พังงา - ดีเอสไอ ร่วมกับส่วนบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 กระบี่ ลงพื้นที่ตรวจสอบที่สุสานชาวมอแกนเกาะเปลว อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา พบมีนายทุนบุกรุกออกเอกสารสิทธิขายกันเป็นทอดๆ
วันนี้ (26 ก.พ.) พ.ต.อ.ประวุธ วงศ์สีนิล ผู้บัญชาการสำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยนายไมตรี แสงอริยะนันท์ หัวหน้าส่วนบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 กระบี่ และคณะเข้าตรวจสอบพื้นที่ เกาะเปลว หมู่ที่ 6 ตำบลหล่อยูง อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา หลังจากมีชาวบ้านชุมชนมอแกน หมู่ที่ 11 ตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ได้รับความเดือดร้อนเรื่องที่ฝังศพบรรพบุรุษ กรณีนายทุนได้ออกเอกสารสิทธิทับบริเวณที่ฝังศพชุมชนมอแกน จึงมีได้หนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และได้มีบัญชาให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ทำการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว
การตรวจสอบที่ดินแปลงเกิดเหตุตั้งอยู่บนเกาะปากน้ำ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า หาดเกาะเปลว มีเนื้อที่สันดอนอยู่ประมาณ 10 ไร่ นอกนั้นเป็นป่าชายเลน และมีการอ้างว่ามีหลักฐาน ส.ค.1 เลขที่ 33 หมู่ที่ 6 ตำบลหล่อยูง อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา เนื้อที่ 2.2 ไร่ มีอาณาเขตติดทะเลทั้ง 4 ด้าน อ้างทำประโยชน์เป็นสวนมะพร้าว บริเวณโดยรอบเป็นที่ลุ่มน้ำเขตป่าชายเลน จำแนกตามมติรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2530 ที่ดินแปลงนี้อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองหยงทั้งแปลง แนวเขตป่าสงวนฯป่าคลองหยง ประกาศตามกฎกระทรวงฉบับที่ 375 (พ.ศ.2511) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนฯ พ.ศ.2507 มีการออกโฉนดที่ดินในที่ดินแปลงนี้ตามโฉนดเลขที่ 12520 ตำบลหล่อยูง อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา เนื้อที่ 25-3-46.9 ไร่ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2545 มากกว่าหลักฐานเดิม 23-3-46.9 ไร่ และเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2546 ได้มีการขายที่ดินแปลงนี้ให้แก่บริษัทไรโน ฮอล์ลิเดย์ จำกัด ในราคา 1 ล้านบาท จากนั้นก็ได้มีการขายต่อกันไป
เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2546 เจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 22 (ตะกั่วทุ่ง พังงา) ร่วมกับเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่พังงา 1 (ท้ายเหมือง) และเจ้าหน้าที่ตำรวจตะเวนชายเลน ที่ 425 ตะกั่วป่า ได้ตรวจสอบพื้นที่ป่าสงวนฯ ป่าคลองหยง บริเวณเกาะปากน้ำ ท้องที่หมู่ที่ 6 ตำบลหล่อยูง อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา พบร่องรอยการใช้เครื่องจักรกลแผ้วถางป่าชายเลนเนื้อที่ประมาณ 11 ไร่ จึงได้ทำการตรวจสอบพบว่าได้มีการออกโฉนดดังกล่าวไปแล้ว จึงได้มีหนังสือแจ้งสำนักงานที่ดินฯ ว่าการออกโฉนดที่ดินแปลงนี้เป็นการต้องห้ามตามกฎหมาย เพราะสภาพที่ดินเป็นเกาะอันเป็นทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4 และเป็นป่าสงวนแห่งชาติตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 การออกโฉนดแก่บุคคลใดๆ ย่อมเป็นลักษณะการยึดทรัพย์สินของแผ่นดินอันเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย จึงเสนอให้มีการเพิกถอนเอกสารสิทธิในส่วนที่เกินจากหลักฐาน ส.ค.1 จำนวน 23-3-46.9 ไร่ แต่สำนักงานที่ดินฯ ก็ยังไม่มีการเพิกถอน หรือแก้ไขเนื้อที่แต่อย่างใด
ข้อเท็จจริงจากการอ่านแปล ถ่ายภาพทางอากาศ พบว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สภาพพื้นที่เกือบทั้งเกาะเป็นป่าเลนน้ำเค็ม โดยได้นำภาพถ่ายปี 2510, 2519, 2545 มาวิเคราะห์ ขัดแย้งกับข้อมูลที่ผู้ยื่นคำขอโฉนด และคณะกรรมการพิสูจน์ที่ดินได้รายงาน จึงมีมูลเชื่อว่า มีการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ และรับรองหลักฐานอันเป็นเท็จเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินแปลงดังกล่าวจนสำเร็จ เรื่องนี้คณะกรรมการกองทุนยุติธรรม ซึ่งมี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม เป็นประธาน ได้มีมติให้ส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณารับเรื่องดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรป่าชายเลน ผู้กระทำผิดได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในการเข้ายึดถือครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าว และทำลายทรัพยากรอันมีค่าของแผ่นดิน ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย และเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ อีกทั้งได้มีการขายที่ดินแปลงดังกล่าวไปแล้ว อยู่ในข่ายที่จะใช้กฎหมายฟอกเงินเข้ามาดำเนินการในฐานะที่เป็นผู้ยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐเพื่อการค้า
โดยคณะที่ลงพื้นที่ในครั้งนี้ จะสรุปสภาพความเสียหายอีกครั้งหนึ่งว่าจะมีความเสียหายเพิ่มเติมอีกหรือไม่ และจะนำเอาผลการตรวจสอบไปพิจารณาเพื่อเสนอเป็นคดีพิเศษต่อไป