xs
xsm
sm
md
lg

“ชีวะภาพ ชีวะธรรม” กับภารกิจทวงคืนผืนป่าอุทยานแห่งชาติสิรินาถ ภูเก็ต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชีวะภาพ ชีวะธรรม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติสิรินาถ จ.ภูเก็ต
ผืนป่าอุทยานแห่งชาติสิรินาถภูเก็ต ถูกบุกรุกออกเอกสารสิทธิไปแล้วกว่า 3,000 ไร่ ผุดทั้งโรงแรม รีสอร์ตหรู มูลค่าหลายหมื่นล้าน “ดำรงค์ พิเดช” อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ประกาศกร้าวใช้ยุทธการยึดคืนพื้นที่อุทยานฯ ประเดิมตั้ง 10 ทีม ทวงคืนป่าจากนายทุนกว่า 10 แปลง ย้ายด่วน“ชีวะภาพ ชีวะธรรม” หรือ “หัวหน้าต้อย” มาดำรงตำแหน่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติสิรินาถ รับบทบาททำคดีประวัติศาสตร์ ทวงคืนผืนป่าอุทยานแห่งชาติสิรินาถ ที่ได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว วันนี้เรามาคุยกับ “นายชีวะภาพ ชีวะธรรม” หรือ “หัวหน้าต้อย” ถึงการทำงานทวงคืนผืนป่าอุทยานแห่งชาติสิรินาถ จ.ภูเก็ต
จุดที่มีการออกเอกสารสิทธิที่ดินในเขตอุทยานฯแแปลงใหญ่
เพราะอะไรถึงได้รับความไว้วางใจจากอดีตอธิบดีฯ ดำรงค์ พิเดช ให้มารับบทบาททำคดีประวัติศาสตร์ทวงคืนผืนป่าที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ
 
ผมเป็นคนกรุงเทพมหานคร เรียนจบปริญญาตรี ด้านวรรณศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และจบปริญญาโทด้านสิ่งแวดล้อม ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยทำงานอยู่ที่อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ จ.พังงา เข้ามาทำงานในการฟื้นฟู เขาหลักในช่วงหลังเกิดสึนามิ เคยเป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแหลมสน จังหวัดระนอง และเคยทำงานอยู่ในพื้นที่ภาคใต้มา 7 ปี ก่อนที่จะได้รับคำสั่งย้ายด่วนมารับหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติสิรินาถ ทำงานอยู่ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน จ.มุกดาหาร ประมาณ 2 เดือน ไม่เคยคิดว่าจะได้กลับมาอยู่ที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ ซึ่งเป็นพื้นที่เคยคิดว่ามีปล่อยปละละเลยมาเยอะ และไม่คิดว่าตัวเองจะต้องมาแก้ปัญหาที่นี่ ซึ่งเหมือนฝัน เป็นงานที่ใหญ่ที่สุดในที่ชีวิต เป็นคดีประวัติศาสตร์ ที่ได้รับมอบหมายจากอธิบดีฯ และการทำงานครั้งนี้ถือว่าเป็นการทำงานที่ยากมาก
 
ที่ได้รับความไว้วางใจจากท่านอธิบดีดำรงค์ ก็เนื่องจากที่ผ่านมา ทำงานด้านการปราบปรามมาอย่างโชกโชน ซึ่งนอกจากจะถนัดในเรื่องของงานด้านการปราบปรามแล้ว งานการพัฒนาก็ทำมาอย่างต่อเนื่อง และหลังจากท่านดำรงค์ได้ขึ้นเป็นอธิบดีเมื่อเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว ท่านก็ได้ชวนให้มาทำงานด้วยกัน โดยท่านบอกว่าการทำงานจะต้องทำเป็นทีม ดึงคนที่มีความเชี่ยวชาญแต่ละด้านมาร่วมกันทำงาน โดยไปอยู่ในทีมเฉพาะกิจที่ป่าภูเขียว ไล่ล่าขบวนการค้าช้าง และไม้กฤษณาข้ามชาติ ก่อนที่จะย้ายมาอยู่ที่เขตภูสีฐาน และย้ายด่วนมาภูเก็ต เนื่องจากท่านอธิบดีเล็งเห็นว่าการทำงานที่ภูเก็ตจะต้องเอาคนที่กล้า ทุ่มเทมาทำงาน เพื่อให้การทำงานประสบความสำเร็จ ซึ่งตัวเองก็รู้ว่าถ้ามาหัวเดียวกระเทียมลีบการทำงานไม่สำเร็จแน่ถ้าไม่มีการเซตทีมงานเข้ามา

การตรวจสอบการบุกรุกที่ดินและการออกเอกสารสิทธิที่ดินในพื้นที่อุทยานผลเป็นอย่างไร
 
สำหรับการตรวจสอบที่ดินทั้งหมดนั้น ทางอธิบดีได้แต่งตั้งชุดทำงานขึ้นมา 10 ชุด เพื่อตรวจสอบที่ดินโดยเริ่มแรกมีจำนวน 10 แปลง แต่หลังจากนั้นก็ขยายเพิ่มมาเป็น 12 แปลง ซึ่งจากการตรวจสอบทั้งหมดไม่ได้ผิดทั้งหมด เช่น กรณีบริษัท พาวิลเลี่ยน บีช รีสอร์ท จำกัด มีพื้นที่ส่วนหนึ่งอยู่ในเขตอุทยานฯ เมื่อตีความภาพถ่ายแล้วสอดคล้องกับ ส.ค.1 แต่มีพื้นที่ส่วนหนึ่งไม่ได้อยู่ในเขตอุทยานฯ ต้องส่งให้กรมป่าไม้ตรวจสอบต่อไป ส่วนพื้นที่อื่นๆ ที่เหลือ 11 แปลง ทางคณะทำงานฯ ได้สรุปข้อมูลแล้วว่า มีการออก น.ส.3 ก. น.ส.3 และโฉนด โดยคลาดเคลื่อน และในฐานะของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ตาม พ.ร.บ.อุทยานฯ ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้แจ้งความดำเนินคดีไปแล้วตามขั้นตอน
 
นอกจากนี้ ยังทำสำนวนส่งให้แก่ส่วนงานนิติกร กรมอุทยานฯ เพื่อดำเนินการส่งกลับมาฟ้องเพ่งที่ภูเก็ตโดยอัยการจังหวัด ส่งให้กับ ป.ป.ช. เนื่องจากเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่งให้แก่ดีเอสไอ และส่งให้แก่กรมที่ดินเพื่อเสนอเพิกถอน โดยดำเนินการควบคู่กันไปทุกช่องทาง 

การตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิที่ดินในเขตอุทยาน 12 แปลง มีของใครบ้าง
 
ผลจากการตรวจสอบที่ดินรายใหญ่ซึ่งมีการก่อสร้างโรงแรมที่พัก และรีสอร์ตหรู เบื้องต้น จำนวน 12 แปลง ตามคำสั่งของนายดำรงค์ พิเดช อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯฯ ประกอบด้วย โรงแรมภูเก็ตอาเคเดียในทอนบีช รีสอร์ท, โรงแรมภูเก็ตเพนนิซูล่า สปา แอนด์ รีสอร์ท, บริษัท ลาคอรีน จำกัด, บริษัท แลนด์สเตรท จำกัด, บริษัท ทรีดอลฟินซ์ จำกัด, บริษัท สุรีย์สัมฤทธิ์ จำกัด และมาลัยวนา, ที่ดินครอบครองโดยบุคคลธรรมดา 1 ราย (นางสุชาดา สังข์สุวรรณ), บริษัท พาวิลเลี่ยน บีช รีสอร์ท จำกัด, บริษัท อันดามันไวท์บีช จำกัด, บริษัท ลายันภูเก็ต จำกัด และบริษัท เซ็นทรัล แอนด์ ซิตี้ ดีวีลอปเม้นท์ ซึ่งการตรวจสอบการได้มาของเอกสารสิทธิที่ดินเสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้มีการแจ้งความดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ และบุคคลที่เกี่ยวข้องในการออกเอกสารสิทธิ พร้อมทั้งได้มีการเสนอให้เพิกถอนเอกสารสิทธิกรณีที่มีการออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำนวน 11 แปลง และมี 1 แปลงที่ส่งเรื่องให้กรมป่าไม้ดำเนินการ
 
การดำเนินการกับ 11 แปลงที่มีการแจ้งความไว้แล้วหลังจากนี้ทางอุทยานฯ จะต้องดำเนินการต่อไปอย่างไร
 
ทางอุทยานฯ จะดำเนินการส่งเอกสาร 4 สำนวน เข้าไปยังหน่วยงานต่างๆ โดยจะส่งไปที่กรมอุทยานฯ สำนักงานอัยการภูเก็ต สำนักงาน ป.ป.ช. ดีเอสไอ และกรมที่ดิน ที่ส่งไปแล้วมีบางส่วน เช่น เพนนิซูล่าสปาแอนด์รีสอร์ท, บริษัท อันดามันไวท์บีช จำกัด, บุคคลธรรมดา 1 ราย (นางสุชาดา สังข์สุวรรณ), บริษัท สุรีย์สัมฤทธิ์ จำกัด บริษัท ทรีดอลฟินซ์ จำกัด, บริษัท แลนด์สเตรท จำกัด ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการทำสำนวนให้ชัดเจน แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องส่งให้ครบทั้ง 11 แปลง 

หลังส่งสำนวนแล้วจะมีการฟ้องขับไล่ได้เลยหรือไม่
 
หลังจากส่งสำนวนไปที่กรมแล้ว ทางนิติกรก็จะต้องมีการตรวจสอบสำนวน หลังจากนั้นก็จะต้องส่งสำนวนกลับมาที่อัยการ ถ้าขาดข้อมูลตรงไหนก็จะเรียกเพิ่ม ซึ่งผู้เสียหายตอนนี้คือ อุทยานฯ โดยการดำเนินการนั้นจะใช้ 3 พ.ร.บ. คือ พ.ร.บ.อุทยาน พ.ร.บ.ป่าสงวน 2507 และพ.ร.บ.ป่าไม้ 2484

การออกเอกสารสิทธิที่ดินทั้ง 11 แปลงใช้ เอกสารอะไรในการขอออกเป็นเอกสารสิทธิ
 
จากการตรวจสอบพบว่า การขอออกเอกสารสิทธิที่ดินทั้ง 11 แปลงมีการใช้ ส.ค. 1 เกือบทั้งหมด ยกเว้นแปลงของฝรั่ง ที่ใช้ น.ส.3 ก.เดินสำรวจปี 2521 ออกปี 2527 ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อตกลงที่ทำกันไว้ระหว่างกรมป่าไม้และกรมที่ดิน ลักษณะการออกกรมที่ดินสรุปมาแล้ว 2 ครั้งว่า เป็นการออกโดยมิชอบ ส่วนอีกแปลงคือ แปลง น.ส.3 ก.984 ของโรงแรมภูเก็ตอาเคเดีย ซึ่งเป็นการเดินสำรวจเช่นเดียวกัน ซึ่งจากการตรวจสอบบันทึกข้อมูลพบว่า ที่ดินแปลงนี้จะต้องอยู่ในหมู่บ้านในทอน แต่ปัจจุบัน น.ส.3 ก.ดังกล่าวมาใช้ประโยชน์มาออกอยู่บนภูเขา เรื่องนี้จะต้องมีเจ้าภาพหลักตรวจสอบว่ามีความผิดพลาดส่วนไหน ส่วนแปลงที่มี ส.ค.1 นั้นก็มีบางแปลงที่ออกโดยใช้ ส.ค.1 แปลงของนางเชย และแปลงที่ใช้ ส.ค.1 ก็มีความผิดพลาดตั้งแต่เรื่องพื้นที่ใกล้เคียง ผิดพลาดเรื่องของพื้นที่ที่ขยายออกไป พื้นที่ ส.ค.1 นำไปออกเอกสารสิทธิไม่ตรงพื้นที่ และผิดพลาดในเรื่องของไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง จากข้อมูลต่างต่างๆ ที่ได้มา เมื่อนำมาประมวลแล้วพบว่ามีความผิดพลาดในหลายประเด็น รวมทั้งจากการตรวจสอบภาพถ่ายทางอากาศซึ่งชี้ชัดว่ามีการทำประโยชน์หรือไม่จึงนำไปสู่การแจ้งความ

ทราบว่ามีการตรวจสอบเพิ่มเติมอีก 3 แปลง ตอนนี้ดำเนินการอยู่ในขั้นตอนใด
 
ส่วนที่เหลือซึ่งมีการตรวจสอบอีก 3 แปลง ประกอบด้วย แปลงมาลัยวนา แปลงอีสทาน่า และบ้านฝรั่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอผลการแปลภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งเป็นหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่สำคัญมากในการทำสำนวนฟ้องร้องดังกล่าว เพราะจะสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ถึงปี 2494 และ 2497 เนื่องจากในการแจ้งครอบครอง ส.ค.1 จะมีการระบุชัดเจนว่า ครอบครองมาตั้งแต่เมื่อใด ปีไหน และทำประโยชน์อะไร และเต็มพื้นที่หรือไม่ ปลูกอะไรในพื้นที่ ปลูกสับปะรด ปลูกต้นมะพร้าว ซึ่งภาพถ่ายทางอากาศจะเห็นได้ชัด ซึ่งภาพถ่ายทางอากาศจะเห็นได้ชัดและเป็นหลักฐานสำคัญที่จะนำมาใช้เป็นตัวพิจารณา

ความคืบหน้าการตั้งทีมเข้ามาทำงานเพิ่มอีก 366 แปลงเพื่อตรวจสอบที่ดินอีกกว่า 3,000 ไร่ ในเขตอุทยานฯสิรินาถ
 
การส่งเจ้าหน้าที่ลงมาตรวจสอบพื้นที่เป้าหมายเพิ่มเติมจำนวน 366 ทีม ซึ่งปัจจุบันจากฐานข้อมูลที่ได้มาจากความร่วมมือระหว่างดีเอสไอ กับอาจารย์จากคณะวนศาสตร์ฯ ซึ่งร่วมกับทางดีเอสไอทำงาน เอามาปูลงในเขตอุทยานมีแปลงที่ดินที่ออกเอกสารแล้วประมาณ 370 กว่าแปลง เนื้อที่ประมาณ 3,000 ไร่ แต่ขณะนี้เรามีทีมงาน 366 ทีมในการทำงาน 366 แปลง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับข้อมูลให้นิ่งว่าแปลงที่ดินอยู่จุดไหนอย่างไร และทำคู่ขนานไปกับการให้ความรู้ และฝึกอบรมให้แก่ทีมที่จะลงมาทำงานในพื้นที่ เพราะการดำเนินการดังกล่าวเป็นเรื่องที่ละเอียด ซึ่งการเข้ามาทำงานนั้นไม่ได้เข้ามาพร้อมกันทั้งหมด แต่จะทยอยเข้ามาปฏิบัติงานห้วงเวลาละ 60-70 ทีม ซึ่งในส่วนของอุทยานฯ เองก็อยู่ระหว่างการเตรียมงานให้เป็นระบบ ตั้งแต่ขั้นตอนการขอข้อมูล และการเข้าถึงพื้นที่ซึ่งจะต้องเตรียมข้อมูลให้พร้อม เพื่อให้การทำงานในการเก็บข้อมูลให้เสร็จภายใน 1 เดือน หลังจากนั้น ต้องใช้เวลาในการวิเคราะห์ข้อมูลอีก 

มีการกำหนดกรอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ทั้ง 366 ทีมในการตรวจสอบที่ดินทั้ง 366 แปลงหรือไม่
 
กรอบเวลาการทำงานของ 366 ทีม เบื้องต้น ในการเตรียมความพร้อมทีม อาจจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน หรือเสร็จประมาณกลางเดือนตุลาคมนี้ ก็จะสามารถลงพื้นที่ได้ประมาณปลายเดือนตุลาคม การเก็บข้อมูลน่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ซึ่งการทำงานก็จะเก็บข้อมูลไปด้วย ขณะเดียวกัน ก็ทำการวิเคราะห์ข้อมูล และการแปลภาพถ่ายทางอากาศควบคู่กันไป ซึ่งจะเป็นทีมที่ค่อนข้างใหญ่มาก โดยที่ผ่านมาการตรวจสอบชุดแรกผู้เชี่ยวชาญแปลภาพถ่ายมีน้อยมาก จึงจะต้องมีการทีมงานแปลภาพถ่ายทางอากาศเพื่อให้ทำงานได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งนอกจากจะเพิ่มในส่วนของทีมแปลภาพถ่ายทางอากาศแล้ว ยังจะต้องและเพิ่มในส่วนของนิติกรที่เข้ามาทำงานด้วย ซึ่งขณะนี้คิดว่าอยู่ระหว่างการรวบรวม และเสนอเรื่องไปยังผู้บังคับบัญชา หากสองส่วนสมดุลกัน คาดว่าจะสรุปผลได้ก่อนสิ้นปี แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวันเริ่มงานในพื้นที่ด้วย ซึ่งในส่วนของงานที่เหลือนั้นส่วนใหญ่เป็นแปลงเล็กๆ ที่มีเนื้อที่ประมาณ 10-20 ไร่ ส่วนที่ดินแปลงใหญ่นั้นมีจำนวนไม่มาก ส่วนที่ดินแปลงใหญ่ๆ ที่มีที่ดินประมาณ 70-80 ไร่ มีประมาณ 10 กว่าแปลง โดย 370 แปลงนั้นมีการออกเอกสารสิทธิหมดแล้ว มีทั้ง น.ส.3 และโฉนด

สิ้นปีนี้จะดำเนินการเรื่องของการเก็บข้อมูลเสร็จหรือไม่
 
สำหรับการดำเนินงานนั้นถ้าหากทุกอย่างพร้อม และเข้าพื้นที่ได้ต้นเดือน พ.ย. และทีมแปลภาพถ่ายพร้อม ทีมสนับสนุนนิติกรพร้อม ก็เชื่อว่าก่อนปีใหม่ก็น่าจะดำเนินการได้เสร็จ และสามารถสรุปผลการดำเนินงานได้ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ขึ้นอยู่กับการลงพื้นที่ถ้าลงพื้นที่ได้เร็วก็สามารถทำงานได้เร็ว

สรุปผลว่ามีการออกเอกสารสิทธิในที่อุทยานฯ ใช่หรือไม่
 
จากฐานข้อมูลพื้นที่ 370 กว่าแปลงนั้น เห็นชัดว่าอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถอยู่แล้วเห็นชัดเจน เพียงแต่จะต้องสืบค้น และวิเคราะห์ว่าเอกสารสิทธิที่ได้มานั้นออกโดยคลาดเคลื่อน หรือออกโดยมิชอบหรือไม่ 

การทำงานในครั้งนี้มั่นใจว่าจะยึดที่อุทยานฯ คืนมาได้ทั้งหมดหรือไม่
 
การทำงานในครั้งนี้ต้องใช้เวลา อาจจะเป็น 10 ปี หรือ 20 ปี ซึ่งจะต้องรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ในส่วนของผู้ครอบครองที่ดินเองเชื่อว่าก็จะต้องมีการต่อสู้อย่างเต็มที่ จริงๆ แล้วในส่วนของผู้ครอบครองในปัจจุบันก็ไม่ได้มีความผิดอะไร การแจ้งความบุคคลจะเป็นสมัยที่เริ่มออก เจ้าของที่ดิน ผู้มาให้ถ้อยคำ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการออกเอกสารสิทธิตั้งแต่เริ่ม ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่ดิน และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ซึ่งคนที่ครอบครองปัจจุบันไม่ได้แจ้งความเลย โดยการแจ้งความนั้นแจ้งความว่า มีการทำเอกสารเท็จ ให้ถ้อยคำเท็จ โดยเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องที่มีการแจ้งความไปแล้วมีเยอะ เป้าหมายแรกก็มีเป็น 10 คน แล้ว บางคนก็เสียชีวิตไปแล้ว

เจ้าของที่ดินมีการมาโต้แย้งบ้างแล้วหรือยัง
 
เข้าใจในส่วนเจ้าของที่ดิน เจ้าของผู้ประกอบการ ทุกคนเข้าใจว่าเอกสารที่ออกมาเป็นเอกสารที่ออกจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่มีใครคิดว่าเอกสารทางราชการจะมีความผิดพลาดมากขนาดนี้ ซึ่งทราบว่าก็มีการเตรียมเอกสารเพื่อที่จะยื่นต่อสู้กันในชั้นศาล และส่งไปที่พนักงานสอบสวนเพื่อโต้แย้ง และเท่าที่ได้คุยก็ได้ให้คำแนะนำว่าจะต้องทำอย่างไร 

การทำงานเก็บข้อมูลมีความยุ่งยากมากน้อยแค่ไหน
 
การทำงานนั้นมีความละเอียดอ่อนมาก เจ้าหน้าที่ภาคพื้นที่จะต้องเก็บทุกอย่างแม้แต่การตรวจต้นไม้ก็จะมีการเก็บตัวอย่างเพื่อส่งไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจภาพถ่ายทางอากาศ ตรวจเปรียบเทียบว่าต้นไม้ที่อยู่เป็นต้นอะไร เพื่อเทียบเคียงกันในเชิงวิชาการ ซึ่งเป็นนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ในการทำงาน และการทำงานนั้นทั้ง 11 แปลงนั้นดูจากภาพถ่ายทางอากาศมีความชัดเจนเกิน 80% ว่าไม่เคยทำประโยชน์ในพื้นที่มาก่อนที่จะแจ้งการครอบครองซึ่งไม่สัมพันธ์กับ ส.ค.1 ที่นำมาแจ้ง และบางแปลงมีที่ดิน 20 ไร่ แต่เวลามาออก 2-3 ครั้งก็ออกบวมไปเป็น 100 ไร่ และไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่มีการตกลงกันไว้ ซึ่งการดำเนินการในตอนนี้เป็นการรวบรวมข้อมูลซึ่งเรื่องนี้เชื่อว่าจะต้องมีการต่อสู้กันยาวนาน และตอนนี้ก็ยังไม่จบขั้นตอนการทำงานทุกคนที่มาทำงานยังจะต้องมีมีชะตากรรมรวมกัน อย่างเช่นรายของตรีสรา เป็นของสำนักเชียงใหม่ ทางเจ้าหน้าที่ของสำนักเชียงใหม่ก็ต้องมาเป็นพยาน ซึ่งประกอบด้วยทีมรังวัด ฝ่ายกฎหมาย เจ้าหน้าที่ ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นที่ สู้กัน 10 ปีก็ตามมาเป็นพยานเมื่อขึ้นศาล 

ภาพถ่ายทางอากาศที่นำมาใช้เป็นภาพถ่ายทางอากาศตั้งแต่ปีไหน
 
ใช้ภาพถ่ายทางอากาศตั้งแต่ปี 2493 ซึ่งเป็นภาพถ่ายทางอากาศที่หาไม่ได้จากกรมแผ่นที่ทหารแล้ว แต่หน่วยงานผู้เชี่ยวชาญไปได้จากหน่วยงานราชการด้วยกัน จึงนำมาใช้ และเป็นแผนที่ที่ยอมรับกันได้

การออกเอกสารสิทธิที่ดินในพื้นที่อีก 370 แปลงที่เหลือนั้นมีขั้นตอนการออกอย่างไร
 
หลังจากตรวจสอบ 11 แปลงแรกเสร็จ ทำให้ทราบว่ามีช่วงหนึ่งที่มีการออกเอกสารสิทธิจำนวนมาก โดยอยู่ในช่วงระหว่างปี 2528-2536 มีการเอา ส.ค.1 มาออกเอกสารสิทธิ น.ส.3 โฉนดในที่อุทยานมากที่สุด ซึ่งการออกในห้วงเวลานั้นจะเกี่ยวข้องกับคนอยู่กลุ่มหนึ่ง แค่ไม่กี่คน และอีกกลุ่มก็จะมีการออกอยู่บ้าง ในช่วงปี 2521-2536 นอกจากนั้น บางส่วนก็เดินสำรวจ เช่น บ้านฝรั่ง การเดินสำรวจไม่จำเป็นต้องมี ส.ค.1 ซึ่งขณะนี้ในส่วนของ 370 แปลงนั้นยังไม่มีสิ่งปลูกสร้าง ยังมีสภาพเป็นป่า
 
สำหรับปัญหา และอุปสรรคในการลงพื้นที่ทำงานตามยุทธการทวง
 
เรื่องแรกเลย เรื่องของข้อมูล สืบค้นได้ยากมาก ตั้งแต่ 20 ปีก่อน ข้อมูลบางตัวก็สูญหายไปแล้ว เช่น สารบบของที่ดิน การขอข้อมูลก็ยาก เพราะเจ้าหน้าที่ที่ดินก็มีงานประจำอยู่ ซึ่งในการดำเนินการในส่วนที่เหลือก็จะต้องมีการปรับปรุงเพื่อให้การทำงานได้ง่ายขึ้น และการขอต่อไปให้ขอผ่านทางคณะกรรมาธิการตรวจสอบที่ดินและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลที่เร็วขึ้น

สุดท้ายแล้วอยากเห็นอะไรเกิดขึ้นหลังจากนี้ในการปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าอุทยานแห่งชาติสิรินาถ
 
สิ่งที่อยากเห็นคือ การทำงานในส่วนของ 366 แปลงที่ส่งทีมเข้ามาตรวจสอบดำเนินการให้เสร็จภายใน 2-3 เดือนนี้ ซึ่งการรวบรวมพยานทำให้จบ รู้ผลว่าออกโดยชอบหรือไม่ชอบ เพื่อนำไปสู่การแจ้งความดำเนินคดี หลังจากนั้น เมื่อเข้าสู่กระบวนการแล้ว การดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ นั้นจะเลื่อนไหลไปเอง และอยากเห็นว่าผืนป่าของอุทยานฯ ได้กลับมาเป็นของชาติต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น