ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ในที่สุด ยงยุทธ วิชัยดิษฐ ก็ทนไม่ไหว ต้องลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองทุกตำแหน่ง หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ลาออกจากรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ต่อมา วันที่ 4 ตุลาคม ก็ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย
วิบากกรรมที่ ยงยุทธ ได้รับครั้งนี้ ต้องบอกว่า ต้นเรื่องมาจากที่ดิน"อัลไพน์" ที่ ยายเนื่อม ชำนาญชาติศักดา เป็นเจ้าของเดิม ได้ทำบุญถวายวัด แต่ถูกนักการเมืองร่วมกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ร่วมกันเล่นแร่แปรธาตุ จนที่ธรณีสงฆ์ กลายมาเป็นสนามกอล์ฟอัลไพน์
และยงยุทธ ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ร่วมขบวนการนี้
ยงยุทธ ถูกไล่ออกจากราชการ ตามมติ อ.ก.พ. กระทรวงมหาดไทย ที่มี ชูชาติ หาญสวัสดิ์ รมช.มหาดไทย เป็นประธาน เมื่อ 20 ก.ย.55 ซึ่งคำสั่งดังกล่าว เป็นผลมาจากมติของป.ป.ช. ที่ส่งเรื่องให้กระทรวงมหาดไทย พิจารณาลงโทษทางวินัยย้อนหลัง ไปในช่วงที่นายยงยุทธ รักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทย ในยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ไปลงนามยกเลิกคำสั่งกรมที่ดิน ที่สั่งให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ กลับมาเป็นที่ธรณีสงฆ์
โดยมติ ป.ป.ช.ระบุว่า ยงยุทธ ทำความผิดวินัยร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นเหตุให้ราชการเสียหายอย่างร้ายแรง และกระทำการอันได้ชื่อว่าประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
แต่ในวันที่ พระนาย สุวรรณรัฐ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยที่เพิ่งเกษียณอายุราชการ ออกมาแถลง มติ อ.ก.พ. มหาดไทย ที่ลงโทษ ยงยุทธ ด้วยการไล่ออกนั้น ได้เพิ่มเติมความเห็นไปด้วยว่า คำสั่งไล่ออกดังกล่าว ไม่มีผลต่อตำแหน่งทางการเมืองของ ยงยุทธ ที่ดำรงอยู่ เพราะได้ล้างมลทินให้เรียบร้อยแล้ว โดยอ้างถึง พ.ร.บ.ล้างมลทิน พ.ศ. 2550 และ ความเห็นของเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ว่าความผิดดังกล่าวได้ลบล้างไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ทั้งฝ่ายค้าน สมาชิกวุฒิสภา และนักกฎหมายหลายคน ได้ออกมาแสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า จะมาอ้างพ.ร.บ.ล้างมลทินไม่ได้ เพราะก่อนที่จะล้างมลทินได้ ผู้ที่มีความผิดต้องรับโทษมาก่อน แต่กรณีนี้ ถือว่าก่อนหน้าที่ อ.ก.พ. จะมีคำสั่งไล่ออก ต้องถือว่า ยงยุทธ ยังเป็นผู้บริสุทธิ์ แล้วจะเข้าข่ายล้างมลทิน ตามพ.ร.บ.ล้างมลทิน ปี 50 ได้อย่างไร
จึงเรียกร้องให้ ยงยุทธ ลาออก เพื่อเป็นบรรทัดฐานทางจริยธรรมของนักการเมือง แต่ ยงยุทธ ก็ยังปฏิเสธที่จะลาออก รวมทั้งนักกฎหมายในซีกรัฐบาล โดยเฉพาะ พงศ์เทพ เทพกาญจนา ก็ออกมาให้ความเห็นแบบไม่แคร์ต่อสังคมว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นข้อกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องจริยธรรม
ทำให้องค์กรภาคเอกชน รวมทั้งส.ส.ฝ่ายค้าน เข้าชื่อเพื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ว่าจากความผิดดังกล่าว ยงยุทธ ยังมีสถานภาพที่จะดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ รวมทั้งสถานภาพการเป็นส.ส.ด้วย
หากขาดคุณสมบัติ เรื่องราวจะลุกลามถึงขั้นยุบพรรคเพื่อไทยได้
เมื่อสถานการณ์ทำท่าจะบานปลาย แน่นอนว่า คนในรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย ต้องหาทางตัดไฟแต่ต้นลม ยงยุทธจึงจำใจต้องลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองทั้งหมด
ทำให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยต้องเจอปัญหาเป็นลูกโซ่ คือเรื่องผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี รมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และส.ส.บัญชีรายชื่อ แทนตำแหน่งที่ว่า ซึ่งผู้ที่จะมาแทนในตำแหน่งส.ส.คือ นางมาลินี อินฉัตร ซึ่งอยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับ ที่ 71 ส่วนตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี รมว.มหาดไทย และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ต้องรอให้นักโทษจากแดนไกล เป็นคนชี้ตัว
แต่คู่แคนดิเดต ที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรค ชื่อ "สุกำพล สุวรรณทัต" และ "เพียวพันธ์ ดามาพงศ์"