โดย...ไม้ เมืองขม
นโยบายของ “นายกฤษฎา บุญราช” ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ที่แถลงเอาไว้ตั้งแต่เมื่อเข้ามารับตำแหน่งคือ จังหวัดสงขลาต้องไม่มี 3 เถื่อน คือ ยาเถื่อน (ยาเสพติด) ไม้เถื่อน และคนเถื่อน
แต่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ชุดปฏิบัติการขจัดภัยแทรกซ้อนของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กองทัพภาคที่ 4 ที่นำโดย พ.อ.จรัล เอี่ยมฐานนท์ เสนาธิการกรมทหารราบที่ 51 ได้สนธิกำลังจากเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายเข้าช่วยเหลือ “ชาวโรฮิงญา” ที่ถูกขบวนการค้ามนุษย์นำมากักขังควบคุมตัวไว้ เพื่อรอส่งไปยังประเทศที่ 3 ได้จำนวนกว่า 400 คน แถมต่อมา ยังสืบสวนขยายผลตรวจค้นยังพบมีชาวโรฮิงญาถูกกักขังไว้ในพื้นที่ต่างๆ ใน ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา อีกหลายแห่ง รวมแล้วพบว่า มีชาวโรฮิงญาถูกกักขังในพื้นที่ชายแดน ต.ปาดังเบซาร์กว่า 700 คน
นี่แสดงให้เห็นว่า ปัญหา “คนเถื่อน” ที่ผู้ว่าฯ สงขลาประกาศว่าต้องไม่มีใน จ.สงขลา เอาเข้าจริงๆ ยังเป็นเรื่องที่ยังไม่สามารถทำให้หมดไปได้ตามนโยบายที่ต้องการ
สิ่งที่สังคมต้องรับรู้คือ จ.สงขลา เป็น 1 ใน 6 จังหวัดที่องค์กรทางด้านสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศระบุว่า เป็นแหล่งที่มีการค้ามนุษย์แหล่งใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมา หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ฝ่ายปกครอง ตำรวจ และอื่นๆ ต่างพยายามหาเหตุหาผลมาอ้างว่า เรื่องที่ถูกกล่าวหาเป็นเรื่องเก่า เป็นเรื่องในอดีต ที่ปัจจุบันได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นแล้ว เพื่อที่จะบอกแก่สังคมว่า การค้ามนุษย์ใน จ.สงขลา ไม่ได้รุนแรง หรือนักหนาสาหัส อย่างที่องค์กรสิทธิมนุษยชนได้กล่าวอ้าง
ทั้งที่โดยข้อเท็จจริง จ.สงขลา ยังเป็นแหล่งใหญ่ของการค้ามนุษย์ ตั้งแต่การนำผู้หญิงทั้งจากใน และนอกประเทศเข้าสู่ขบวนการ “ขายเนื้อสด” ทั้งในพื้นที่ และส่งไปมาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งยังมี จ.สงขลา เป็นศูนย์กลาง เพียงแต่ที่ไม่เป็นข่าวอื้อฉาว เนื่องจากการค้ามนุษย์ในรูปแบบเนื้อสดเป็นเรื่องของความ “สมยอม” ของทั้งสองฝ่าย การกักขังหน่วงเหนี่ยว และการซ้อมทารุณไม่มีเหมือนในอดีต
นานๆ ครั้งจึงจะมีการร้องขอจากเหยื่อให้เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือ แต่เมื่อ “เจาะ” ลงไปถึงข้อเท็จจริงจะพบว่า ส่วนใหญ่เหยื่อที่ร้องขอความช่วยเหลือโดยอ้างว่าไม่เต็มใจ และถูกข่มขืนใจให้ค้าประเวณี มาจากสาเหตุถูกกดขี่ หรือถูกโกงค่าน้ำพักน้ำแรงแทบทุกราย
แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าการขายบริการทางเพศ หรือการค้าประเวณีจะมาจากความยินยอมแบบ “สมยอม” หรือ “เต็มใจ” แต่ต่างก็อยู่ในข่ายของ “การค้ามนุษย์” ทั้งสิ้น เพราะกฎหมายไม่ได้บอกว่า ถ้าสมยอม หรือเต็มใจไม่ใช่การค้ามนุษย์
ในอดีต การนำคนเข้าสู้การค้าประเวณี โดยมี จ.สงขลา เป็นศูนย์กลางนั้น มีการนำผู้หญิงจากภาคเหนือ-ตะวันออกเฉียงเหนือ หรือจากพื้นที่สูง เช่น จีนฮ่อ และที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านคือ หญิงสาวชาวพม่า แต่ปัจจุบัน หญิงสาวที่ถูกนำเข้ามาค้าประเวณีใน จ.สงขลา และเมืองชายแดนอื่นๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นสตูล ปัตตานี ยะลา และ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส กลายเป็นแม่หญิงของสาธารณรัฐประชาชนลาวมากที่สุด หรือเกือบจะทุกคาราโอเกะในทุกพื้นที่
ส่วนการค้ามนุษย์ผู้ชายนั้น ในอดีต จ.สงขลา มีขบวนการค้า “ลูกหมู” และการค้า “ลูกแพะ” ที่โด่งดัง และเป็นที่รู้จักกันในขบวนการค้ามนุษย์ทุกประเทศ ขบวนการค้าลูกแพะคือ การค้ามนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับคน “มุสลิม” ส่วนขบวนการค้าลูกหมูคือ ขบวนการค้ามนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับชาวจีน
หลังจากนั้น จ.สงขลา ยังขึ้นชื่อในเรื่องของ “การค้าแรงงาน” ด้วยการส่งแรงงานจากภาคอีสานไปขายแรงงานยังมาเลเซีย และมีการหลอกลวง หรือลอยแพคนงานจนโด่งดังไปทั้งประเทศ และนอกจากนั้น จ.สงขลา ยังขึ้นชื่อในเรื่อง “แรงงานทาส” คือการหลอกลวง และจับตัวแรงงาน ทั้งที่เป็นคนไทย พม่า ลาว เขมร ฯลฯ ส่งขายให้แก่เรือประมงเพื่อเป็นแรงงานทาสกลางทะเลอีกด้วย
ส่วนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาใน จ.สงขลา แม้จะดำเนินมานานหลายปี แต่เพิ่งจะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา
เนื่องจากมีชาวโรฮิงญา หรือ “อาระกัน” ที่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ของพม่า หลบหนีการทารุณ และความยากแค้นเข้าสู่ไทยเพื่อไปยังประเทศที่ 3 มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเส้นทางหลบหนีจากพม่าเพื่อไปประเทศที่ 3 คือ มาเลเซียนั้น จะต้องผ่านไทย และชายแดนที่มีการนำชาวโรฮิงญาออกไปสู่ประเทศที่ 3 คือ ชายแดนไทยด้าน อ.สะเดา จ.สงขลา ซึ่งถ้าไม่ใช่ชายแดน ต.ปาดังเบซาร์ ก็ต้องเป็นชายแดน ต.สำนักขาม อ.สะเดา ในขณะที่บางส่วนอาจจะหลบหนีออกไปทางชายแดน อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และชายแดนด้านอื่นๆ บ้าง แต่ไม่มากเท่าชายแดนด้าน อ.สะเดา จ.สงขลา
ขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา ซึ่งเริ่มต้นจากการ “รับจ้าง” นำชาวโรฮิงญาจากพม่าเข้ามาไทยทาง จ.ระนอง และปัจจุบัน มีบางส่วนที่เข้ามาทาง จ.สตูล ด้านชายทะเลใน อ.ละงู และที่อื่นๆ โดยคิดค้าจ้างตั้งแต่หัวละ 2-50,000 บาท แล้วแต่ข้อตกลง เมื่อส่งข้ามแดนไทยถือว่าหมดหน้าที่
แต่ปัจจุบัน ขบวนการรับจ้างนำชาวโรฮิงญาไปยังประเทศที่ 3 มีความคิดที่แยบยลมากขึ้น นั้นก็คือ การ “เข้าฮอส” เพื่อกินสองต่อ โดยรับเงินค่าจ้างในการนำชาวโรฮิงญาหลบหนีจากพม่ามาแล้ว ยังทำการกักขัง หรือควบคุมตัวชาวโรฮิงญาเอาไว้ในสถานที่แนวชายแดน เพื่อขายชาวโรฮิงญาให้แก่ผู้ต้องการแรงงานในประเทศเพื่อนบ้าน ในราคาตั้งแต่หัวละ 3-50,000 บาท ซึ่งมีนายทุนทั้งในภาคการเกษตร และประมงต้องการแรงงานเหล่านี้ไว้ใช้ เพราะเป็นแรงงานราคาถูกที่ไม่กล้าหลบหนี และนายทุนสามารถกดขี่ได้ตามชอบใจ
นั่นคือที่มาของการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จ.สงขลา ซึ่งชาวโรฮิงญาเหล่านี้คือกลุ่มคนผู้ที่อยู่ในสภาพของการ “หนีเสือปะจระเข้” อย่างแท้จริง และเป็นการถูกทารุณกรรมที่น่าสังเวช ชนิดที่มนุษย์ด้วยกันไม่ควรที่จะกระทำกัน
ครั้งนี้จึงนับเป็นครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่รัฐได้เข้าดำเนินการช่วยเหลือ และจับกุมผู้กระทำความผิดในพื้นที่ จ.สงขลา หลังจากที่หน่วยงานในท้องถิ่นปล่อยให้พื้นที่ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา เป็นแหล่งค้ามนุษย์แหล่งใหญ่ โดยไม่มีการสนใจ และใส่ใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น
ใครเป็นใครในขบวนการค้ามนุษย์ ทั้งการค้าชาวโรฮิงญา และการค้าหญิงลาว หญิงไทย และหญิงสาวจากชาติอื่นๆ เชื่อว่าเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายปกครอง ตำรวจ แรงงาน และอื่นๆ ต่างรู้ดี ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ ในพื้นที่ ต.สำนักขาม และ ต.ปาดังเบซาร์
แต่ที่ไม่มีการจับกุม ไม่มีการช่วยเหลือ เป็นเพราะมีการจ่าย “ส่วย” ให้แก่ทุกหน่วยในพื้นที่อย่างทั่วถึง
ขบวนการนี้เป็นเพียงขบวนการค้ามนุษย์ ค้าแรงงานข้ามชาติ ที่มีนักการเมืองท้องถิ่น ผู้นำท้องถิ่น และท้องที่ ร่วมกับ “นายทุน” ทั้งที่เป็นคนไทย มาเลเซีย และพม่า ซึ่งไม่ได้มีอิทธิพลที่จะเด็ดชีพ หรือทำร้ายเจ้าหน้าที่ได้แต่อย่างใด เป็นเพียงแต่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น หรือผู้เกี่ยวข้องต่างหากที่ยอมสยบแทบเท้าของนายทุน เพื่อผลประโยชน์ที่ถูกหยิบยื่นให้ เหมือนกับกรณีการค้าน้ำมันเถื่อน และของผิดกฎหมายทั้งหลายทั้งปวงในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั่นเอง
ถ้า “ชุดขจัดภัยแทรกซ้อน” ของ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ไม่เข้าไปดำเนินการ ขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ ใน จ.สงขลา ก็ยังเติบโตต่อไป ท่ามกลางคราบเลือด และน้ำตาของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
แน่นอนว่าความดีความชอบในครั้งนี้ต้องยกให้แก่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องตั้งคำถามไปยังหน่วยงานในพื้นที่ของ จ.สงขลา งานการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ งานป้องกันจับกุมการค้าประเวณี แรงงานทาส ทั้งหมดล้วนมีกระทรวง มีหน่วยงานที่รับผิดชอบในจังหวัดทั้งสิ้น
ทำไมจึงต้องรอให้กำลังของ กอ.รมน. หรือดีเอสไอ เข้ามาดำเนินการ และถ้างานทุกอย่าง เช่น การจับกุมน้ำมันเถื่อน การจับกุมการค้ามนุษย์ การค้าหัวหอม หัวกระเทียม ขนมปัง หรืออย่างเนื้อหนีภาษี ล้วนต้องให้ กอ.รมน.ดำเนินการ
แล้วหน่วยงานฝ่ายปกครอง ตำรวจ ศุลกากร สรรพสามิต และหน่วยงานอื่นๆ จะมีไว้ทำ “หอกหัก” อะไร
แน่นอนว่าโจทย์ข้อนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาต้องตอบ และต้อง “ไล่เบี้ย” เอากับหน่วยงานทุกหน่วยในพื้นที่ โดยเฉพาะใน อ.สะเดา ว่าอะไรที่เป็น “ม่านบังตา” ทำให้มองไม่เห็นการทำผิดกฎหมาย การทำลายมนุษยชาติด้วยกันอย่างทารุณโหดร้าย เรื่องนี้ต้องหาคนที่ไม่ใช่ “แพะ” รับผิดชอบต่อความผิดที่เกิดขึ้น ไม่ควรปล่อยให้ล่องลอยไปกับสายลม แสงแดด เหมือนกับเรื่องหลายๆ เรื่องที่เกิดขึ้นจนเป็นที่ประจักษ์มาตลอด