสารสิทธิโดยนายทุนไปแล้วกว่า 30% และหากปล่อยไว้แบบนี้ต่อไป อุทยานฯ จะเหลือแค่ที่ตั้งสำนักงาน และชายหาดเท่านั้น

ดึงดีเอสไอตรวจสอบแก้ปัญหากรมที่ดินไม่ให้ความร่วมมือ

นายมโนพัศ กล่าวอีกว่า จากตรวจสอบเอกสารสิทธิที่ผ่านมา ไม่ได้รับความร่วมมือจากกรมที่ดินเท่าที่ควร ทำให้เป็นอุปสรรคในการดำเนินการ ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าว ทางกรมอุทยานฯ จะได้ประสานกับทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในการตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิที่ดินในระยะที่ 2 และที่ 3 ที่มีเนื้อที่รวมกันประมาณ 1,500 ไร่ เพราะทางดีเอสไอมีกฎหมายพิเศษที่สามารถเรียกเอกสารจากหน่วยงานต่างๆ มาตรวจสอบได้ ซึ่งเรื่องนี้เราต้องเดินหน้าต่อไปแม้จะยากก็ตาม เพราะการทวงคืนผืนป่าในอุทยานแห่งชาติสิรินาถถือว่าเป็นเรื่องที่ยากที่สุด ที่ต้องสู้กันด้วยเอกสารหลักฐาน ที่มีการพยายามสร้างขึ้นมาให้ถูกต้องตามกฎหมาย

และเพื่อให้การทำงานของเจ้าหน้าที่มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ทางกรมอุทยานฯ ได้อนุมัติงบประมาณในเบื่องต้น จำนวน 4 ล้านบาท มาดำเนินการตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ และได้มีการยกเลิกทีมตรวจสอบ 365 ทีมที่มาจากทั่วประเทศ ให้เหลือเฉพาะเจ้าหน้าที่ในสำนักบริหารพื้นอนุรักษ์เขต 4 สุราษฎร์ธานี เขต 5 นครศรีธรรมราช และเขต 6 สงขลา เท่านั้น พร้อมทั้งได้มอบหมายให้กองนิติการไปศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับกฎหมายการออกเอกสารสิทธิที่ดินของกรมที่ดิน และมอบหมายให้สำนักพื้นฟูและพัฒนาจัดหาภาพถ่ายทางอากาศในปัจจุบันจนถึงก่อนการออก ส.ค.1 โดยเฉพาะจุดที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ เพื่อเตรียมความพร้อมในการตรวจสอบในระยะต่อไป

นายชีวะภาพ ชีวะธรรม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติสิรินาถ กล่าวว่า การดำเนินการขณะนี้แบ่งออกเป็น 3 ระยะ โดยระยะแรก จำนวน 11 แปลง เนื้อที่รวมประมาณ 600 ไร่ ซึ่งได้ดำเนินการตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆ และกรณีที่มีปัญหามีการรุกล้ำเขตอุทยานฯ ได้มีการแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้บุกรุก และเสนอเพิกถอนเอกสารสิทธิไปยังกรมที่ดินแล้ว ระยะที่ 2 จำนวน 17 แปลง และยังแบ่งเป็นแปลงย่อยอีก 18 แปลง เนื้อที่จำนวน 400 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศ และระยะที่ 3 เนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ โดยจะมีการทำงานร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งจะทำให้การทำงานง่ายขึ้น เนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษจะมีกฎหมายเฉพาะที่สามารถขอเอกสารจากหน่วยงานต่างๆ มาใช้ประกอบเป็นหลักฐานได้

 
 








กำลังโหลดความคิดเห็น