ตรัง - สินค้าของฝากชื่อดังเมืองตรัง เริ่มได้รับผลกระทบบ้างแล้วจากค่าแรง 300 บาท หลังจากวัตถุดิบเริ่มปรับราคาขึ้นแต่ยังพอสู้ไหว ปรับลดปริมาณสินค้าลงเล็กน้อย
วันนี้ (20 ก.พ.) นางเบญจมิตร ยุทธศิลป์ เจ้าของร้านขนมเค้กเบญจมิตร สินค้าของฝากพื้นเมืองอันมีชื่อของจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ผลพวงจากการปรับขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 300 บาท แม้ในส่วนของลูกจ้างภายในร้าน ซึ่งมีอยู่ 7-8 คน จะไม่มีผลกระทบ เนื่องจากได้มีการปรับขึ้นค่าแรงตามความเหมาะสมอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ทางร้านกำลังรู้สึกกังวลก็คือ วัตถุดิบที่นำมาผลิตขนมเค้กนั้น อาจจะมีการปรับราคาสูงขึ้นตามค่าแรงรายวัน โดยล่าสุด ไข่ไก่ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหนึ่งที่สำคัญ ก็ได้ปรับขึ้นแล้วแผงละ 3 บาท แม้ในขณะนี้จะยังไม่มีผลต่อการประกอบธุรกิจ แต่ก็รู้สึกเป็นห่วงหากอาจมีการปรับขึ้นราคามากกว่านี้ เนื่องจากอาหารสัตว์ เป็นสินค้าที่ภาครัฐควบคุมไม่ได้ และหากเป็นนั้นจริง ก็จะส่งผลกระทบมาถึงการผลิตขนมเค้ก และอาจทำให้วัตถุดิบอย่างอื่นขอปรับขึ้นราคาตามด้วย
นางดรุณี ดำคง เจ้าของร้านเต้าส้อเจ๊ดา อีกหนึ่งสินค้าของฝากพื้นเมืองอันมีชื่อของจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า สำหรับลูกจ้างของทางร้านที่ผ่านมาได้มีการปรับขึ้นค่าแรงทุกปี ในอัตราตั้งแต่คนละ 20-50 บาทต่อวัน ตามคุณภาพของการทำงาน โดยเฉพาะปีล่าสุดนี้ได้ปรับสูงขึ้นมากเป็นพิเศษ เพื่อให้ลูกจ้างมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพในยุคปัจจุบัน ทำให้ลูกจ้างส่วนใหญ่ที่มีอยู่ประมาณ 10 คน จะได้รับค่าแรงวันละไม่ต่ำกว่า 300 บาท เมื่อรวมเงินโอทีชั่วโมงละ 35 บาท หรือเงินอื่นๆ เข้าไปด้วย และหากคนใดที่มีความสามารถ หรือความขยันก็จะยิ่งมีโอกาสได้รับค่าแรงรายวันสูงมากกว่าคนอื่น ฉะนั้น การประกาศปรับขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 300 บาท จึงไม่มีผลกระทบมากนัก และทางผู้ประกอบการยังพอที่จะรับมือได้
แต่ปัญหาหลักของการผลิตขนมพื้นเมืองในขณะนี้ กลับไปอยู่ที่วัตถุดิบซึ่งมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นหลายๆ ชนิด เช่น ไข่ไก่ ซึ่งปรับขึ้นมาโดยตลอดในช่วงปี 2555 นับตั้งแต่ฟองละ 2.60 บาท เป็น 2.90 บาท และล่าสุดก็คือ ฟองละ 3 บาท ขณะที่แก๊สหุงต้มก็เพิ่งจะปรับขึ้น จากถังละ 305 บาท เป็น 310 บาท และมีข่าวว่าจะมีการปรับขึ้นอีกรอบในช่วง 1-2 เดือนนี้ รวมไปถึงน้ำตาล และวัตถุดิบอื่นๆ ที่กำลังจะปรับตัวสูงขึ้นตามค่าแรง ทำให้ผู้ประกอบการต้องรีบเร่งหาทางรับมืออย่างเร่งด่วน ซึ่งเบื้องต้น ยังคงไม่ตัดสินใจปรับขึ้นราคาสินค้า ทั้งเต้าส้อ ขนมเค้ก และขนมจีบ แต่จะใช้วิธีการปรับลดปริมาณสินค้าลงเล็กน้อย เช่น เต้าส้อ จากที่ขายกล่องละ 10 ลูก ก็จะเหลือ 9 ลูก หรือขนมเค้ก ก็จะมีขนาดเล็กลงกว่าเดิมนิดหนึ่ง เพื่อให้กิจการยังอยู่รอดต่อไปได้