xs
xsm
sm
md
lg

มหาวิทยาลัยทักษิณ : ความ (ผิด) หวังแห่งยุคอำนาจรุ่งเรือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
 โดย...ผศ.ดำรงศักดิ์ แก้วเพ็ง กรรมการสภาคณาจารย์ และพนักงาน
 
มหาวิทยาลัยทักษิณในช่วงระยะนี้ ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านเหตุการณ์ที่สำคัญๆ หลายอย่าง และเป็นการเปลี่ยนผ่านที่กำหนดอนาคต และชะตากรรมของการพัฒนามหาวิทยาลัยอีกด้วย โดยฉเพาะเรื่องการได้มาซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งที่มีบทบาทสำคัญต่อการนำพามหาวิทยาลัยให้เจริญก้าวหน้า อย่างเช่น การสรรหานายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ การสรรหาอธิการบดี คณบดี และผู้อำนวยการสถาบัน/สำนัก รวมทั้งการเลือกตั้งตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยประเภทผู้แทนคณาจารย์ และประเภทผู้แทนมิใช่คณาจารย์
 
ทุกครั้งที่มีการสรรหา หรือเลือกตั้งตำแหน่งที่สำคัญๆ ในมหาวิทยาลัยทักษิณ ประชาคมและสังคมต่างก็ได้ตั้ง “ความหวัง” กับบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งเหล่านั้นว่า ต้องเป็นผู้ที่มีความสง่างามอย่างสมศักดิ์ศรีในตำแหน่ง เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถอย่างเพียงพอในการปฏิบัติงานในองค์กรที่ได้ชื่อว่า “มหาวิทยาลัย” และเป็นผู้ดำรงไว้ซึ่งความถูกต้องและเป็นธรรม เพื่อจะได้พัฒนามหาวิทยาลัยให้เจริญรุ่งเรืองเหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต
 
แต่การได้มาซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญของมหาวิทยาลัยทักษิณที่เกิดขึ้น กลับสร้าง “ความผิดหวัง” และความไม่เชื่อมั่นให้แก่ประชาคม และสังคมเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นกรณีการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีการร้องเรียนถึงกระบวนการได้มาที่ไม่ชอบด้วยข้อบังคับ หลักเกณฑ์ และวิธีการที่ถูกต้อง และไม่เป็นไปตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ กระทั่งคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ให้ดำเนินการทบทวน และตรวจสอบข้อร้องเรียน ณ วันนี้ร่วม ๙ เดือนแล้วที่ยังไม่มีการเสนอทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ และยังอยู่ในช่วงของการดำเนินการตรวจสอบข้อร้องเรียนให้ได้ข้อยุติจาก สกอ. ซึ่งเป็นความไม่สง่างามอย่างสมศักดิ์ศรีในการปฏิบัติหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยรักษาการอยู่ในขณะนี้
 
หรือกรณีมีข่าวอื้อฉาวในมหาวิทยาลัย และสื่อมวลชนเกี่ยวกับ “การสรรหาผู้อำนวยการทักษิณคดีศึกษา” ที่ผู้เข้ารับการสรรหามีความสัมพันธ์แนบแน่นในลักษณะส่วนตัว หรือค้ำชูในระบบอุปถัมภ์ของประธานกรรมการสรรหา และกรรมการสรรหาบางคน จนส่งผลให้ได้รับการสรรหาเป็นผู้สมควรดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา ทั้งที่บุคคลผู้นั้นไม่มีความเหมาะสม และมีพฤติกรรมไม่สง่างามอีกด้วย
 
แม้แต่การการเลือกตั้งตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัย ประเภทผู้แทนคณาจารย์ และประเภทผู้แทนมิใช่คณาจารย์ เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๖ ที่มีการเปิดโอกาสให้ประชาคมมหาวิทยาลัยทักษิณเลือกผู้แทนของตนได้โดยตรง เพื่อไปทำบทบาทหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย และทิศทางการพัฒนามหาวิทยาลัย ซึ่งหากพิจารณาจากรูปลักษณ์และหลักการได้มาซึ่งผู้แทนนั้น ดูเหมือนว่าทุกอย่างดูดี และเคารพในกติกาตามระบบประชาธิปไตย ที่ตัดสินด้วยคะแนนเสียงข้างมากของผู้ที่มาใช้สิทธิเลือกตั้ง
 
แต่หากพิจารณาถึงเบื้องหลังของการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากหลังผลการเลือกตั้งออกมา ไม่ว่าเป็นลักษณะของการทำลายความน่าเชื่อถือของผู้สมัครที่ได้ดำเนินการมาก่อนหน้า ขบวนการทางอำนาจที่เข้ามาปฏิบัติการ รวมถึง “ระบบนิยม” ทั้งหลายทีมีการยึดเกาะกันอย่างเหนียวแน่น และฝังลึกในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ อย่างเช่น ระบบอุปถัมภ์นิยม ระบบผลประโยชน์นิยม หรือระบบวิทยาเขต/คณะ/สถาบันนิยม เป็นต้น
 
อย่างไรก็ดี ต้องขอชื่นชม และเป็นกำลังใจให้แก่ ผศ.ดร.อุษา อ้นทอง (ผู้แทนคณาจารย์) และนายทรงธรรม ธีระกุล (ผู้แทนมิใช่คณาจารย์) ที่ขันอาสาเข้ามาเป็นผู้แทนของประชาคมมหาวิทยาลัยทักษิณ ในฐานะกรรมการสภามหาวิทยาลัยประเภทผู้แทน ซึ่งถือได้ว่าเป็น “คนใน” ของกรรมสภามหาวิทยาลัยชุดนี้ ที่มาจากการเลือกตั้งและมีความใกล้ชิดกับบุคลากรมากที่สุด
 
ดังนั้น “ภาพแห่งความหวัง” จึงปรากฎชัดจากประชาคมและสังคมว่า เขาเหล่านั้นต้องสามารถแสดงบทบาทของความเป็นผู้แทนในสภามหาวิทยาลัยได้อย่างเหมาะสม โดยยึดผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัยเป็นหลัก สามารถมีช่องทางของการสื่อสารกับประชาคมได้อย่างตรงไปตรงมา และรับฟังความคิดเห็น และความต้องการอย่างรอบด้าน
 
มหาวิทยาลัยทักษิณในท่ามกลางอำนาจที่เจริญรุ่งเรือง หากผู้มีอำนาจใช้อำนาจอย่างไร้คุณธรรม และความถูกต้องตามผลปรากฎ ย่อมก่อให้เกิด “ความผิดหวัง” ของประชาคมและสังคม และส่งผลต่อ “วิกฤตศัทธา” ต่อมหาวิทยาลัยแห่งนี้ในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาที่สำคัญของสังคม ที่สำคัญ หากไม่มีการสะสาง หรือดำเนินแก้ไขอย่างเร่งด่วน แล้วยังปล่อยปละละเลยให้ภาพแห่งความเลวร้ายปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ วันหนึ่งสิ่งเหล่านี้จะยากที่เยียวยา และแก้ไขได้
 
เพื่อมิให้เกิดความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่าในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ผู้ที่มีอำนาจทั้งหลายต้องปล่อยวาง และไม่ “ลุแก่อำนาจ” ที่จะใช้อำนาจนั้นเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนและกลุ่มตน ควรคำนึงถึงส่งผลเสียหายที่เกิดขึ้น และที่จะเกิดขึ้นต่อมหาวิทยาลัย ต้องปฏิบัติตนในหน้าที่อย่างมีคุณธรรม ถูกต้องและโปร่งใส และยอมรับฟังความคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะของประชาคมส่วนใหญ่ด้วย
 
บุคลากรทุกส่วนทุกฝ่ายแห่งมหาวิทยาลัยทักษิณต้องมี “ความตื่นตัว” เป็นอย่างมากในท่ามกลางอำนาจรุ่งเรืองเช่นนี้ โดยเฉพาะความหลุดพ้นจากความโง่เขลา (อวิชชา) ที่ถูกความครอบงำจากผู้มีอำนาจที่ใช้อำนาจอย่างไม่เหมาะสม และไร้คุณธรรม แล้วใช้สติปัญญาเพื่อให้เกิดความตื่นตัว โดยเริ่มจาก
 
๑. “ตื่นรู้” ต้องรู้ถึงความเป็นมา ความเป็นอยู่ และความเป็นไป เกี่ยวกับปรากฏการณ์ หรือสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยว่าอะไรผิด-ถูก ชั่ว-ดี อะไรเหมาะสม/ควร-ไม่เหมาะสม/ไม่ควร
 
๒. “ตื่นคิด” แล้วร่วมกันระดมความคิดเห็นเพื่อแสวงหาแนวทางในการป้องกัน และแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น
 
๓. “ตื่นทำ” จากนั้นต้องแสดงพลังที่จะทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ส่วนรวมของมหาวิทยาลัย มากกว่าผลประโยชน์ส่วนตน หรือกลุ่มตน
 
หากประชาคมมหาวิทยาลัยทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นผู้มีอำนาจ ทั้งที่พยายามอยู่ในอำนาจ หรือกำลังจะแสวงหาอำนาจ มีพฤติกรรมการบริหาร หรือการปฏิบัติงานเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และบุคลากรทุกส่วนทุกฝ่ายมีความตื่นตัว คอยติดตามตรวจสอบ และให้คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนามหาวิทยาลัย โดยการยอมรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกันอย่างตรงไปตรงมา ด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ และเป็นธรรม สิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นพลังมหาศาลที่จะขับเคลื่อนให้มหาวิทยาลัยเจริญก้าวหน้าตามความหวังที่ประชาคม และสังคมต้องการได้.
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น