(หมายเหตุ : หรินทร์ สุขวัจน์ ที่ปรึกษาพิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว รับมอบหมายจากมูลนิธิเด็ก เชื้อเชิญศิลปินไทยบริจาคผลงานให้มูลนิธิแซนโทส ประเทศอิตาลี เพื่อจัดนิทรรศการศิลปะ ณ กรุงโรม ระหว่างวันที่ 19-27 มิถุนายน 2555 เงินรายได้มอบให้แก่มูลนิธิเด็กเพื่อโครงการสร้างโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก 2 จังหวัดกาญจนบุรี)
ด้วยเป็นเมืองท่องเที่ยวทางทะเลระดับนานาชาติ แม้บรรยากาศความเป็นเกาะจะลดทอนลงด้วยสะพานสารสินที่เชื่อมแผ่นดินจังหวัดพังงา หากเสน่ห์ของหาดทรายขาวกว่าสิบหาด โรงแรมร้านรวงทันสมัย สาธารณูปโภคพร้อม ภูเก็ตจึงมีมนต์ขลังต่อนักท่องเที่ยวทั่วโลกมานาน รวมทั้งศิลปินที่ต้องการใช้ชีวิตทำงานอาชีพที่ตนหลงใหลทั้งไทย และเทศ
จิระศักดิ์ พัฒนพงษ์ ศิลปินแนวเซอเรียลิสม์ (ผมลงภาพบริจาคของเขาไว้ในบทความตอนที่ 4 แล้ว) จากกรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในนั้น อิทธิพลสิ่งแวดล้อมของภูเก็ตยังทำให้เนื้อหา และสีสันภาพวาดของจิระศักดิ์เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง คล้ายกับการเปลี่ยนแปลงในงานของพอล โกแกง ศิลปินยุคโพสต์อินเพรสชันนิสม์ ผู้ย้ายชีวิตไปฝังรกรากไว้ที่หมู่เกาะตาฮิติ
ในบทความ “ภูเก็ตเจ็ดปี” ที่เขียนร่วมกับเพื่อนศิลปิน และนักเขียนภูเก็ตสิบคน รำลึกถึงการจากไปของจิระศักดิ์เมื่อปี 2544 ลงในหนังสือทำมือ พิมพ์ด้วยเครื่องรีดแผ่นยางพารากันในสวนยาง บนฝั่งฝัน/On the Shore of Dream ผมกล่าวถึงดินแดนเป้าหมายของคนทำงานศิลปะ ณ ที่แห่งนี้ว่า
จิระศักดิ์นั้นดุจดั่งโคลัมบัสศิลปินผู้ค้นพบเกาะภูเก็ต แดนแห่งการสร้าง และแสดงศิลปกรรม เพราะหลังจากเขาได้มาแสดงงานภาพวาดจิตรกรรมก่อนหน้านั้น เจ็ดปีอันนับเป็นการจัดนิทรรศการศิลปะเต็มรูปแบบครั้งแรกๆ ของเกาะแห่งนี้ ซึ่งเขาได้ย้ายที่พำนักไปปักหลักยังภูเก็ตตราบจนวาระสุดท้าย จนกลายเป็นเสมือนทูตวัฒนธรรมประจำเกาะ ด้วยการคบหาเพื่อนฝรั่งจนรู้ใจกันมากหน้าหลายชาติเชื้อ หลังจากนั้น ศิลปินไทยใหญ่น้อยก็ทยอยไปสัมผัสทดลองชีวิต และงาน ณ เกาะแห่งนี้ตลอดมา รวมทั้งศิลปินต่างชาติที่ไปซุ่มสันโดษมาก่อนจำนวนหนึ่งแล้ว
ทั้งสองภาพของจิระศักดิ์ในงานนี้ผม ทองธัช เทพารักษ์ จุฑา สุจริต และ ไพศาล ธีรพงศ์วิษณุพร สี่เพื่อนผู้ดูแลผลงานที่ยังเหลืออยู่ของเขาในนามกองทุนจิระศักดิ์ฯ คัดมอบให้
นอกเหนือจากจิระศักดิ์ และพ่อลูกศิลปินชาวภูเก็ต ชาลี และ ศวรรษ จัลยานนท์ ที่ได้กล่าวถึงไปในบทความตอนที่ 3 แล้ว ศิลปินภูเก็ตที่บริจาคผลงานเพื่อนิทรรศการกรุงโรมครั้งนี้ยังมี กริช สุรเจริญใจ ศิลปินหนุ่มใหญ่ผู้มากน้ำใจต่อมิตรกับใบหน้าเปื้อนยิ้ม ซึ่งทั้งมอบภาพจากชุด “เบิกบานแห่งบูรพา” ให้ 1 ภาพแล้วยังช่วยแนะนำศิลปินมาร่วมด้วยอีกคน (อนุพงษ์ จันทร)
กริชรู้จักศิลปินไทยเกือบทั้งเกาะ ชอบช่วยเหลือเพื่อนในการประสานเกี่ยวกับการงานโดยไม่ต้องการสิ่งตอบแทน และต้อนรับขับสู้ศิลปินไทยใหญ่น้อยที่แวะเวียนกันมาภูเก็ตเสมอๆ
อีกคนคือ วีระชาญ อุสาหะนันท์ ศิลปินใหญ่ที่ไม่ค่อยดังในเมืองไทย เพราะไม่ชอบทำตัวเด่น ไม่ค่อยออกงาน แต่ชอบทำงาน เพิ่งมาอยู่บ้านริมทะเลทำเป็นแกลเลอรีกับศรีภรรยาย่านหาดสุรินทร์ได้ 3-4 ปี มอบภาพพิมพ์ซ้ำให้ 2 ภาพ พิมพ์บนแคนวัสจากต้นฉบับภาพวาดจิตรกรรมแนวแฟนตาซีเรียลิสติกในชุด “คเณศ 16 ปาง” ซึ่งเป็นงาน masterpiece ที่ทำต่อเนื่องมาหลายปี และใกล้จะเสร็จสมบูรณ์
ภาพ The Creator of the Universe ถูกประมูลในวันแรกไปในราคา 400 ยูโร (ราว 16,000 บาท ราคาที่ศิลปินตั้งไว้คือ 12,000 บาท) แม้จะไม่ใช่ภาพต้นฉบับ แต่ด้วยเนื้อหาที่เข้มข้น รายละเอียดยุบยิบละม้ายสไตล์จิตรกรรมพุทธศิลป์ทังกาของธิเบต มีเทพเจ้าองค์สำคัญของฮินดูผสานกับอีโรติกนับสิบคู่ ชนิดไม่เกรงใจใคร ก็ทำให้ทุกคนต้องพินิจพิจารณา
สุดท้ายคือ บุญเกษม แซ่โค้ว ศิลปินอิมเพรสชันนิสม์ชาวกระบี่ แต่ไปมาภูเก็ตเป็นครูสอนศิลปะบ้าง ไปแสดงนิทรรศการบ้าง จนแวดวงศิลปที่ภูเก็ตรู้จักมักคุ้นกันเป็นอย่างดี มอบให้ 2 ภาพ ภาพ Sea Gypsy Village ถูกประมูลไปในวันแรก 400 ยูโร
บุญเกษมเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันให้เกิด “หอศิลป์ร่วมสมัยจังหวัดกระบี่” ในปี 2551 โดยรับเป็นผู้อำนวยการคนแรก
อ่านเรื่องประกอบ
- เรื่องชุด “จิตรกรรมไทยไปโรม ห้าห้า” ว่าด้วย...เหตุ (1) / หรินทร์ สุขวัจน์
- เรื่องชุด “จิตรกรรมไทยไปโรม ห้าห้า” ว่าด้วย...ศิลปินไทย (2) / หรินทร์ สุขวัจน์
- เรื่องชุด “จิตรกรรมไทยไปโรม ห้าห้า” ว่าด้วย...วันเปิด (3) / หรินทร์ สุขวัจน์
- เรื่องชุด “จิตรกรรมไทยไปโรม ห้าห้า” ว่าด้วย...ศิลปะเพื่อชีวิต (4) / หรินทร์ สุขวัจน์
- เรื่องชุด “จิตรกรรมไทยไปโรม ห้าห้า” ว่าด้วย...กลุ่มธรรม (5) / หรินทร์ สุขวัจน์