xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องชุด “จิตรกรรมไทยไปโรม ห้าห้า” ว่าด้วย...ศิลปินศิลปากร (7) / หรินทร์ สุขวัจน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 
(หมายเหตุ : หรินทร์ สุขวัจน์ ที่ปรึกษาพิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว รับมอบหมายจากมูลนิธิเด็ก เชื้อเชิญศิลปินไทยบริจาคผลงานให้มูลนิธิแซนโทส ประเทศอิตาลี เพื่อจัดนิทรรศการศิลปะ ณ กรุงโรม ระหว่างวันที่ 19-27 มิถุนายน 2555 เงินรายได้มอบให้แก่มูลนิธิเด็กเพื่อ โครงการสร้างโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก 2 จังหวัดกาญจนบุรี)
 

ภาพวาดของ ขรัว อินโข่ง
 
ใน 23 ศิลปินที่มอบผลงานไปแสดงที่อิตาลีครั้งนี้ มีผู้ที่ผ่านการศึกษาจากรั้วศิลปากร 7 คน นับเป็นศิษย์สายตรงจากมหาวิทยาลัยที่มีผู้ประศาสน์การชาวอิตาเลียนเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง และวางรากฐานการเรียนการสอน เพื่อให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านศิลปกรรมร่วมสมัยของไทยขึ้นเป็นครั้งแรก
 
ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (2199-2231) เริ่มปรากฏสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบโกธิค และเรอเนซองส์ขึ้น ได้แก่ ตำหนักพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทไธสวรรค์ จังหวัดอยุธยา อาคารรับรองราชทูต หรือตึกวิชาเยนทร์ จังหวัดลพบุรี แต่พอสิ้นรัชสมัยของพระองค์ สยามก็ตัดสัมพันธ์กับยุโรป
 
กระทั่งสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สยามเริ่มเปิดสัมพันธ์กับชาติตะวันตกอีกครั้ง พร้อมกับรับอิทธิพลด้านศิลปกรรมผ่านทางวังกับวัด โดยมี ขรัวอินโข่ง ภิกษุจิตรกรเอกเป็นผู้ริเริ่มวาดภาพจิตรกรรมเรียลิสติกแบบยุโรปขึ้นเป็นคนแรก เป็นภาพที่มีแสงเงา มีระยะใกล้ไกล ซึ่งเชื่อว่าได้แบบจากภาพพิมพ์ที่มิชชันนารีฝรั่งนำเข้ามาเผยแพร่
 
Butterfly
 
ในปี 2466 หลังจากชนะเลิศการประกวดแบบเหรียญเงินตราสยามซึ่งจัดขึ้นที่ยุโรป ศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรจี จากเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ได้เดินทางเข้ามารับราชการเป็นช่างปั้นประจำกรมศิลปากร ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์สอนวิชาช่างปั้นหล่อ แผนกศิลปากรสถานแห่งราชบัณฑิตสภา
 
เมื่อเกิดวิกฤตสงครามโลกครั้งที่ 2 ศ.เฟโรจี ตัดสินใจโอนสัญชาติมาเป็นไทย เปลี่ยนชื่อเป็น ศิลป์ พีระศรี เป็นช่วงเวลาที่ศิลปะยุโรปได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เกิดลัทธิต่างๆ โดยเฉพาะลัทธิประทับใจ หรืออิมเพรสชันนิสม์ ประตูสู่โลกศิลปะตะวันตกของไทยถูกเปิดออก
 
 
Wheel of Life
 
ศ.ศิลป์ เป็นผู้วางหลักสูตรวิชาจิตรกรรม และประติมากรรมให้แก่ โรงเรียนประณีตศิลปกรรม เมื่อปี 2476 ต่อมา ปี 2478 เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนศิลปากร และในปี 2486 ยกฐานะขึ้นเป็น มหาวิทยาลัยศิลปากรมีคณะจิตรกรรมประติมากรรม เป็นคณะวิชาเดียวของมหาวิทยาลัย โดยท่านเป็นผู้อำนวยการสอน และดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรก
 
ชั่วชีวิตบนแผ่นดินไทย ท่านได้อุทิศตนสร้างองค์ความรู้ใหม่ จินตภาพใหม่ ในทางนฤมิตกรรมที่มีคุณค่ายิ่งแก่ประเทศของเรา นับเป็นปูชนียบุคคลแห่งศิลปกรรมไทยยุคใหม่ อย่างที่ผู้ทำงานศิลปะควรน้อมคารวะ และศึกษา
 
Lotus
 
ศิลปินจากศิลปากรอาวุโสที่สุดในงานคือ ช่วง มูลพินิจ มอบภาพพิมพ์ซ้ำให้ 3 ภาพ ภาพ Butterfly ประมูลได้ 8,000 บาท ภาพ Wheel of Life ได้ 12,000 บาท และภาพ Lotus ซึ่งเป็นภาพสีได้ 14,000 บาท
 
ข้อสังเกตของผมต่อราคาประมูลก็คือ แม้จะเป็นภาพพิมพ์ซ้ำ และมีขนาดค่อนข้างเล็ก แต่เนื้อหา และการแสดงออกที่เป็นตะวันออกอย่างแจ่มชัดเช่นนี้ ยวนใจฝรั่งผู้มีศิลปะในหัวใจยิ่งนัก (ข้อสงสัยก็คือ ในวัยขนาดนี้ ทำงานมาขนาดนี้ เคยได้รับการยกย่องจากสถาบันศิลปะในกรุงลอนดอนมานมนาน ทำไมช่วงยังไม่ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ ทั้งๆ ที่ผลงาน และคุณสมบัติพร้อมมูล ที่สำคัญคือ ฝีมือของเขาในยุคนี้ได้ประกาศสกุลช่างไทยที่งอกงามขึ้นอีกยุคสมัยหนึ่งทีเดียว?!)
 
Hae-ra
Singha 1
Singha 2
 
อาวุโสต่อมาคือ ภูเบศวร์ โหยประดิษฐ์ มอบภาพลายเส้นจิตรกรรมไทยให้ 3 ภาพ ได้แก่ Hae-ra, Singha 1 และ Singha 2 เส้นลายสะบัดกล้าทำให้นึกถึงงานของ อังคาร กัลยาณพงศ์ มหากวีจิตรกรศิษย์ ศ.ศิลป์รุ่นแรกๆ
 
Perfection of Loving Kindness
The Silence
 
ลำดับต่อไปคือ สุภ สุนทรภัค เพื่อนร่วมคณะมัณฑนศิลป์กับผู้เขียน มอบ Perfection of Loving Kindness ประมูลได้ 16,000 บาท และ The Silence ได้ 20,000 บาท
 
Woman with Flowers
 
เมืองไทย บุศมาโร ศิลปินศิลปากรที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งหลังยุคศิลปะเพื่อชีวิตจากวิกฤตการณ์เดือนตุลาคม 2516-19 มอบภาพ Woman with Flowers ประมูลได้ 20,000 บาท
 
Lanthom
 
สุดท้ายคือ เอกชัย ลวดสูงเนิน ศิลปินที่มีชื่อเสียงในแนวอิมเพรสชันนิสม์ มอบภาพ Lanthom ประมูลได้ 20,000 บาทเช่นกัน
 
อีก 2 คนคือ สุธี คุณาวิชยานนท์ และ อนุพงษ์ จันทร ได้เขียนไว้ในตอนที่ 4 และ 2 แล้ว
 
ศ.ศิลป์ยังเป็นผู้ผลักดันให้เกิด วิทยาลัยช่างศิลป์ ขึ้นในปี 2495 เพื่อเยาวชนได้เตรียมการศึกษาด้านศิลปะก่อนระดับอุดมศึกษา ทั้งนี้ ศิลปินที่จบจากสถาบันเตรียมอุดมศึกษาอัน ศ.ศิลป์มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งแห่งนี้ ได้ร่วมบริจาคภาพในนิทรรศการครั้งนี้ด้วย ได้แก่ วสันต์ สิทธิเขตต์ และ ชาลี จัลยานนท์ ซึ่งได้กล่าวถึงแล้วในตอนที่ 4 และ 6
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น