โดย...ผศ.ดำรงศักดิ์ แก้วเพ็ง กรรมการสภาคณาจารย์และพนักงาน
ความสง่างามอย่างสมศักดิ์ศรีของการเข้าสู่ตำแหน่งผู้นำสูงสุดขององค์กร/สถาบันนั้น ถือได้ว่ามีความสำคัญยิ่งที่จะสร้างความน่าเชื่อถือและความศัทธาของผู้คนในองค์กรและในสังคม โดยเฉพาะองค์กรที่ได้ชื่อว่าเป็น “มหาวิทยาลัย” ที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตบัณฑิต (ผู้รู้) และชี้นำสังคมในทางที่ถูกต้อง แต่หากการก้าวเข้าสู่ตำแหน่งที่ไม่มีความสง่างามอย่างสมศักดิ์ศรีแล้ว ก็ย่อมส่งผลต่อความเสียหายแห่งเกียรติยศและชื่อเสียงขององค์กรนั้นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“มหาวิทยาลัยทักษิณ” เป็นมหาวิทยาลัยที่มีประวัติศาสตร์ในการประสิทธิ์ประสาทวิชา และการบริการวิชาการแก่สังคมมาอย่างยาวนาน มีความเจริญเติบโตและก้าวหน้าของคณะวิชาและสถาบันต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง แต่ในห้วงเวลาหลังจากมหาวิทยาลัยทักษิณได้ปรับเปลี่ยนสถานภาพมาเป็นมาเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ โดยอ้างเหตุผลที่สำคัญประการหนึ่งเพื่อต้องการให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ จึงเป็นผลให้สภามหาวิทยาลัยมีความสำคัญและมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดค่อนข้างมาก
ภายหลังจากสภามหาวิทยาลัยทักษิณหมดวาระลงในวันที่ 23 มิถุนายน 2555 นายกสภามหาวิทยาลัย (ศาสตราจารย์ ดร.จรัญ จันทลักขณา) และกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ยังคงทำหน้าที่รักษาการต่อไปจนกว่าจะมีการโปรดเกล้าฯ ชุดใหม่ แต่การดำเนินการสรรหาตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยทักษิณ ว่าด้วยการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัย และ ว่าด้วยการสรรหากรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ พ.ศ. 2554 ที่เป็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางทั้งภายในและนอกมหาวิทยาลัย เกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยข้อบังคับ หลักเกณฑ์และวิธีการที่ถูกต้อง การไม่ได้ให้ความสำคัญต่อความต้องการและความคิดเห็นจากประชาคม
อีกทั้งผู้สมควรดำรงตำแหน่งนั้นเป็นบุคคลที่ประชาคมไม่ยอมรับ เนื่องจากมีคุณสมบัติไม่สอดคล้องกับความต้องการหลายประการ สิ่งเหล่านี้เป็นผลให้สภาคณาจารย์และพนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ และบุคลากรมหาวิทยาลัยทักษิณ ได้มีหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อยับยั้งการเสนอชื่อเพื่อเสนอขอโปรดเกล้าฯ และดำเนินการตรวจสอบประเด็นเรื่องร้องเรียน ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่มีการโปรดเกล้าฯ และอยู่ในช่วงของการดำเนินการตรวจสอบข้อร้องเรียนให้ได้ข้อยุติจาก สกอ.
การดำเนินงานภายใต้นายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิรักษาการ ได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลาร่วม 9 เดือน ท่ามกลางกระแสการได้มาที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการที่ถูกต้อง และการไม่ให้ความสำคัญต่อความต้องการและความเห็นจากประชาคมดังกล่าวนั้น นอกจากจะเป็นการทำลายหลักการอันเป็นปัจจัยหลักของความสำเร็จก้าวหน้าขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นการไม่เคารพกติกา การไม่ฟังเสียงส่วนใหญ่ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง การจงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ที่พึงปฏิบัติ การใช้ข้อมูลที่บิดเบือนมากล่าวอ้าง อันแสดงชัดเจนถึงการไม่เคารพในเกียรติศักดิ์ศรีและคุณค่าของบุคลากรในมหาวิทยาลัยทักษิณแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะดำรงอยู่ในอำนาจแห่งสภามหาวิทยาลัยอย่างไร้ความสง่างามและสมศักดิ์ศรีอีกด้วย
สภามหาวิทยาลัยที่ไร้ความสง่างามและสมศักดิ์ศรี โดยยังไม่มีการโปรดเกล้าฯ นั้น ได้ก้าวเข้ามาสู่การดำเนินการในเรื่องที่สำคัญๆ ต่อมหาวิทยาลัยหลายเรื่อง โดยเฉพาะการสรรหาผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงาน อาทิ คณบดี และผู้อำนวยการสถาบันต่างๆ จนได้กลายเรื่องอื้อฉาวในมหาวิทยาลัยทักษิณและสื่อมวลชน
“กรณีการสรรหาผู้อำนวยการทักษิณคดีศึกษา” หากเรื่องอื้อฉาวตามจดหมายเปิดผนึกและข่าวในสื่อมวลชนที่ได้แพร่หลายไปแล้วนั้นเป็นจริง ตามข้อครหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์แนบแน่นในลักษณะส่วนตัว หรือค้ำชูในระบบอุปถัมภ์ของประธานกรรมการสรรหาฯ (ศ.วิโชค มุกดามณี) ซึ่งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิรักษาการ และได้ส่งผลให้ นางสาวสาวิตรี สัตยายุทย์ เป็นผู้สมควรดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา ทั้งที่บุคคลผู้นี้ไม่มีความเหมาะสมและมีพฤติกรรมไม่สง่างาม
สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกียรติยศชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยทักษิณในสายตาประชาคมไม่ค่อยสู้ดีนัก อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่ตอกย้ำข้อร้องเรียนสภาคณาจารย์และพนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ และบุคลากรมหาวิทยาลัยทักษิณ ที่ชี้ให้เห็นถึงความไม่เหมาะสมของกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่จะดำรงอยู่ในตำแหน่งนี้อีกต่อไป
กรณีการสรรหา “ผู้อำนวยการทักษิณคดีศึกษา” ที่มีข้อครหาเคลือบแคลงสงสัยในความไม่โปร่งใส ความไม่ชอบธรรม และได้บุคคลที่ไม่มีความเหมาะสมและมีพฤติกรรมไม่สง่างามในตำแหน่ง ภายใต้การดำเนินการสรรหาของคณะกรรมการสรรหา และประทับรับรองเพื่อแต่งตั้งจากสภามหาวิทยาลัยทักษิณ จึงเป็นบทเรียนที่สำคัญยิ่งของประชาคมมหาวิทยาลัยทักษิณ จะต้องลุกขึ้นเรียกร้องศักดิ์ศรีและชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย โดยตั้งคำถามไปยังคณะกรรมการสรรหา และสภามหาวิทยาลัย เพื่อให้ตอบกับประชาคมว่า เหตุใดถึงกระทำเช่นนั้น ท่านจะชี้แจงต่อสังคมตามกระแสข่าวที่แพร่สะพัดในสื่อมวลชน จนทำมหาวิทยาลัยเสื่อมเสียชื่อเสียงได้อย่างไร
และที่สำคัญ สกอ. ในฐานะผู้ดูแลมหาวิทยาลัย ควรตั้งกรรมการสอบหาข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว รวมทั้งการสรรหาคณบดีและสถาบันอื่นๆ ที่มีข่าวเลื่องลือในทำนองนี้ด้วย ทั้งนี้ เพื่อจะได้ทำความกระจ่างชัดให้กับประชาคมและสังคม เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและศัทธาในกระบวนการได้มาซึ่งผูนำองค์กร/สถาบันแห่งนี้
เฉพาะอย่างยิ่งอีกไม่นานจะเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านของอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ และจะต้องมีการสรรหาเช่นเดียวกันนี้ ซึ่งหากกระบวนสรรหาอธิการบดีเป็นดั่งเช่นกรณีการสรรหา “ผู้อำนวยการทักษิณคดีศึกษา” ที่ได้ผู้นำไม่มีความสง่างามสมศักดิ์ศรีในตำแหน่งแล้ว ก็ย่อมบ่งบอกถึงความเป็นมหาวิทยาลัยทักษิณที่ไม่สง่างามเช่นเดียวกันในสายตาของสังคม
จึงเป็นเรื่องที่น่าเศร้าว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไรในองค์กรที่ได้ชื่อว่า “มหาวิทยาลัย” ทั้งหมดนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่ากระบวนการได้มาของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งสำคัญของมหาวิทยาลัย มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับความ (ไม่) สง่างามของสภามหาวิทยาลัยทักษิณ ท่านเหล่านั้นก็จะหลีกเลี่ยงความไม่สง่างามเช่นเดียวกันไม่ได้
มหาวิทยาลัยทักษิณ ถึงเวลาแล้วที่ต้องก้าวผ่านความหลุดพ้นจากการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่สำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ อธิการบดี คณบดี และผู้อำนวยการสถาบัน อย่าต้องให้เกียรติยศชื่อเสียงและศักดิ์ศรีของความเป็นมหาวิทยาลัยทักษิณที่ได้สะสมมานานต้องเสื่อมเสียเพราะ
1) คณะกรรมการสรรหาฯ และสภามหาวิทยาลัยที่ไม่มีความสง่างามอย่างสมศักดิ์ศรี
2) กระบวนการสรรหาที่ไม่มีความโปร่งใสและชอบธรรม
3) ความต้องการของผู้ที่อยากอยู่ในตำแหน่ง (อำนาจ) แต่ไร้ซึ่งความสามารถและขาดคุณธรรม
ประชาคมมหาวิทยาลัยทักษิณจึงมีส่วนสำคัญอย่างมาก ที่จะร่วมกันติดตามตรวจสอบการทำหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้อง และมีส่วนร่วมในกิจการต่างๆ ของมหาวิทยาลัยกันมากขึ้น เพื่อเรียกความเชื่อมั่นและศัทธากลับมา แล้วนำพามหาวิทยาลัยทักษิณได้พัฒนาให้เจริญก้าวหน้าบนถนนแห่งวิชาการอย่างมั่นคง และสง่างามอย่างสมศักดิ์ศรีในฐานะเป็นองค์การชั้นนำของสังคมต่อไป