xs
xsm
sm
md
lg

เดินหน้าพัฒนา “สับปะรดภูเก็ต” เปิดศูนย์จำหน่ายแห่งแรกแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - สำนักงานเกษตรจังหวัดภูเก็ต เดินหน้าพัฒนาศักยภาพพืชเศรษฐกิจสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “สับปะรดภูเก็ต” เปิดศูนย์จำหน่ายแห่งแรกในจังหวัด หวังประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนนักท่องเที่ยวรู้จักมากขึ้น หลังขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เผยสับปะรดภูเก็ตมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ในแต่ละปีมียอดจำหน่ายกว่า 80 ล้านบาท
นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดศูนย์จำหน่ายสับปะรดแห่งแรกของจังหวัดภูเก็ต
วันนี้ (21 ส.ค.) ที่บริเวณร้านคุณแม่จู้ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดศูนย์จำหน่ายสับปะรดแห่งแรกของจังหวัดภูเก็ต พร้อมเยี่ยมชมสวนสับปะรดในพื้นที่อำเภอถลาง โดยมีนายเรวัต อารีรอบ ส.ส.จังหวัดภูเก็ต นายวินัย ขวัญแก้ว เกษตรจังหวัดภูเก็ต หัวหน้าส่วนราชการ เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดในจังหวัดภูเก็ต องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคกิจกรรมท่องเที่ยวเข้าร่วม โดยที่ศูนย์จำหน่ายสับปะรดภูเก็ตเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดมาวางจำหน่ายให้แก่ประชาชน และนักท่องเที่ยวได้ซื้อหารับประทาน หรือซื้อเป็นของฝาก ทำให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงสับปะรดภูเก็ตได้ง่ายขึ้น

นายวินัย ขวัญแก้ว เกษตรจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า สับปะรดภูเก็ตเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดภูเก็ต มีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างจากสับปะรดในแหล่งอื่น คือ รสหวาน กรอบ กลิ่นหอม เนื้อมีสีเหลือตลอดทั้งผล เยื่อใยน้อย แกนผลกรอบรับประทานได้ จากคุณลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวซึ่งเป็นผลผลิตที่เกิดขึ้นเฉพาะในพื้นที่ จึงได้ขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2552 ซึ่งหลังจากขึ้นทะเบียนแล้ว จะทำให้สับปะรดภูเก็ตได้รับการคุ้มครอง และเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกร และผู้ประกอบการสับปะรดภูเก็ต แต่จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข และข้อกำหนดของสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

สำหรับเกษตรกรที่ปลูกสับปะรดในจังหวัดภูเก็ต ระหว่าง ปี 2554-2555 มีพื้นที่ปลูกสับปะรดภูเก็ต 1,800 ไร่ เกษตรกร 40 ราย พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ในเขตอำเภอถลาง และมีบางส่วนที่อยู่ในเขต อ.กะทู้ ผลผลิตเฉลี่ย 3,500-4,000 ผลต่อไร่ หรือ 4.5-5 ตันต่อไร่ ปริมาณผลผลิตรวม 8,100-9,000 ตัน มีการคัดขนาดผลผลิตสับปะรดโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น แบ่งเป็น 5 ขนาด ได้แก่ ขนาดจัมโบ้ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ขนาดโหม่ง และขนาดจิ๋ว ราคาเฉลี่ย 12 บาทต่อผล คิดเป็นมูลค่าประมาณ 80 ล้านบาทต่อปี

นายวินัย กล่าวต่อไปว่า ในปีงบประมาณ 2555 จังหวัดภูเก็ตได้สนับสนุนงบประมาณตามแผนพัฒนาจังหวัดให้สำนักงานเกษตรจังหวัด ดำเนินโครงการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพพืชเศรษฐกิจสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สับปะรดภูเก็ต เพื่อพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตสับปะรดภูเก็ต พัฒนาศักยภาพการผลิตและการตลาดสับปะรดภูเก็ต ให้เป็นไปตามเงื่อนไขและข้อกำหนดในระบบการควบคุมคุณภาพความปลอดภัยพืชอาหาร และสอดคล้องกับ พ.ร.บ.คุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ.2546 และเพื่อประชาสัมพันธ์พืชเศรษฐกิจประจำถิ่น ให้มีศักยภาพในการแข่งขัน รวมทั้งเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนากลุ่มเกษตรกรผู้ผลิต การประชาสัมพันธ์ และการพัฒนาตลาดสับปะรดภูเก็ต

ขณะที่ นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า สับปะรดภูเก็ตเป็นพืชของดีเมืองภูเก็ตที่ควบคู่กับการท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ถือได้ว่าเป็นมรดกทางธรรมชาติ และผสมผสานภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมา และเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่สับปะรดภูเก็ตได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ทำให้ได้รับการคุ้มครองทางทรัพย์สิน และภูมิปัญญาของเกษตรกรในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขันทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2558 จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มตัว การสร้างศูนย์จำหน่ายสับปะรดภูเก็ตทำให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดภูเก็ต ผู้บริโภค นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและบริการเป็นอย่างมาก

นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า การพัฒนาสับปะรดภูเก็ต จะต้องมียุทธศาสตร์ในหลายๆ ด้าน โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นด้านกระบวนการผลิต ความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกรก็เป็นสิ่งสำคัญ ขณะที่ในเรื่องของตลาดต้องมองถึงการประชาสัมพันธ์ การสร้างเครือข่าย ช่องทางการจำหน่าย การสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งการส่งออกต่างประเทศด้วย ปัจจุบัน ยังไม่มีแหล่ง หรือจุดจำหน่ายสับปะรด โดยเฉพาะของกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดภูเก็ต เลยแยกแยะไม่ได้ว่าผลผลิตใดเป็นสับปะรดที่ปลูกในภูเก็ต ผลผลิตใดเป็นสับปะรดจากแหล่งอื่น ดังนั้น ควรจัดตั้งจุดจำหน่ายสับปะรดภูเก็ตเฉพาะ และประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภค และทุกภาคส่วนทราบ และสนับสนุนสับปะรดภูเก็ตเป็นผลไม้ประจำจังหวัด
กำลังโหลดความคิดเห็น