xs
xsm
sm
md
lg

ภูเก็ตประชุมแก้ปัญหาเรือท่องเที่ยวร้องต้องแบกรับค่าย้ายเรือสินค้าออกจากท่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - รองผู้ว่าฯ ภูเก็ตประชุมแก้ปัญหานำเรือท่องเที่ยวเข้าจอดเทียบท่าเรือน้ำลึก กรณีผู้ประกอบการตัวแทนสายเรือท่องเที่ยว ร้องไม่เห็นด้วยกับการกำหนดให้เรือท่องเที่ยวเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้ายเข้า-ออกของเรือสินค้า ในขณะที่เรือท่องเที่ยวเข้าเทียบท่า

เมื่อเวลา 14.00 น.วันนี้ (17 ต.ค.) ที่ห้องรับรองศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุม เรื่อง การพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาในการนำเรือท่องเที่ยวเข้าเทียบท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต ซึ่งปลูกสร้างบนที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ภก.308 ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต ครั้งที่ 1/2555 กรณีผู้ประกอบการตัวแทนสายเรือท่องเที่ยว ร้องไม่เห็นด้วยกับการกำหนดให้เรือท่องเที่ยวเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้ายเข้า-ออกของเรือสินค้าในขณะที่เรือท่องเที่ยวเข้าเทียบท่า

โดยมีนายธำรงค์ ทองตัน ธนารักษ์พื้นที่ภูเก็ต ตัวแทนสำนักงานงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ต นายวัฒนชัย เรืองเลิศปัญญากุล ผู้อำนวยการท่าเรือน้ำลึกสงขลาและภูเก็ต บริษัท เจ้าพระยาท่าเรือสากล จำกัด นาย Steve Lee กรรมการผู้จัดการ บริษัท โทรีเซน ชิปปิ้ง แอนด์ โลจิสติกส์ จำกัด และนายธานินทร์ ถ้ำสุวรรณ บริษัท โทรีเซน ชิปปิ้ง แอนด์ โลจิสติกส์ จำกัด ตัวแทนสายเรือท่องเที่ยว นายวัฒนา โชคสุวณิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท อี.เอ.เอส.มาริไทม์ เอเจนซี่ (ไทยแลนด์) จำกัด ตัวแทนบริษัท Orient Asia Lines ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นายธำรงค์ ทองตัน ธนารักษ์พื้นที่ภูเก็ต กล่าวว่า บริษัท โทรีเซน ชิปปิ้ง แอนด์ โลจิสติกส์ จำกัด ตัวแทนสายเรือท่องเที่ยวแจ้งว่าไม่เห็นด้วยในหลักการปฏิบัติ กรณีผู้บริหารจัดการท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต ได้กำหนดให้เรือท่องเที่ยวเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้ายเข้า-ออกของเรือสินค้า โดยมิได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมหารือถึงความเหมาะสมแต่อย่างใด จึงเกรงว่าหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปจะเกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว และเศรษฐกิจในภาพรวมของจังหวัด จึงขอให้ทางจังหวัดได้พิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

ขณะที่นายธานินทร์ ถ้ำสุวรรณ บริษัท โทรีเซน ชิปปิ้ง แอนด์ โลจิสติกส์ จำกัด ตัวแทนสายเรือท่องเที่ยว กล่าวว่า ด้วยบริษัทฯ ดำเนินธุรกิจเป็นตัวแทนสายเรือท่องเที่ยว มีเรือเข้าเทียบท่าในจังหวัดภูเก็ตเป็นประจำสัปดาห์ละ 2 ลำ  มีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยต่อสัปดาห์ จำนวน 3,000 คน มาตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี โดยเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต และชายหาดป่าตองตามความเหมาะสมของสภาพอากาศในแต่ละช่วง ซึ่งในการเข้าจอดเทียบท่าที่ท่าเรือน้ำลึกจะมีการแจ้งตารางการเดินเรือล่วงหน้าเป็นเวลา 1 ปี และในบางสัปดาห์หากมีเรือขนส่งสินค้าอื่นมาเทียบท่าก่อน ก็จะให้ย้ายออกเมื่อเรือท่องเที่ยวมาถึง และย้ายกลับเข้ามาเมื่อเรือท่องเที่ยวออก

แต่เมื่อเดือนกันยายน 2553 ทางผู้บริหารท่าเรือน้ำลึกแจ้งว่า ให้เรือท่องเที่ยวเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้ายเข้า-ออกของเรือขนส่งสินค้า โดยไม่ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือความเหมาะสม และไม่เห็นด้วยกับหลักปฏิบัติการดังกล่าว 

ขณะที่นายวัฒนชัย เรืองเลิศปัญญากุล ผู้อำนวยการท่าเรือน้ำลึกสงขลาและภูเก็ต บริษัท เจ้าพระยาท่าเรือสากล จำกัด ผู้บริหารท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต ชี้แจงว่า โดยหลักปฏิบัติสากลการจัดท่าเรือให้เรือเข้าเทียบท่าโดยทั่วไปจะยึดหลักผู้ใดมาก่อน จะได้รับบริการก่อน แม้ว่าจะมีการจองล่วงหน้า แต่หากพบเรือลำอื่นจอดทำงานอยู่เรือที่จองท่าไว้ก็ต้องคอยนกว่าเรือที่จอดอยู่ก่อนทำงานเสร็จ จึงเข้าเทียบท่า กรณีของท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต ซึ่งเป็นท่าเรือสินค้า มีความยาวหน้าท่า 360 เมตร กรณีที่เป็นเรือมีขนาดยาวไม่เกิน 175 เมตร สามารถจอดได้พร้อมกัน 2 ลำ และต่อมา ได้ให้เรือขนาดไม่เกิน 210 เมตรเข้าจอดได้ หากพิจารณาด้านความปลอดภัยในการนำเรือเข้า-ออก และความคงทนแข็งแรงของหน้าท่าแล้วไม่ควรนำเรือที่มีความยาวเกิน 210 เมตรเข้าจอด แต่เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว จึงอนุโลมให้เรือโดยสารดังกล่าวเข้าเทียบท่าได้

แต่มีการทำข้อตกลงกับเรือสินค้าว่า ในขณะที่เรือสินค้าทำงานอยู่ และมีเรือโดยสารท่องเที่ยวเข้ามาเทียบท่า และหน้าท่าไม่พอ เรือสินค้าจะต้องเคลื่อนย้ายออกไป หรือหากเรือสินค้ามาถึง และมีเรือโดยสารท่องเที่ยวเทียบท่าอยู่ก็จะต้องรอจนเรือโดยสารฯ ออกไปก่อน โดยให้เรือโดยสารรับผิดชอบค่าเคลื่อนย้ายเรือสินค้าลำที่ถูกเคลื่อนย้ายออกไป ประมาณครั้งละ 60,000 -10,0000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือ ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการเช่าเรือของเรือสินค้ารายวัน วันละ 450,000-600,000 บาท รวมถึงต้องเสียเวลาในการลงสินค้า 

นายวัฒนชัย กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม เพื่อแก้ปัญหาความยาวของท่าจอดเรือไม่เพียงพอ ทางท่าเรือน้ำลึกภูเก็ตมีแผนในการขยายหน้าท่าจาก 360 เมตร เป็น 420 เมตร เพื่อให้สามารถรองรับเรือโดยสาร และเรือสินค้าได้พร้อมกัน รวมทั้งก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร และลานจอดรถโดยสาร ซึ่งกรมธนารักษ์เห็นชอบแล้ว แต่เรื่องยังติดอยู่ในการพิจาณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งใช้เวลามาร่วม 2 ปีแล้ว หากรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมผ่านก็จะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 9 เดือน หลังจากสร้างท่าเรือแล้วเสร็จก็จะบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นได้ แต่ในระยะนี้ก็คงยึดถือปฏิบัติเช่นเดิม

อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลจากทุกฝ่าย ทั้งตัวแทนจากท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต ตัวแทนเรือโดยสาร ตัวแทนเรือสินค้า นายสมเกียรติ ได้กล่าวสรุปว่า เนื่องจากทางผู้บริหารท่าเรือน้ำลึกยังคงยืนยันหลักการปฏิบัติเดิมก็ต้องว่ากันไปตามนั้นก่อน ขณะเดียวกัน ก็ขอให้ทางตัวแทนเรือท่องเที่ยว ได้ชี้แจงเหตุผลรายละเอียดที่ทางผู้บริหารท่าเรือจำเป็นต้องให้เรือโดยสารเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้ายเรือสินค้าให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ ส่วนของจังหวัดก็จะได้นำเรียนให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบ และอาจจะมีการเสนอเป็นยุทธศาสตร์ในเรื่องของท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยวของภูเก็ตด้วย เพื่อรองรับการท่องเที่ยวทางเรือ และอาจจะมีการนำเสนอปัญหาดังกล่าวในการประชุม ครม.สัญจรที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ในเร็วๆ นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น