นราธิวาส - ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลงเจาะใจชาวโรฮิงญานราฯ หาทางช่วยตามหลักมนุษยธรรม ชี้ส่งกลับพม่า คือ ส่งไปตาย ขณะที่สื่อมวลชนสันติภาพ ออกโรงหาเงินช่วยชาวโรฮิงญา ที่ถูกควบคุมตัวตามจังหวัดต่างๆ
วันนี้ (21 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานกรณีเยาวชนชาวโรฮิงญา จำนวน 18 คน ที่ถูกส่งตัวมาพักอาศัยเป็นการชั่วคราวที่บ้านพักเด็กและครอบครัว จ.นราธิวาสนั้น ล่าสุด นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ และนายสงวน อินทร์รักษ์ คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ประจำ จ.นราธิวาส พร้อมคณะรวม 9 คน ได้เดินทางมาเยี่ยมเยาวชนชาวโรฮิงญา และได้พูดคุยกับ ด.ช.มูหามัดอาแบร อายุ 14 ปี ผ่านนายมูฮัมหมัด อามีน ซึ่งทำหน้าที่เป็นล่าม
เพื่อหาข้อเท็จจริงกรณีชาวโรฮิงญาที่เดินทางจากรัฐยะไข่ ประเทศพม่า เข้ามาอาศัยในประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย ซึ่งทางนายวินัย สะเล็ม ตัวแทนสมาคมโรฮิงญาประเทศไทย หรือ บี.อาร์.ที.เอ.ได้ยืนเรื่องผ่านนายแพทย์นิรันตร์ พิทักษ์วัชระ ในฐานะ ปธ.อนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ไม่ให้ส่งตัวโรฮิงญาที่ถูกจับกุมกลับประเทศพม่า เนื่องจากรัฐยะไข่อยู่ในสภาวะที่ไม่แตกต่างจากสภาวะสงคราม เมื่อส่งตัวกลับจะถูกทารุณกรรมจนเสียชีวิตได้
โดย ด.ช.มูฮามัดอาแบร ได้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ ก่อนที่จะรวมตัวกันหลบหนีออกจากประเทศ พอสรุปใจความว่า พวกชาวโรฮิงญาจะถูกทหารประเทศพม่า กระทำทุกวิถีทางให้ออกจากรัฐยะไข่ ทั้งข่มขืน และฆ่า โดยประเด็นหลักคือ การคุมกำเนิดชาวโรฮิงญาให้อยู่ในประเทศน้อยที่สุด เมื่อเป็นเช่นนั้นชาวโรฮิงญาจึงต้องพากันเอาตัวรอดด้วยการอพยพครอบครัวลงเรือหลบหนีไปประเทศที่ 3 ซึ่งการเดินทางต้องนั่งเรือลอยลำกลางทะเลนานร่วม 1 เดือน และดื่มน้ำทะเลเป็นอาหารประทังชีวิต เมื่อเข้าน่านน้ำของประเทศไทยก็ถูกเจ้าหน้าที่ทหารไทยจับกุมตัว โดยเรียกเงินค่าหัวคนละ 150,000 จ๊าด หรือประมาณ 52,000 บาท ซึ่งทหารอ้างว่า จะนำตัวไปอาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซีย
หลังจากนั้น ทหารก็ได้ส่งตัวชาวโรฮิงญาให้แก่นายหน้า ซึ่งป็นคนไทย และพม่าอีกทอดหนึ่ง โดยนายหน้าได้เรียกเงินคนละ 5,000 ริงกิต หรือ 50,000บาท และอ้างว่าจะนำตัวไปส่งที่บ้านญาติที่เดินทางหลบหนีมาก่อน แต่ในที่สุด ก็ถูกทางการไทยจับกุมตัวได้ และถูกส่งมาอาศัยอยู่ที่บ้านพักเด็กและครอบครัว จ.นราธิวาส ซึ่งที่นี่อยู่สบาย คนไทยทุกคนมีน้ำใจช่วยเหลือทุกอย่าง ถ้าเลือกได้จะขออยู่ประเทศไทย และสิ่งที่ต้องการที่สุดในขณะนี้ คือ 1.เยาวชนทุกคนต้องการเรียนหนังสือ 2.มีที่อยู่อาศัยสามารถไปไหนมาไหนได้อย่างเสรี
ซึ่งข้อมูลทั้งหมด นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ และนายสงวน อินทร์รักษ์ คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ประจำ จ.นราธิวาส จะรวบรวมไว้เพื่อเข้าที่ประชุมร่วมกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการต่างประเทศ สภาความมั่นคง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข สำนักจุฬาราชมนตรี สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ในวันที่ 28 ม.ค.56 ที่จะถึงนี้
เพื่อหาทางออกร่วมกัน 3 ประเด็นหลัก คือ 1.หลักประกันการส่งโรฮิงญากลับพม่า แล้วจะปลอดภัย 2.แนวนโยบายที่จะดำเนินการกับชาวโรฮิงญาที่อพยพ และถูกจับกุมในประเทศไทย และ 3.การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่อาจจะมีมากขึ้น จากผลพวงของค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล ที่เป็นการจูงใจให้แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองมากขึ้นตามไปด้วย
โดยนางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ เปิดเผยว่า เรื่องโรฮิงญาถือว่าเป็นผู้หนีภัยความตาย ไม่สมควรที่จะส่งกลับประเทศพม่า ถ้าส่งกลับก็ต้องตาย โรฮิงญาเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องมีการพูดคุยกันในระดับกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งพม่าก็อยู่ในกลุ่มนี้ น่าจะมีทางออกที่ดีในการแก้ไขปัญหาของชาวโรฮิงญา ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า ส่วนการช่วยเหลือเยาวชนชาวโรฮิงญา จำนวน 18 คน ที่พักอาศัยอยู่ที่บ้านพักเด็กและครอบครัว จ.นราธิวาส ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ทั้งเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม รวมไปถึงอาหารการกิน จนทำให้สุขภาพของเยาวชนชาวโรฮิงญาทั้ง 18 คน เริ่มปรับสภาพได้ และเริ่มมีสุขภาพร่างกาย และสุขภาพจิตที่ดีขึ้นตามลำดับ
ขณะที่ทางกลุ่มรักสันติแอนด์พิสมีเดีย 3 จชต.ได้ร่วมกับโรงเรียนอัตตัรกียะห์ อิสลามมียะห์ และจิตอาสา ได้รับบริจาคเงินสด และเครื่องอุปโภคบริโภค ในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส เพื่อนำไปช่วยเหลือชาวโรฮิงญาตามหลักมนุษยธรรม ได้มีประชาชนทยอยเข้าร่วมบริจาคไม่ขาดสาย ซึ่งนายรพี มามะ ประธานกลุ่มรักสันติแอนด์พิสมีเดีย 3 จชต.กล่าวว่า ยอดเงินบริจาคทั้งหมด 150,000 บาทเศษ จำนวนของประเภทอาหารแห้ง เสื้อผ้า น้ำดื่ม รวม 4 คันรถกระบะ ทั้งหมดจะถูกกระจายส่งไปช่วยเหลือชาวโรฮิงญาตามจุดประสงค์ของผู้มีจิตกุศลต่อไป ซึ่งจะเห็นว่าแม้พื้นที่ จ.นราธิวาส จะมีปัญหาความไม่สงบบ่อยครั้ง แต่น้ำใจคนในพื้นที่ไม่หดหาย และยังเปี่ยมด้วยน้ำใจ จะเห็นจากการให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้ แม้ชาวโรฮิงญาจะไม่ใช่คนไทย แต่ทุกคนถือเป็นมนุษย์ร่วมโลก และต้องการเห็นสันติภาพ