xs
xsm
sm
md
lg

ภูเก็ตเร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การผลิต และการตลาดสับปะรดภูเก็ต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - จังหวัดภูเก็ต กำหนดยุทธศาสตร์การผลิต และการตลาดสับปะรดภูเก็ต ในการส่งเสริมการผลิตให้เหมาะสมกับความต้องการ และให้สับปะรดภูเก็ตเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น

นายชาลี สิตบุศย์ หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงานกเกษตรจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า สับปะรดภูเก็ต เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดภูเก็ต และเป็นพืชเอกลักษณ์ของจังหวัดภูเก็ต มีคุณสมบัติที่มีเอกลักษณ์ต่างจากสับปะรดที่ปลูกในแหล่งอื่นๆ คือ มีรสหวาน กลิ่นหอม เนื้อมีสีเหลืองสม่ำเสมอตลอดทั้งผล มีความกรอบมาก เยื่อใยน้อย แกนผลมีความกรอบสามารถรับประทานได้ ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวเกิดจากความพิเศษของพื้นที่ปลูก ลักษณะสภาพภูมิศาสตร์ และภูมิปัญญาของเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดจังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีความชำนาญ และมีประสบการณ์การปลูกที่ยาวนาน สับปะรดจึงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ทำให้สับปะรดภูเก็ตได้รับการคุ้มครอง จึงเป็นข้อดีในการแข่งขันการตลาด ซึ่งผู้ประกอบการจากแหล่งอื่นไม่สามารถจะใช้คำว่าสับปะรดภูเก็ตได้

ปัจจุบัน จังหวัดภูเก็ตมีพื้นที่ปลูกสับปะรดจำนวน 1,826 ไร่ มีเกษตรกรที่ปลูกสับปะรดอยู่ในขณะนี้ 50 ราย ผลิตอยู่ที่ปีละ 5,464 ตัน ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 95 ขายในจังหวัดภูเก็ต และอีกร้อยละ 5 ส่งขายในต่างจังหวัด

โดยปัญหาสำคัญของการผลิต และการตลาดสับปะรดภูเก็ต คือ พื้นที่ปลูกค่อนข้างจำกัด ไม่สามารถขยายพื้นที่ปลูกได้มากนัก ไม่มีแหล่งจำหน่ายเฉพาะ ทำให้ผลผลิตสับปะรดภูเก็ตปะปนกับสับปะรดที่ผลิตจากแหล่งอื่น เกษตรกรขาดการรวมกลุ่มในการผลิต และการตลาด รวมทั้งขาดการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการบริโภคสับปะรดภูเก็ต ทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดไม่ทันกับความต้องการ

นายชาลี กล่าวต่อว่า ในปีงบประมาณ 2555 นี้ ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดภูเก็ตได้ดำเนินโครงการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพพืชเศรษฐกิจสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สับปะรดภูเก็ต เพื่อจะพัฒนาสับปะรดภูเก็ตอย่างครบวงจรให้เป็นรูปธรรม ตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงผู้บริโภค จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์การส่งเสริม และการตลาดสับปะรดภูเก็ตไว้ดังนี้ คือ

1.ส่งเสริมและพัฒนากระบวนการผลิตให้มีคุณภาพ และได้มาตรฐาน ปลอดภัยสู่ผู้บริโภค โดยผลผลิตของเกษตรกรทุกรายต้องผ่านการรับรองคุณภาพและมาตรฐาน GAP พืชส่งเสริมการผลิตสับปะรดภูเก็ตอินทรีย์ ส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่ปลูกสับปะรด ที่ขณะนี้ส่วนใหญ่จะปลูกแซมตามสวนยางพาราที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี

2.พัฒนากลุ่มเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนสับปะรดภูเก็ต มีการวางแผนการผลิต และการตลาดร่วมกัน ทำให้ปริมาณการผลิตออกสู่ตลาดในปริมาณที่เหมาะสม ลดปัญหาด้านราคาตกต่ำ 3.ส่งเสริมการตลาดสับปะรดภูเก็ต โดยจัดหาแหล่งจำหน่ายในพื้นที่ภูเก็ต ต่างจังหวัด และส่งออกต่างประเทศ จัดหาแหล่งจำหน่ายสับปะรดภูเก็ต ซึ่งขณะนี้ได้เปิดศูนย์จำหน่ายสับปะรดภูเก็ตไปแล้ว 1 แห่ง ณ ร้านคุณแม่จู้ ต.เทพกระษัตรี อ.ถลาง จ.ภูเก็ต รวมทั้งส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิต และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และตราสัญลักษณ์ GI

4.ประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมการบริโภคสับปะรดภูเก็ต โดยมุ่งเน้นสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของสับปะรดภูเก็ต และขอความร่วมมือส่งเสริมการบริโภคสับปะรดภูเก็ตให้ร้านอาหาร และโรงแรมต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ต พร้อมทั้งนำเสนอสับปะรดภูเก็ตในโอกาสที่จังหวัดภูเก็ตจัดกิจกรรมในระดับประเทศ และนานาชาติด้วย และ 5.ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต เพื่อเพิ่มผลผลิตสับปะรดภูเก็ต และลดต้นทุนการผลิต พัฒนากระบวนการแปรรูป และบรรจุภัณฑ์

กำลังโหลดความคิดเห็น