ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เรื่องวุ่นๆ ใน “สถาบันทักษิณฯ” จบยาก!! เผยมีการร่อน จม.เปิดผนึกฉบับ 2 จากผู้ใช้ชื่อว่าเป็นบุคลากรสถาบันฯ และ ม.ทักษิณ รวมถึงผู้นำชุมชนชุมชน ต.เกาะยอ แฉความไม่โปร่งใสในกระบวนการสรรหาให้ผู้หญิงได้นั่งเป็นผู้บริหารคนใหม่อย่างไม่เหมาะสม พร้อมยื่น 3 ข้อให้ดำเนินการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (23 ม.ค.) ได้รับจดหมายเปิดผนึกเกี่ยวกับการคัดค้านกระบวนการสรรหาผู้สมควรดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา เป็นฉบับที่ 2 จากผู้ใช้ชื่อว่า “บุคลากรสถาบันทักษิณคดีศึกษา บุคลากรมหาวิทยาลัยทักษิณ ผู้นำชุมชนชุมชนตำบลเกาะยอ” เรื่อง ขอให้ทบทวนมติของคณะกรรมการสรรหาผู้สมควรดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา เรียน นายกสภามหาวิทยาลัยทักษิณ ประธานสภาคณาจารย์ และพนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้บริหารมหาวิทยาลัยทักษิณ ลงวันที่ 22 ม.ค.2556 โดยมีเนื้อหาดังนี้
ตามประกาศคณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ ตามความทราบแล้วนั้น คณะกรรมการสรรหาฯ ได้มีการจัดประชุมบุคลากรสถาบันฯ เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นต่อคุณสมบัติของผู้สมควรมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา และต่อมา หัวหน้าสำนักงานสถาบันทักษิณคดีศึกษา ได้จัดให้บุคลากรสถาบันทักษิณคดีศึกษาเสนอรายชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่ง ๓ ชื่อตามลำดับคือ ๑) นายพิทยา บุษรารัตน์ ๒) น.ส.สาวิตรี สัตยายุทย์ ๓) นายจรูญ หยูทอง ในขณะเดียวกัน คณะกรรมการกำหนดให้ผู้สมัครได้เสนอวิสัยทัศน์ และยุทธศาสตร์ในการพัฒนาสถาบันทักษิณคดีศึกษา ปี (พ.ศ.๒๕๕๖-พ.ศ.๒๕๖๐) ที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวของมหาวิทยาลัย (พ.ศ.๒๕๕๓-พ.ศ.๒๕๖๗) รวมทั้งผลงานวิชาการด้านวิจัย ตำรา บทความอื่นๆ ปรากฏว่า มีผู้สมัครทั้งภายใน และภายนอกสถาบันฯ คือ
๑.นายพิทยา บุษรารัตน์ (อดีตผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา)
๒.น.ส.สาวิตรี สัตยายุทย์
๓.นายจรูญ หยูทอง (อดีตรองผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา)
๔.รองศาสตราจารย์นพพร ด่านสกุล
๕.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิพนธ์ ทิพย์ศรีนิมิตร
จากนั้น ในวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๖ คณะกรรมการสรรหาฯ ได้กำหนดให้ผู้สมัครทั้ง ๕ ท่าน ได้นำเสนอวิสัยทัศน์และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาสถาบันทักษิณคดีศึกษา ในขณะเดียวกัน มูลนิธิทักษิณคดีศึกษา ได้จัดการสัมมนาทางวิชาการในโอกาสที่มูลนิธิครบรอบ ๓๐ ปี ในฐานะที่เป็นมูลนิธิที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนกิจการทั้งปวงของสถาบันทักษิณคดีศึกษา จัดสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “การพัฒนาสถาบันทักษิณคดีศึกษา” ในวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๖ โดยนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และมีความเกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ทั้งด้านวิชาการ ด้านการจัดการเรียนการสอน ทั้งในระดับปริญญาเอก และปริญญาโทของสถาบันในอดีตที่ผ่านมา โดยมี นายสมชาย เสียงหลาย อดีตปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม และศาสตราจารย์ ดร.ครองชัย หัตถา ผู้ทรงคุณวุฒิทางวัฒนธรรม ทั้งภายในและภายนอก รวมทั้งผู้บริหาร อาจารย์ในมหาวิทยาลัยทักษิณ
และต่อมา ในเช้าวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๖ ประธานมูลนิธิทักษิณคดีศึกษา (นายสิทธิศักดิ์ ตันมงคล) ได้เข้าพบคณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา เพื่อยื่นบันทึกข้อสรุปประเด็นกรอบคิดหลักในการพัฒนาสถาบันทักษิณคดีศึกษา และคุณสมบัติผู้ที่จะมาเป็นผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา พร้อมด้วยเข้าพบอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ (รองศาสตราจารย์ ดร.สมเกียรติ สายธนู) เพื่อให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาสรรหาผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา ในฐานะที่ท่านเป็นคณะกรรมการสรรหาฯ
โดยมีข้อสรุปว่าผู้ที่สมควรจะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา จะต้องเป็นบุคคลที่มีลักษณะความรู้ความเข้าใจด้านวัฒนธรรมเป็นอย่างดี และเป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการ และรู้เรื่องบทบาทหน้าที่ของสถาบันทักษิณคดีศึกษาเป็นประการสำคัญ
แต่ต่อมา พวกเราชาวสถาบันทักษิณคดีศึกษา ทราบว่า มติของคณะกรรมการสรรหาฯ ได้เสนอชื่อ น.ส.สาวิตรี สัตยายุทย์ เป็นผู้สมควรดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา ทำให้พวกเรารู้สึกผิดหวัง หดหู่ และเศร้าใจเป็นอย่างยิ่ง ต่อผู้ที่จะมาทำหน้าที่ดำรงตำแหน่งผู้นำองค์กรทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่เคยมีบทบาททางวัฒนธรรม หรือเป็นที่รู้จักกันในแวดวงด้านวัฒนธรรม ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ บุคคลดังกล่าวนั้นไม่เคยมีผลงานวิจัยทางวัฒนธรรม หรือวัฒนธรรมพื้นบ้านภาคใต้แม้แต่ชิ้นเดียว ไม่ได้มีบทบาทด้านการเรียนการสอนทั้งในระดับปริญญาโท ปริญญาตรีของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะวิชาไทยคดีศึกษา วิชาทักษิณศึกษา ซึ่งสถาบันฯ เป็นผู้ดำเนินการ
ประการสำคัญคือ น.ส.สาวิตรี สัตยายุทย์ เป็นบุคคลที่มีความประพฤติ และคุณสมบัติส่วนตัวเสื่อมเสียทางจริยธรรมทางจารีต ไม่มีความเหมาะสมที่จะเป็นผู้นำ และแบบอย่างที่ดีของบุคลากรสถาบันฯ ตลอดระยะเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่ในสถาบันทักษิณคดีศึกษา บุคคลคนนี้ไม่ได้แสดงออกถึงความกระตือรือร้นที่จะช่วยเหลืองาน หรือกิจกรรมทางวัฒนธรรมของสถาบันฯ แต่อย่างใด ยกเว้นแต่การแสดงตนในลักษณะการจับผิด หรือตั้งข้อสังเกตเพื่อให้การดำเนินงานเกิดอุปสรรคเท่านั้น
แต่ในขณะเดียวกัน บุคคลดังกล่าวนี้จะมีความโดดเด่นก็เพียงให้การดูแล หรือรับรองผู้ใหญ่ในมหาวิทยาลัยทักษิณเท่านั้น โดยเฉพาะประธานกรรมการสรรหาฯ (ศาสตราจารย์วิโชค มุกดามณี) ที่มีความสัมพันธ์แนบแน่นในลักษณะส่วนตัว หรือค้ำชูในระบบอุปถัมภ์ และได้ส่งผลให้การพิจาณาให้ น.ส.สาวิตรี สัตยายุทย์ เป็นที่ได้สมควรดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา
มติดังกล่าวนั้น ถือว่าเป็นการสนับสนุนบุคคลให้ขึ้นมามีอำนาจ โดยที่ไม่ได้คำนึงต่อความเสียหายต่อสถาบันทักษิณคดีศึกษา ขาดความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม ประเทศชาติอย่างร้ายแรง
ซึ่งหน่วยงานแห่งนี้ในอดีตท่าน ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ อดีตผู้สถาปนา และผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา ได้กรำงานหนักเพื่อ “ปรนนิบัติราชการ” มาตลอดชีวิตราชการ สร้างสรรค์สถาบันแห่งนี้มาด้วยความยากลำบาก แต่ท่านกลับสนองตอบแทนให้บุคคลที่ท่านมีความเสน่ห์หา มีความสนิทสนมใกล้ชิดให้ได้เข้าสู่อำนาจ โดยที่ไม่ได้เกิดจากการพิจารณาถึงความเหมาะสม หรือความโดดเด่นในด้านคุณสมบัติ และด้านคุณค่าทางวิชาการใดๆ เลย ซึ่งประชาคมในมหาวิทยาลัยทักษิณต่างก็ทราบดี และต่างคาดการณ์อยู่แล้วว่า การสรรหาผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา ในครั้งนี้จะต้องออกมาอย่างไม่เป็นธรรม
ด้วยเหตุผลดังกล่าวนั้น ถือว่าเป็นการได้มาซึ่งผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา ที่เป็นไปด้วยความไม่ชอบธรรม ไม่มีความโปร่งใส และมีความบกพร่องในด้านจริยธรรม ความประพฤติ และคุณสมบัติส่วนตัวเสื่อมเสียทางจารีต ขาดความเหมาะสมที่จะเป็นผู้นำ และแบบอย่างที่ดีของบุคลากรสถาบันฯ และแวดวงทางวัฒนธรรม และที่สำคัญ น.ส.สาวิตรี สัตยายุทย์ ซึ่งเป็นบุคคลที่ขาดศักยภาพ ขาดความเหมาะสมในการเป็นผู้นำองค์กรที่ดี ซึ่งจะทำให้สถาบันทักษิณคดีศึกษาเสื่อมเสียเกียรติภูมิอย่างรุนแรง
ประชาคมสถาบันทักษิณคดีศึกษา รวมถึงผู้ที่มีคุณูปการต่อสถาบันทักษิณคดีศึกษา นักวิชาการทางด้านวัฒนธรรม ตลอดจนถึงผู้นำชุมชนในพื้นที่ตำบลเกาะยอ ขอให้สภามหาวิทยาลัยทักษิณ สภาคณาจารย์ และพนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ ได้ดำเนินการดังต่อไปนี้
๑.ทบทวนมติการสรรหาผู้อำนวยสถาบันทักษิณคดีศึกษา
๒.ให้ชะลอคำสั่งแต่งตั้งผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา
๓.ให้มีการชี้แจงเหตุผลในประเด็นการตัดสินใจเลือกผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา